มหาวิทยาลัยไทย ไปทางไหนเมื่อโลกซับซ้อนมากขึ้น

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

แรงเหวี่ยง

สถาบันการศึกษาไทยตอบสนองกระแสและอิทธิพลอันซับซ้อน เชี่ยวกราก อย่างโลดโผน เหลือเชื่อ

สถาบันการศึกษาชั้นสูงไทยยังคงมองโลกในแง่ดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย โดยเฉพาะผ่านช่วงเวลาเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 และจากนั้นมา

มีหลายกรณี หลายโมเดลที่น่าสนใจ เชื่อว่าสามารถตีความได้เช่นนั้น และเป็นภาพสะท้อนทั้งระบบ

นั่นคือปรากฏการณ์อันน่าทึ่งในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ว่าด้วยพัฒนาการมหาวิทยาลัยไทย กับการเปิดหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษอย่างมากมาย ทั้งปริญญาตรี-โท-เอก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบันมีมากถึงประมาณ 400 หลักสูตรแล้ว (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ)

เชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่อย่างแท้จริง สำหรับประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักหรือควบคู่

 

วิทยาลัยนานาชาติ

มีสองกรณี บุกเบิกและอ้างอิง โมเดลข้างต้น

กรณีแรก–วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (ก่อตั้งปี 2532) วิทยาลัยนานาชาติของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งแรกในประเทศไทย ถือเป็นกรณีบุกเบิกที่น่าสนใจ เริ่มด้วยหลักสูตรบริหารอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและหลักสูตรสาขาวิชาเคมี ต่อมาปี 2535 เพิ่มขึ้นอีก 2 วิชา เป็นไปตามทิศทางและกระแสหลักในเวลานั้นคือบริหารธุรกิจ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร

ในช่วงปี 2539 ได้ยกระดับขึ้นเป็นวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University International College – MUIC) อย่างเป็นทางการ มีฐานะเทียบเท่ากับคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัย พร้อมๆ กับการสร้างอาคารเรียนขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง สร้างเสร็จในปี 2541 สามารถรองรับนักศึกษาได้มากกว่า 1,000 คน

สามารถเดินหน้าผ่านช่วงเวลาสังคมไทยเผชิญความยุ่งยาก อันเนื่องมาจากผลพวงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ

“26 ปีหลังจากการก่อตั้ง ขณะนี้วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาบัณฑิตใน 19 สาขาวิชาเอก และ 22 วิชาโท ทั้งด้านศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์และการจัดการ รวมทั้งหลักสูตรระดับมหาบัณฑิตอีก 2 สาขา โดยมีนักศึกษาประมาณ 3,200 คน นอกจากนี้ ทางวิทยาลัยคาดหวังว่าจะมีนักศึกษาเข้าเรียนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งมีการอนุมัติการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558 จากการขยายอาคารสถานที่ใหม่นี้ ทางวิทยาลัยจะสามารถรองรับนักศึกษาได้ถึง 4,000 คน”

ดูไปแล้ว เป็นแผนการเดินหน้าเป็นไปด้วยดี จากข้อมูลและความเชื่อมั่นระบบการศึกษาใหม่ยังปรากฏอยู่อย่างเป็นทางการ (http://www.muic.mahidol.ac.th) ทั้งนี้เมื่อเทียบเคียงเหตุการณ์เชื่อว่าเป็นข้อมูลเก่าที่ค้างอยู่ตั้งแต่ปี 2558

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล อ้างอิงความเชื่อ “การศึกษาศิลปศาสตร์ในบริบทของเอเชีย” โดยขยายความอย่างกว้างๆ ไว้ “เน้นด้านการศึกษาในสาขาศิลปศาสตร์ และการสนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่เตรียมความพร้อมให้นักศึกษาก้าวไปพบกับความท้าทายของการใช้ชีวิตและการทำงานในศตวรรษที่ 2”

 

อีกกรณีหนึ่ง-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งโครงการวิศวกรรมศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษ (Engineering English Program – EEP) ในปี 2535 อ้างอิงกับเหตุการณ์ จากความริเริ่ม เกิดขึ้นระหว่างการประชุม ว่าด้วยความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น เมื่อปี 2532 (Japan-Thailand Joint Trade and Economic Committee) ณ Kobe, Japan เชื่อว่าเชื่อมโยงปรากฏการณ์การลงทุนภาคอุตสาหกรรมของธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทยในฐานะผู้ลงทุนอันดับหนึ่ง ในช่วงเวลานั้นขยายตัวและเติบโตขึ้นอย่างมากๆ ดูจะเป็นแผนการเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมอย่างเป็นจริงเป็นจัง

ต่อมาปี 2537 ได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์องค์กรเศรษฐกิจญี่ปุ่น (Keidanren) โดยชื่อว่าสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (International Institute of Technology – IIT) ในช่วงเวลาเดียวกับการเกิดขึ้นวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (ปี 2539) เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (Sirindhorn International Institute of Technology – SIIT)

ช่วงคาบเกี่ยวกับผลพวงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ การพัฒนาการสถาบันการศึกษาแห่งนี้เดินหน้าไปไม่หยุดยั้งเช่นกัน

ในปี 2542 มีแผนการขยายวิทยาเขตไปที่นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี ภายใต้ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ใช้พื้นที่เป็นเวลา 30 ปี (2544-2574)

ในที่สุดสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร วิทยาลัยเขตบางกะดี ได้เปิดขึ้นเป็นทางการในปี 2549

ในปัจจุบันสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรเปิดหลักสูตรด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ทั้งปริญญาตรี-โท-เอก มากกว่า 10 สาขา

จากนั้นมีโมเดลคล้ายๆ กันตามมาเป็นระลอก

 

อย่างกรณีมหาวิทยาลัยศิลปากรก่อตั้ง International College ขึ้นในปี 2546 โดย “มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ตระหนักถึงอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อสังคมในยุคปัจจุบัน” ที่น่าสนใจหลักสูตรใหม่ที่ว่านั้น ดูจะแตกต่างจากบุคลิกและความชำนาญดั้งเดิมของศิลปากร ส่วนใหญ่เป็นด้านการบริหารธุรกิจ รวมทั้ง MBA

อีกแห่งหนึ่ง–สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อตั้ง International College เช่นเดียวกันตามมาในปี 2548 โดยตั้งเป้าหมายไว้อย่างสูงว่า “จะเป็นผู้นำการศึกษาด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ในระดับภูมิภาค”

ช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าสังคมไทยได้ผ่านพ้นผลพวงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจมาระยะหนึ่งแล้ว และกำลังเข้าสู่บริบทใหม่ทางภูมิภาค ว่าด้วยหลอมรวมเศรษฐกิจภูมิภาค–ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) เชื่อว่าจะเกิดขึ้นอย่างจริงจังในปี 2558

ในระดับย่อยๆ ลงมา สถาบันการศึกษาได้เปิดหลักสูตรการเรียนสอนเป็นภาษาอังกฤษกันอย่างไม่ลดละ กรณีสำคัญคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัว INTERNATIONAL SCHOOL OF ENGINEERING ในปี 2548 พร้อมๆ กับการเปิดหลักสูตรใหม่ที่แตกต่างจากหลักสูตรภาคภาษาไทย

ประหนึ่งเชื่อว่าภูมิภาคอาเซียน กับการภาคอุตสาหกรรม กำลังก้าวไปอีกขึ้นเชื่อมโยงกับการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง จำเป็นต้องมีการศึกษาที่จำเป็น ไม่ว่า Aerospace Engineering, Automotive Design and Manufacturing Engineering หรือ Nano-Engineering ทั้งนี้ จุฬาฯ มุ่งหวังว่าจะเป็นผู้นำการศึกษาวิศวกรรมในอาเซียน

ที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจอีกกรณีหนึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดล นอกเหนือจากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University International College – MUIC) แล้ว มีหลักสูตรใช้ภาษาอังกฤษอย่างมากมาย

โดยเฉพาะในหลักสูตรปริญญาโทและเอก ในสาขาทางการแพทย์เฉพาะทางและเกี่ยวเนื่อง ทั้งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ปรากฏการณ์และความเป็นไปข้างต้น เชื่อได้ว่า มีความเชื่อมโยงไม่มากก็น้อยกับความเป็นไปและกระแสว่าด้วยบทบาทโรงพยาบาลเอกชนไทย ในฐานะเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ และกิจการในตลาดหลักทรัพย์ฯ กับความเป็นไปด้วยดี ศูนย์กลางทางการแพทย์ซึ่งได้รับการยอมรับระดับภูมิภาค ในเชิงสังคมธุรกิจมีปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องและไม่เคยเปิดขึ้นมาก่อน ด้วยการลงทุนขนาดใหญ่ ซื้อที่ดินราคาแพงที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

เพื่อสร้างศูนย์สุขภาพและการแพทย์ระดับภูมิภาค

 

ปริญญาควบ

โมเดลดังข่าว-บ้างก็เรียก Dual หรือ Double degree และบางทีก็เรียก Twinning programmes น่าจะถือได้ว่าสำหรับกรณีประเทศไทยบุกเบิกโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2539 เปิดหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรม ลักษณะโปรแกรมร่วม ด้วยความร่วมมือกับ University of Nottingham, England ต่อมาในปี 2549 ขยายความร่วมมือกับ University of New South Wales, Australia ผู้เรียนมีโอกาสเรียนทั้งในมหาวิทยาลัยไทยและต่างประเทศ เมื่อจบการศึกษาได้ปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง

เท่าที่ทราบโมเดลดังกล่าวเกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่ง โดยเฉพาะในประเทศอินเดียและมาเลเซีย ในฐานะประเทศมีระบบการศึกษาใช้ภาษาอังกฤษ และมีอดีตและความเชื่อมโยงกับโลกตะวันตกมาช้านาน ทั้งผู้คนนิยมไปศึกษาต่อต่างประเทศมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นกรณีที่แตกต่าง เท่าที่สำรวจเชื่อว่าโมเดลดังกล่าวมีมากกว่า 10 หลักสูตรแล้ว แทบจะทุกสถาบันการศึกษาไทยที่อ้างถึงเป็นกระแสทั่วไป เป็นโมเดลที่มีจุดเด่นและน่าสนใจมากขึ้นๆ ว่าไปแล้วเป็นโมเดลที่ยืดหยุ่น เปิดกว้างสำหรับผู้เรียน

ขณะเดียวกันเป็นโมเดล เป็นส่วนหนึ่งแห่งกระแสอิทธิพลสถาบันการศึกษาระดับโลก อาจจะถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นพายุโหมกระหน่ำกำลังจะมาถึง