คลังเร่งดันกฎหมายค้างท่อ 80 ฉบับก่อนเลือกตั้ง

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังพยายามเร่งผลักดันกฎหมายของกระทรวงค้างท่อกว่า 80 ฉบับ หวังว่าจะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 เพราะหากไม่ผ่านกฎหมายดังกล่าวถูกตีกลับมายังกระทรวงการคลัง และต้องเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณา โดยมีกฎหมายสำคัญอยู่ระหว่างการพิจารณา เช่น อีเพย์เมนต์ อีบิสซิเนส และกฎหมายภาษีที่ดิน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันกฎหมายของกระทรวงเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ภายในปีนี้ เพื่อผ่าน สนช.ให้ทันก่อนเลือกตั้งปี 2562 มีร่างกฎหมายสำคัญ เช่น ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. … เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (ภาษีอีเพย์เมนต์) ซึ่งผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกาไปแล้ว โดยกฎหมายกำหนดธนาคารต้องรายงานข้อมูลการฝาก-รับโอนของลูกค้าที่ทำธุรกิจ 3,000 ครั้งต่อปี หรือฝาก-รับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน 200 ครั้งแต่มียอดรวม 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี เพื่อให้สรรพากรตรวจสอบภาษีกับธุรกรรมดังกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า นอกจากนี้เร่งรัดร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิสซิเนส) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) อยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกา ซึ่งกฎหมายแก้ปัญหาการค้าขายในโลกออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเสียแวต โดยเฉพาะผู้ประกอบการต่างชาติ

“ภาษีอีเพย์เมนต์และอีบิสซิเนสช่วยทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับการจัดทำงบสมดุลที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ 11-12 ปีข้างหน้า ดังนั้นกระทรวงการคลังพยายามผลักดันให้ผ่าน สนช.ก่อนการเลือกตั้งในปี 2562” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ สนช.กว่า 1 ปีนั้น คงต้องติดตามว่าจะผ่าน สนช.ก่อนปี 2562 ได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถผ่าน สนช.ภายในรัฐบาลชุดนี้ การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคงไม่สามารถทำได้อีกแล้ว เพราะที่ผ่านมากระทรวงการคลังพยายามเสนอกฎหมายนี้มานานหลายสิบปีแต่ถูกคัดค้านมาโดยตลอด แม้แต่รัฐบาลชุดนี้เองยังมีคนไม่เห็นด้วยมาก รวมถึงร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ อยู่ในการพิจารณาของ สนช. มีสาระสำคัญในการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือโฮลดิ้งคัมปะนี ด้วยการดึง 12 รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ อาทิ ปตท. ทอท.มาอยู่ในบรรษัทดังกล่าว พบว่ามีเสียงคัดค้านมาก กระทรวงการคลังผลักดันกฎหมายมาตั้งแต่รัฐประหาร หากไม่ผ่านการพิจารณาในรัฐบาลยุคนี้คงต้องพับกฎหมายใส่ลิ้นชักไว้อีกนาน

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สำหรับกฎหมายอื่นๆ ที่กระทรวงการคลังผลักดัน อาทิ การแก้ไขกฎหมายสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อเปิดทางให้ทำสลากรูปแบบใหม่, กฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ์, กฎหมายการบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน, กฎหมายภาษีลาภลอย