เทศมองไทย : ความเป็นไปได้ วิกฤตตุรกี-อาร์เจนตินา ลุกลามสู่เอเชีย?

ตลาดหุ้นไทยเมื่อ 12 กันยายน ยังคงอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบปีเศษอยู่ต่อไป

เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นขาลงในเอเชีย ที่โดยรวมแล้วปิดตลาดลดลงต่อเนื่อง 10 วันทำการ

ซึ่งถือเป็นช่วงการไหลลงที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2002 เลยทีเดียว

หลายคนชี้ว่า นั่นคือสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเวลานี้ทั้งในตุรกีและอาร์เจนตินา กำลัง “ลุกลาม” มาถึงบรรดาประเทศ “เศรษฐกิจใหม่” ในเอเชียแปซิฟิกแล้ว

แต่นักวิเคราะห์อีกบางคนเชื่อว่า นั่นเป็นเพียงแค่การสะท้อนสภาวะทางลบปกติที่ตลาดเงินตลาดทุนเป็นอยู่ในเวลานี้

คำถามก็คือ วิกฤตในอาร์เจนตินาและตุรกีมีโอกาสที่จะลามมาถึงไทยและหลายประเทศในภูมิภาคนี้หรือไม่และอย่างไร? มีอะไรที่พอให้สังเกตและเฝ้าระวังได้บ้างหรือไม่?

 

แอนนา นิโคลาชี ดา คอสตา เขียนถึงเรื่องนี้ไว้เมื่อ 7 กันยายนที่ผ่านมา ผมหยิบมานำเสนอไว้ให้นำไปคิดพิจารณากัน

คำว่า “ลุกลาม” หรือ “คอนทาเจียน” นั้น แอนนาบอกว่าเป็น “เซลฟ์-ฟุลฟิลลิ่ง โปรเซส” คือเกิดจากการคาดการณ์ที่ก่อให้เกิดการกระทำจนกลายเป็นจริงขึ้นมา

อธิบายกันง่ายๆ ก็คือว่า เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในประเทศหนึ่ง บรรดานักลงทุนพากันคาดการณ์ว่าจะเกิดแบบเดียวกันในประเทศที่มีคุณลักษณะหรือสภาวะทางเศรษฐกิจคล้ายคลึงกัน ส่งผลให้มีการเร่งดึงเงินลงทุนออกมาจากประเทศเหล่านั้นซึ่งเชื่อว่ามี “ความเสี่ยง” ที่จะเกิดสถานการณ์คล้ายคลึงกันขึ้นตามมา

ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่เงินทุนมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สามารถเคลื่อนย้ายได้ภายในไม่กี่วินาที วิกฤตลามได้เร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่ผูกพันทางการค้าหรือทางการเงินกับประเทศที่เกิดวิกฤต

การค้าทำให้ภาวะวิกฤตหรือความเสี่ยงลุกลามออกไปได้ เนื่องจากเมื่อประเทศหนึ่งๆ เกิดปัญหา สิ่งที่บรรดาบริษัทธุรกิจต่างๆ ทำเป็นอย่างแรกคือลดการผลิตลง ต่อด้วยการลดจำนวนคนทำงาน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือคนในประเทศนั้นๆ จะมีเงินในกระเป๋าที่สามารถซื้อหาสินค้าได้ลดลง การบริโภคลดลง ซึ่งรวมถึงการจับจ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศอื่นๆ ด้วย

หากวิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลให้ค่าเงินของประเทศที่เกิดวิกฤตอ่อนค่าลงไปมาก ยิ่งทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น ยิ่งทำให้ไม่มีใครสามารถซื้อหามากยิ่งขึ้นไปอีก

 

ถามว่า เอเชียค้าขายกับอาร์เจนตินาและตุรกีมากจนทำให้เศรษฐกิจของเอเชียมีปัญหาตามไปด้วยหรือไม่ โจเซฟ แกนญอน แห่งสถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศปีเตอร์สันในวอชิงตัน ดี.ซี. ตอบว่า ทั้งสองประเทศค้าขายกับเอเชีย “น้อยมาก” และ “ดังนั้น จึงไม่น่าที่จะต้องกังวลมากนัก”

ราชีฟ พิศวาส หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียของไอเอชเอส มาร์คิต ให้ทัศนะในทำนองเดียวกัน โดยย้ำว่า ประเทศในย่านนี้มีจีน, ยุโรป และสหรัฐเป็นตลาดส่งออกหลักมากกว่า

“สิ่งที่น่าวิตกกว่าสำหรับชาติในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก็คือการลุกลามของวิกฤตหนนี้ผ่านทางตลาดแลกเปลี่ยนเงินและตลาดหุ้นของบรรดาประเทศเศรษฐกิจใหม่มากกว่า” เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการถอนการลงทุนออกไปในระดับที่ “มีนัยสำคัญ” ออกจากตลาดเหล่านี้

เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น บรรดานักลงทุนมีแนวโน้มที่จะถอนการลงทุนออกจากประเทศเศรษฐกิจใหม่ทั้งหลาย ซึ่งถือกันว่าเป็น “ทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงกว่า” ทรัพย์สินแบบเดียวกันในประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าก็ตาม

ทรัพย์สินที่ว่านี้อาจอยู่ในรูปของการถือครองเงินตราหรือหลักทรัพย์ของประเทศในเศรษฐกิจใหม่ ที่เสี่ยงสูงกว่า ทรัพย์สินอย่างเช่นพันธบัตรรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว หรือถือเงินสกุลดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา

 

จูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสผู้เชี่ยวชาญจีนของแคปปิตอล อีโคโนมิกส์ บอกว่า ประเทศไหนพึ่งเงินจากต่างประเทศสูง และมีระดับเงินสดไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรสูง จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อวิกฤตมากเป็นพิเศษ

เพราะในทันทีที่ “ความรู้สึก” ของนักลงทุน “เป็นลบ” การถอนเงินทุนกลับออกไปจะเกิดขึ้น และกระทบต่อค่าเงินของประเทศนั้นๆ ทันที

ยิ่งหากประเทศนั้นมีหนี้ต่างประเทศอยู่สูง ปัญหายุ่งยากในการชำระหนี้จะเกิดขึ้นตามมา

นั่นคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่กับตลาดหุ้นและค่าเงินรูปีของอินเดีย กับรูเปียห์ของอินโดนีเซียในเวลานี้

และเคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งครับ