ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ตอนที่ 10 : “เมื่อขึ้นปีสอง อาจารย์ชัยอนันต์หายไป!”

ผมได้เล่าประสบการณ์ที่ผมได้รู้จักและเป็นลูกศิษย์อาจารย์ชัยอนันต์มาได้เก้าตอนจนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

และเมื่อท่าน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ได้จากไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ผมก็ได้ยุติเรื่องผมกับอาจารย์ชัยอนันต์ไปชั่วคราวเพื่อนำเสนอบทสัมภาษณ์ที่ผมและทีมงานได้มีโอกาสสนทนากับท่านอาจารย์วสิษฐเมื่อปีที่แล้วภายใต้ประเด็น “ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับช่วงเวลามวลชนปฏิวัติและมวลชนประชาธิปไตย” จนจบ

มาบัดนี้ ขอกลับไปที่เรื่องท่านอาจารย์ชัยอนันต์ต่อ

 

หลังจากที่ผมผ่านชั้นปีที่หนึ่งไปแล้ว โดยผ่านการเผชิญกับข้อสอบชวนให้ขบคิดหัวแตกของอาจารย์ชัยอนันต์ไป (ข้อสอบที่ว่านี้คือ “คนสองคนอยู่บนเกาะ มีการเมืองไหม?”)

เมื่อผมขึ้นชั้นปีที่สองก็จะต้องเลือกภาควิชา เพราะสมัยนั้นทางคณะเปิดโอกาสให้นิสิตสามารถเลือกภาควิชาได้โดยเสรี ยกเว้นนิสิตภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่จะต้องเลือกมาตั้งแต่ตอนสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย และนิสิตภาคสังคมฯ ไม่สามารถเปลี่ยนภาควิชาได้จนจบการศึกษาไปเลย ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 30 คน

ส่วนนิสิตรัฐศาสตร์ที่เหลือสามารถเลือกสังกัดภาคใดภาคหนึ่งในสามภาควิชาได้ นั่นคือ ภาควิชาการปกครอง ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ และภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ที่ว่าเลือกได้โดยเสรีหมายความว่า ใครได้เกรดเฉลี่ยเท่าไรตอนจบปีหนึ่งไม่มีผลต่อการเลือกภาค นั่นคือ ไม่ได้มีนัยว่า นิสิตเกรดเฉลี่ยดีจะไปอยู่ภาคใดภาคหนึ่งเป็นพิเศษ

ซึ่งต่างจากปัจจุบันนี้ ที่นักเรียนที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จะต้องเลือกภาควิชาเลยตั้งแต่ตอนสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย

และผลมักจะออกมาว่า นักเรียนเก่งๆ มักจะไปอยู่ที่ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสียส่วนใหญ่!

การให้นิสิตได้เลือกภาควิชาอย่างเสรีตอนขึ้นชั้นปีที่สองนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีคือ นิสิตได้เรียนสาขาที่ตนอยากเรียนจริงๆ และอาจารย์ก็จะได้สอนนิสิตที่มีความสนใจในสาขาวิชานั้นจริง

อีกทั้งในตอนชั้นปีที่หนึ่งที่เป็นการเรียนรวมๆ ทุกสาขา นิสิตจะสามารถรับรู้เข้าใจได้ว่าแต่ละสาขาวิชานั้นเรียนเกี่ยวกับอะไรก่อนที่จะตัดสินใจเลือกเรียนสาขานั้นๆ

ต่างจากที่ให้เลือกเรียนตั้งแต่ตอนสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งนักเรียนอาจจะยังไม่รู้ว่าแต่ละสาขาเรียนเกี่ยวกับอะไร

แต่ข้อเสียก็คือ เรื่องอัตราส่วนนิสิตต่ออาจารย์

หากนิสิตเลือกเรียนสาขาใดสาขาหนึ่งเป็นจำนวนมาก อาจารย์ในสาขานั้นก็จะต้องแบกรับภาระมาก

ในขณะเดียวกันหากบางสาขามีนิสิตเลือกเรียนน้อย อาจารย์ในสาขานั้นก็อาจจะถึงกับว่างได้เลย

และถ้าจำนวนที่เลือกสาขาเป็นแบบเดียวกันไปนานๆ เช่น สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีนิสิตเลือกเรียนมากที่สุด และสาขาการปกครองมีน้อยที่สุด ก็อาจส่งผลให้จำเป็นต้องลดจำนวนอาจารย์ที่มากเกินความจำเป็น หรืออาจถึงกับต้องยุบภาคจนเหลือเป็นติ่งเล็กๆ ไปในที่สุด

แต่ถ้าการลดขนาดหรือยุบมันสะท้อนถึงความเป็นจริงของความต้องการของผู้เรียนแล้ว ก็อาจจำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นหรือไม่?

 

ส่วนผมในชั้นปีที่สอง เมื่อได้ชื่อว่าเป็นนิสิตภาควิชาการปกครอง ก็มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เพราะถือได้ว่าเป็นศิษย์อาจารย์ภาควิชาการปกครองที่มีชื่อเสียงกันทั้งนั้น

และหนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่เป็นศาสตราจารย์ที่อายุน้อยที่สุดในบรรดาศาสตราจารย์ทั้งหมด เพราะท่านได้เป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุเพียงสามสิบต้นๆ เท่านั้น

และในภาคการศึกษาต้นของชั้นปีที่สอง นิสิตภาควิชาการปกครองจะต้องเรียนวิชาบังคับที่เป็นวิชาแกนของภาคปกครอง นั่นคือวิชาที่มีชื่อว่า ทฤษฎีรัฐศาสตร์ ซึ่งวิชานี้มีสองตัว

ตัวแรกคือ ทฤษฎีรัฐศาสตร์ 1 เรียนกันภาคต้น ส่วนทฤษฎีรัฐศาสตร์ 2 เรียนภาคต้นของปีที่สาม

และผมทราบมาว่า วิชาทฤษฎีรัฐศาสตร์ 1 นี้ อาจารย์ชัยอนันต์เป็นผู้รับผิดชอบสอนทั้งวิชา

ผมตื่นเต้นและดีใจมากที่จะได้เรียนกับท่านเต็มวิชา เพราะตอนที่เรียนกับท่านในตอนปีหนึ่งนั้น ท่านสอนส่วนหนึ่งร่วมกับอาจารย์ท่านอื่น

วิชาทฤษฎีรัฐศาสตร์ 1 นี้เรียนเกี่ยวกับทฤษฎีการเมืองของเพลโต อริสโตเติล จากสมัยกรีกโบราณเรื่อยมาจนถึงโรมันและยุคกลางเลย

ตอนปีสอง ผมไม่ได้มีความรู้อะไร ก็ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยกับชื่อวิชานี้

แต่หลังจากเรียนจบมาสอนที่ภาควิชาการปกครอง ก็รู้สึกงงๆ ว่าเนื้อหาของวิชานี้มันคือ ทฤษฎีการเมือง (political theory) หรือใครจะเรียกว่าปรัชญาการเมือง (political philosophy) หรือความคิดทางการเมือง (political thought) ก็แล้วแต่แนวทางการศึกษาของผู้สอน แต่ไม่น่าจะชื่อ “ทฤษฎีรัฐศาสตร์” ที่ใช้ในภาษาอังกฤษว่า political science theory

แต่ก็จำได้ว่ามีมหาวิทยาลัยในต่างประเทศบางแห่งก็ใช้ชื่อนี้เหมือนกัน แต่น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะใช้อย่างที่บอกไปคือ ถ้าไม่ทฤษฎีการเมือง (political theory) หรือใครจะเรียกว่าปรัชญาการเมือง (political philosophy) หรือความคิดทางการเมือง

เสียดายไม่เคยได้มีโอกาสถามบูรพคณาจารย์ว่าทำไมถึงใช้ชื่อ political science theory เชื่อว่าน่าจะต้องมีเหตุมีผลพอสมควร

 

หลังจากผมลงทะเบียนเรียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็หมายมั่นปั้นมือว่าจะได้เรียนวิชาทฤษฎีรัฐศาสตร์กับอาจารย์ชัยอนันต์

เมื่อถึงวันแรกของวิชานี้ ปรากฏว่าอาจารย์ชัยอนันต์ไม่ได้มาสอน แต่มีท่านอื่นมาสอนแทน เป็นอาจารย์พิเศษ

ผมก็งงและเสียดายมากที่ไม่ได้เรียนกับอาจารย์ชัยอนันต์

มีข่าวลือมาว่าท่านลี้ภัยทางการเมือง เพราะในช่วงภาคต้นปีการศึกษา 2521 ก็อยู่ในช่วงราวๆ เดือนมิถุนายน อันเป็นช่วงเวลาที่ผ่านการทำรัฐประหารครั้งล่าสุดไปได้เพียง 8 เดือน (รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520)

และจำได้ว่า ในช่วงปี พ.ศ.2521 มีการจัดประชุมวิชาการเกี่ยวกับทหารกับการเมืองไทยที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มีอาจารย์ภาควิชาการปกครองหลายท่านได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับทหารกับการเมือง และหนึ่งในนั้นก็มีอาจารย์ชัยอนันต์ด้วย

ถ้าใครได้เคยอ่านหนังสืออัตชีวประวัติของอาจารย์ชัยอนันต์ จะพบว่าท่านไม่เห็นด้วยกับการที่ทหารเข้าแทรกแซงการเมืองเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อมีการทำรัฐประหารในเมืองไทยอยู่บ่อยๆ อาจารย์ชัยอนันต์ก็เห็นว่า มันเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อสุขภาพการเมืองของไทย

และเมื่อถึงปี พ.ศ.2527 อาจารย์ชัยอนันต์ก็ได้สรุปรวบยอดการเมืองไทยว่าอยู่ในวังวนของ “วงจรอุบาทว์”

และไปๆ มาๆ จนบัดนี้การเมืองไทยก็ยังตกอยู่ในวังวน “วงจรอุบาทว์” อยู่

ข่าวลือการหายตัวไปของอาจารย์ชัยอนันต์นั้นทำให้ผมและนิสิตจำนวนหนึ่งพากันประหวั่นพรั่นพรึงต่อสวัสดิภาพของอาจารย์ชัยอนันต์

เพราะก่อนหน้านี้ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งก็พากันหนีเข้าป่าด้วยความจำเป็น บ้างก็เข้าป่าด้วยอุดมการณ์ที่มีอยู่จริงๆ

ตอนนั้นทหารดูน่ากลัวกว่าตอนนี้มาก ในเรื่องของการใช้กำลังและความรุนแรง

 

ดังนั้น ผมกับเพื่อนร่วมรุ่นภาควิชาการปกครองจึงไม่ได้เรียนเพลโต อริสโตเติลกับอาจารย์ชัยอนันต์

แต่อาจารย์พิเศษที่มาสอนเพลโตแทนอาจารย์ชัยอนันต์คือท่านอาจารย์ ดร.วิชัย ตันศิริ ท่านจบปริญญาตรีและโทสาขาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ และจบปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา

แม้ว่าจะไม่ได้เรียนเพลโตกับอาจารย์ชัยอนันต์ และมาได้เรียนกับท่านอาจารย์ ดร.วิชัย แต่การเรียนเพลโตกับท่านอาจารย์ ดร.วิชัย ก็ทำให้ผมมีความสนใจในปรัชญาการเมืองของเพลโตเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง “ราชาปราชญ์” หรือ “philosopher-king” ที่ชวนให้สนเท่ห์

ท่านอาจารย์ ดร.วิชัย ท่านสอนปรัชญาการเมืองของนักคิดคนอื่นๆ อีก แต่ก็แปลกที่ผมจะจำได้แต่คำสอนเกี่ยวกับเพลโตของท่าน ที่ยังตราตรึงในความทรงจำผมเป็นอย่างดี ทั้งภาพที่ท่านยืนสอนอยู่หน้าห้อง และเสียงและเรื่องราว

และจากนั้นเองที่ผมคิดอยู่ในใจลึกๆ เสมอว่า ผมจะต้องศึกษาเรื่องของเพลโตต่อไปให้ได้

ซึ่งตอนนั้นก็เป็นเพียงอารมณ์ฝันๆ เพราะไม่เคยคิดจะเรียนต่อปริญญาโท มิพักต้องพูดถึงปริญญาเอก รวมทั้งงานสอนหนังสือ

เพราะตอนนั้นยังมุ่งมั่นที่จะสอบเป็นปลัดอำเภอเหมือนเพื่อนๆ นิสิตภาคปกครองส่วนใหญ่ในรุ่น

 

เมื่อไม่ได้เรียนเพลโตกับอาจารย์ชัยอนันต์ ผมก็ต้องมานั่งดูรายวิชาต่างๆ ว่า ตกลงแล้ว จะมีวิชาไหนอีกที่ผมจะได้เรียนกับอาจารย์ชัยอนันต์!

ปรากฏว่าไม่มีวิชาที่เป็นวิชาบังคับเหมือนกับวิชาทฤษฎีรัฐศาสตร์

พูดง่ายๆ คือ ต่อจากนี้ หากต้องการจะเรียนกับอาจารย์ชัยอนันต์ จะต้องเป็นวิชาเลือกเท่านั้น

และวิชาเลือกที่อาจารย์ชัยอนันต์สอนก็คือวิชา “ความคิดทางการเมืองไทย”

ซึ่งฟังดูแล้วก็ให้สนเท่ห์อีกว่า ตกลงแล้ว ไทยเรามีความคิดทางการเมืองด้วยหรือ?

เรามีนักคิดอย่างเพลโต อริสโตเติล ด้วยหรือ?

จะลงวิชาความคิดทางการเมืองนี้ได้ เขาว่า ต้องอยู่ปีสาม!

หมายความว่า ผมคงต้องรอไปอีกปีกว่าจะได้เรียนกับอาจารย์ชัยอนันต์