“น้ำตาของลุงพนม” ข้ารับใช้แผ่นดินและในหลวง มีพระองค์ในหัวใจกระทั่งตราบสิ้นลมหายใจ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก 16 ตุลาคม พ.ศ.2559 08:40 นาฬิกา ผู้ชายในชุดลายพรางป่าไม้สีซีดๆ เป้สีเขียวสะพายบนหลังอัดแน่นด้วยสัมภาระ ทุกคนโพกหัวด้วยผ้าสีดำ ทุกคนเดินออกจากหน่วยพิทักษ์ป่าไปตามด่านเล็กๆ เลาะเลียบลำห้วยน้ำไหลแรง ด่านทอดตัวยาวไปทางทิศตะวันตกซึ่งมีแนวเขาทะมึนขวางกั้น

“ไปกี่วันครับลาดตระเวนรอบนี้” ผมถามสมพงษ์ผู้ชายชาวกะเหรี่ยงจากบ้านจะแก พนักงานราชการตำแหน่งพิทักษ์ป่าหัวหน้าชุด

“สัก 7 วันครับ แต่ไม่แน่ถ้าพบร่องรอยปัจจัยคุกคามอาจตามไปได้หลายวัน เตรียมเสบียงไปเผื่อแล้ว” เขาตอบด้วยน้ำเสียงจริงจัง แววตามุ่งมั่น ลูกชุดของเขาอีก 4 คนมาจากหลายหมู่บ้านที่อยู่รอบป่าทุ่งใหญ่

สายฝนปรอยๆ เมฆดำทะมึน “เจอฝนตลอดแน่ๆ” ผมพูด สมพงษ์ยิ้มรับ

เดือนตุลาคมคือช่วงเวลาแห่งฝนในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ท้องฟ้าเปล่งเสียงคำราม ฟ้าแลบแปลบๆ สายลมหนาวมาถึงพร้อมๆ กับเหล่านกนักเดินทางหลายชนิด

ลมหนาวเดินทางมาถึง สายฝนดูคล้ายจะยังไม่จากไป ท้องฟ้ามีเมฆและแสงสวยงามในบางวัน มวลหมู่เมฆปรากฏเป็นรูปทรงต่างๆ ตามแต่จินตนาการของคน

“โชคดีครับ” ผมพูดกับชุดลาดตระเวน พวกเขายิ้มรับ

ผมมองตามทั้ง 5 คนไปจนกระทั่งทั้งหมดเลี้ยวลับหายเข้าไปในความรกทึบ เมื่อเช้าก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติสายฝนโปรยหนักสลับเบา

“วันนี้ออกไหมครับ หรือจะรอฝนหยุดก่อน” ผมชวนสมพงษ์คุย

“ออกครับ” สมพงษ์ตอบหนักแน่น

เบื้องหน้าแถวที่เรายืนอยู่ เสาธงสูงราว 12 เมตร ธงชาติอยู่ในตำแหน่งครึ่งเสา

“สิ่งที่จะทำได้ให้สมกับที่เกิดมาอยู่ใต้ร่มพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คือทำตามที่พระองค์สอนและทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดครับ” สมพงษ์ตอบฉะฉาน เขาเรียนจบชั้น ม.6 และเคยเป็นทหารเกณฑ์อยู่ 2 ปี

สิ่งหนึ่งที่ “คนไทย” มีเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นคนในเมือง ในป่า บนดอย หรือ “หลังเขา” นั่นคือมี “ในหลวง” อยู่ในหัวใจ

 

ขณะเดียวกัน ผู้ชายวัย 54 ปี รูปร่างสันทัด สวมเสื้อลายพรางป่าไม้ กางเกงบอลขาสั้น รองเท้าบู๊ตยางสีน้ำตาลสูงครึ่งแข้ง สะพายเป้สีเขียวเก่าๆ เดินออกจากหน่วยมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ ตามเส้นทางรถยนต์ที่มีสภาพเป็นโคลนและร่องลึกๆ เหลือระยะทางอีก 18 กิโลเมตร จะถึงหน่วยพิทักษ์ป่าที่เขาทำงานอยู่

“กางเกงขาสั้น รองเท้าบู๊ตยางแบบนี้แหละเหมาะสมที่สุดกับทางนี้” พนม หรือลุงนมของเพื่อนๆ บอกยิ้มๆ เมื่อผมทักเรื่องเครื่องแต่งกาย

เมื่อคืนเราคุยกันจนดึกข้างกองไฟใกล้ครัวห้องพักศุภกิจ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่า อุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส

“ไปพักมากี่วันครับเที่ยวนี้” ลุงนมได้ชื่อว่าเป็นบุรุษเจ้าสำราญ

“นับเลขเจ็ดไม่ถูกอีกตามเคยละสิ” ผมถามต่อ อย่างที่หัวหน้าเขตเขาว่าบ่อยๆ

ลุงนมหัวเราะแห้งๆ พร้อมตอบคำถาม “12 วันพอดี” ในหนึ่งเดือนพวกเขาลาพักได้ 7 วัน

“โธ่ เดินจากหน่วยออกไปก็ 2 วันแล้ว กลับอีก 2 วัน มีเวลาอยู่บ้านแค่วันสองวัน” หลายๆ คนถือเป็นข้ออ้าง

อยู่ในป่า การได้คุยกับลุงนม ผู้มีประวัติและผ่านงานต่างๆ มาอย่างโชกโชนคือความรื่นรมย์อย่างหนึ่ง การเล่าเรื่องอย่างมีทักษะและอารมณ์ขันทำให้ใครๆ ชอบ ในวัย 54 ปีลุงนมยังครองความโสด ใจกว้าง คนเดือดร้อนมาขอความช่วยเหลือลุงนมไม่ขัด

“ตอนปีใหม่ใช้งบฯ 2 หมื่นบาททำก๋วยเตี๋ยวเลี้ยงเด็กๆ ในหมู่บ้านหรอครับ” ผมได้ข่าวความใจกว้างของแก

“เด็กๆ ไม่ค่อยจะได้กินก๋วยเตี๋ยว เห็นพวกเขากินเยอะๆ แล้วปลื้มใจ” ลุงนมยิ้ม ฟันหน้าหายไปหลายซี่

เรื่องครองความโสดมาจนกระทั่งบัดนี้นั้นทุกคนรู้ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างออกแนวลึกลับพอสมควร ช่วงที่ผมทำงานอยู่แถวๆ หน่วยพิทักษ์ป่าที่แกอยู่ ลุงนมเคยเล่าให้ฟังแล้วครั้งหนึ่ง ลุงนมเคยมีเมียเป็นนางไม้ รายละเอียดมีว่า สมัยที่เพิ่งสึกจากการบวชเป็นพระ ลุงนมไปปลูกขนำท้ายไร่ข้าวโพดในที่ซึ่งได้รับจากการโยกย้ายมาจากพื้นที่ซึ่งโดนน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนในอำเภอศรีสวัสดิ์

“วันหนึ่งผมลงไปอาบน้ำในลำห้วย เห็นผู้หญิงขาว สวยมาก เลยเข้าไปหา นั่นแหละจุดเริ่มต้น” ลุงนมเล่า

ผู้หญิงคนนั้นมาอยู่กับแกตลอดในฐานะภรรยา ลุงนมไม่ออกไปไหนร่วมเดือนจนกระทั่งพี่ชายสงสัย จึงมาหา สภาพที่พบคือลุงนมผอมโซนอนหายใจรวยรินจึงเอาตัวไปรักษา หมอที่โรงพยาบาลหาโรคไม่พบ ญาติจึงพาไปหาพระที่วัดแห่งหนึ่ง

“มันโดนนางไม้เอาตัวไว้เป็นผัว” พระว่า และทำพิธีจนอาการค่อยๆ ดีขึ้น

“เธอไม่มาหาผมอีกเลย แต่คงหวงผมน่ะ เพราะถ้าผมไปชอบผู้หญิงคนไหน ตกลงปลงใจว่าจะแต่งงานจะมีเหตุเป็นไปทุกครั้ง”

เรื่องบู๊ๆ ของลุงนมก็มี “ตอนนั้นลงไปช่วยหน่วยห้วยคือ” เขาเริ่มเล่า

หน่วยห้วยคือ เป็นคล้ายด่านทางน้ำที่คอยกั้นเรือหาปลา จากอ่างเก็บน้ำจะทวนน้ำขึ้นไปตามลำน้ำแม่กลองหากหลบพ้นด่านไปได้การจับปลาค่อนข้างคุ้ม ปลาชุกชุม

“กลางคืนไม่ได้นอนต้องคอยระวังเรือที่แอบขึ้นไป บางที่ไม่ฟังเราหรอกยิงกันบ่อยๆ ความขัดแย้งมากขึ้น ออกไปข้างนอกแถวๆ แพที่ขายของไม่ได้เลย อยู่ได้ 2 ปี หัวหน้าย้ายกลับมาอยู่ซ่งไท้”

ด้วยบุคลิกสนุกสนานเฮฮา ลุงนมมักถูกหัวหน้าหน่วยคือ จิตติ ส่งไปดูแลงานหนักๆ หรือต้องเร่งให้เสร็จในเร็ววัน

“ให้แกอยู่กับพวกเด็กๆ คอยแหย่ชวนให้ทำงานเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ตลกๆ ให้เด็กๆ ฟังจะได้ไม่เครียด” จิตติให้เหตุผล

ระหว่างทางจากหน่วยถึงสำนักงานเขตมีช่วงลำบากๆ หลายช่วง โดยเฉพาะเนินที่เรียกว่า “เนินเปรี้ยวปาก” รถไม่สามารถผ่านร่องลึกที่มีก้อนหินระเกะระกะดักข้างใต้ได้

“วันนั้นติดอยู่ตั้งแต่เที่ยงยังไงก็เอาไม่ขึ้น จนเย็นชักได้เวลาละสิ ผมเลยเรียกเนินนั้นว่าเนินเปรี้ยวปาก” ลุงนมเล่า

บุรุษเจ้าสำราญอย่างลุงนมผู้หัวเราะสนุกอยู่เสมอๆ วันนี้ไม่มีเสียงหัวเราะ ตั้งแต่ร้องเพลงชาติหน้าเสาธงที่อยู่ในตำแหน่งครึ่งเสา ลุงนมสะอึกสะอื้นน้ำตาไหลซึม

“ไม่นึกว่าจะจริงหรอก แต่ต้องยอมรับ” ลุงนมพูดถึงการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

ผมมองตามร่างของชายวัย 54 ปี ผู้เดินก้มหน้าไปตามเส้นทางของเขาเงียบๆ เมื่อคืนเราร่วมกันน้อมใจรำลึกถึงในหลวง พนมมือฟังเสียงสวดจากพระบรมมหาราชวัง ที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์

“ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ให้สมกับความโชคดีที่ได้เกิดมาในรัชกาลของพระองค์” ลุงนมพูดเหมือนกับคนในป่าทุกๆ คน

ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก มีประโยคหนึ่งซึ่งเขียนไว้บนป้าย ท้ายรถ หรือบนเสื้อว่า “คนทุ่งใหญ่รับใช้แผ่นดิน”

อีกสิ่งที่ทุกคนรู้แต่ไม่ได้เขียนไว้ คือ ข้ารับใช้แผ่นดินและในหลวง และมีพระองค์อยู่ในหัวใจกระทั่งตราบสิ้นลมหายใจ