ธุรกิจพอดีคำ : เคยเป็นไหม ? เวลาทำงานดันคิดงานไม่ได้ แต่พออกไปทำอย่างอื่นกลับไอเดียบรรเจิด!

“ยูเรก้า”

“วันนี้ทุกคนเชิญประชุมระดมสมองกันตอนบ่ายนะ พี่ล็อกห้องประชุมไว้ละ คุยกันได้เลยยาวๆ สามชั่วโมง”

พี่สุวรรณ หัวหน้าทีม เชิญน้องๆ เข้ามาระดมสมองหลังกินข้าวเที่ยง

ทีมงานหันหน้ามองกัน แล้วจึงเรียงแถวเดินเข้าห้องประชุม

พี่สุวรรณกล่าวเปิดประชุม

“อย่างที่น้องๆ ทราบ ปีนี้เราต้องส่งผลงานเข้าประกวดงานนวัตกรรมของบริษัท เป็น KPI ที่สำคัญนะ อยากให้ช่วยกันคิด ว่าทำอะไรดี”

เงียบสนิท ไม่มีเสียงตอบรับให้กับพี่สุวรรณได้ชื่นใจ

“เต็มที่เลยนะทุกคน เปิดกว้างเลย เต็มที่ ขอไอเดียหน่อย”

พี่สุวรรณกล่าวเสริม ด้วยรอยยิ้มที่ค่อยๆ เลือนหายไปจากใบหน้า

……

น้องๆ สายตาล่อกแล่ก บรรยากาศสุดจะกดดัน

ห้องยังคงเงียบสนิทเช่นเดิม

……

“ไม่มีไอเดียเลยหรอ กรวิชญ์ เธอคิดยังไงบ้าง” พี่สุวรรณถาม

กรวิชญ์สะดุ้งโหยง แล้วตอบแบบเสียมิได้

“คิดไม่ออกครับพี่”

พี่สุวรรณสวนกลับไปทันที

“พวกเธอนี่ใช้ไม่ได้เลย”

กษัตริย์เฮียโรมีรับสั่งให้ช่างฝีมือทำมงกุฎทองคำ โดยมอบทองคำให้ช่างทองจำนวนหนึ่ง

เมื่อช่างทองนำมงกุฎมาถวาย ทรงเกิดความระแวงในท่าทางของช่างทำทองว่าจะยักยอกทองคำไป ดังนั้น จึงทรงมอบหมายหน้าที่การค้นหาข้อเท็จจริงให้กับ “อาร์คิมิดีส”

ขั้นแรก อาร์คิมิดีสได้นำมงกุฎทองไปชั่งน้ำหนัก

ปรากฏว่าน้ำหนักของมงกุฎเท่ากับทองที่กษัตริย์เฮียโรได้มอบให้ไป

ซึ่งช่างทองอาจจะนำโลหะชนิดอื่นมาผสมลงไปก็ได้ ทำให้ได้น้ำหนักพอดีเท่าเดิม

อาร์คิมิดีสครุ่นคิดเท่าไรก็คิดไม่ออกสักที

จนวันหนึ่งเขาไปอาบน้ำที่อ่างอาบน้ำสาธารณะแห่งหนึ่ง

ขณะที่น้ำในอ่างเต็ม อาร์คิมิดีสลงแช่ตัวในอ่างอาบน้ำ น้ำก็ล้นออกมาจากอ่างนั้น

เมื่อเขาเห็นเช่นนั้นทำให้เขารู้วิธีพิสูจน์น้ำหนักของทองได้สำเร็จ

ด้วยความดีใจเขาจึงรีบวิ่งกลับบ้านโดยที่ยังไม่ได้สวมเสื้อผ้า

ปากก็ร้องไปว่า “ยูเรก้า! ยูเรก้า!” จนกระทั่งถึงบ้าน

เขาทำการทดลองวัดปริมาตรของมงกุฎด้วยการแทนที่น้ำ

แล้วจึงนำเงินและทองคำปริมาตรเท่าๆ กันไปชั่งน้ำหนัก

หาความแตกต่างของความถ่วงจำเพาะ

สุดท้ายก็นำมงกุฎมาชั่งน้ำหนัก เทียบกับเงินและทองคำ

ปรากฏว่ามงกฎนั้นมีส่วนผสมของเงินอยู่ด้วย

เป็นการจับผิดนายช่างทอง

และเป็นการถือกำเนิดกฎทางวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนโลก

ชื่อว่ากฎของ “อาร์คิมิดีส”

ต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้นำหลักการเช่นเดียวกันนี้มาหาความถ่วงจำเพาะของวัตถุต่างๆ

มีใครเคยเป็นแบบอาร์คิมิดีสบ้างครับ

อาบน้ำอยู่ วิ่งจ๊อกกิ้งอยู่ เดินเล่นชายหาด

อยู่ดีๆ ก็คิดไอเดียใหม่ๆ ออก

เรามักจะเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า

“ปรากฏการณ์ยูเรก้า (Eureka Moment)”

นั่งคิดกับมันทั้งวันคิดไม่ออก

แต่พอไปทำอะไรที่ไม่เกี่ยวกับงาน กลับคิดออก

ผมเคยได้มีโอกาสทำงานกับ “พี่โจ้ ธนา”

ธนา

ผู้บริหารสูงสุดด้านการตลาดของธนาคารไทยพาณิชย์

ผู้สร้างสรรค์แบรนด์ดีๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น “แฮปปี้ ดีแทค”

หรือโค้ด QR ที่มีชื่อน่ารักๆ ว่า “แม่มณี” ของไทยพาณิชย์ ที่มียอดผู้ใช้มากมายมหาศาล

พี่โจ้เคยบอกให้ฟังว่า

“เมื่อหัวว่าง จึงสร้างสรรค์”

เมื่อสมองไม่มีของเก่าให้กวนใจ

พื้นที่ว่างนั้น จึงเปิดออกให้กับของใหม่ๆ ที่อาจจะผ่านเข้ามา

ในเวลาที่เราไม่คาดคิด

นี่แหละ “ปรากฏการณ์ยูเรก้า” ที่อาร์คิมิดิสแสดงให้เห็น

เมื่อสมัยผมเรียนเรื่อง “ความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)” ที่ประเทศอเมริกา

อาจารย์เคยพูดคำพูดหนึ่งซึ่งผมยังจำได้จนถึงวันนี้

“คุณไม่สามารถร้องขอความคิดใหม่ๆ จากคนอื่นๆ ได้ แต่คุณอนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้”

(You cannot ask for new ideas, you need to allow it)

งงๆ มั้ยครับ อนุญาตยังไง

ผมฟังครั้งแรกก็ไม่ค่อยเข้าใจ

อาจารย์อธิบายว่า หลายครั้ง หัวหน้า ผู้บริหาร ชอบมาถามหาความคิดใหม่ๆ จากลูกน้อง

แต่มาถามใน “บริบท” ที่ไม่เหมาะสม

ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้คิดไม่ออก

ประสบการณ์แย่ๆ ในอดีตที่เคยโดนหัวหน้ายิงไอเดียตกไปต่อหน้าต่อตาหลายครั้ง

จนลูกน้องนั้นรู้สึกว่า ความคิดใหม่ๆ ของตัวเองไม่ได้รับการ “อนุญาต” ให้พูดออกมา

ทั้งๆ ที่หัวหน้าพูดว่า “เต็มที่นะทุกคน เสนอได้เต็มที่”

แต่บรรยากาศมันบอกว่า “เสนอไปก็เท่านั้น เดี๋ยวก็โดนปัดตกไปอยู่ดี อยู่เฉยๆ ดีกว่า”

ความคิดใหม่ๆ นั้นขอกันไม่ได้

ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความสร้างสรรค์

อารมณ์ขัน สถานที่ อุปกรณ์ ที่ไม่ดูอึมครึมจนเกินไป

หรือหลายๆ ครั้งก็ตัวหัวหน้าเองนั่นแหละที่ทำให้ “คนไม่กล้าแสดงความเห็น”

จาก “พฤติกรรม” หลายต่อหลายครั้งในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่ตัวจะจำไม่ได้

กลับเป็นไปโทษลูกน้องว่า ไม่มีความคิดใหม่ๆ

เทคนิคง่ายๆ ของหัวหน้า ที่จะหลุดออกจากวังวนนี้

คือ โยนไอเดียโง่ๆ ไปสักอันเลยครับ

ถ้าลูกน้องหัวเราะเยาะไอเดียหัวหน้าได้

ทีนี้จะเริ่มสนุกแน่นอน ไอเดียจะพรั่งพรูออกมาแน่นอน

แต่หัวหน้าส่วนใหญ่จะไม่ค่อยกล้าครับ

ชอบเป็นคนปาดหน้าเค้กตอนจบ เอาไอเดียคนอื่นๆ ที่นำเสนอมาให้ความเห็นเพิ่มเติม

แล้วก็ภูมิใจ คิดว่า ฉันนี่แหละสำคัญหนักหนา

ผิดครับ ผิด

เพราะถ้าเป็นเรื่องของ “นวัตกรรม” แล้ว

เราต้องการคนที่ “สร้าง” ไอเดียออกมาเยอะๆ ครับ

มิใช่คนที่จะคอยให้ความเห็น พูดจาดูมีหลักการ ต่อยอด ต่อยอด แค่นั้น

เราต้องการคนช่วยปลูกต้นไม้

มิใช่คนที่จะคอยตัดแต่งต้นไม้อย่างเดียว

เราต้องการคนที่ชอบหว่านเมล็ดพันธุ์ของความเป็นไปได้

มิใช่คอยแต่จะถือกรรไกรตัดแต่งต้นกล้า ตอนที่มันยังไม่แข็งแรง

ส่วนใหญ่ต้นกล้าไอเดียใหม่ๆ จะตายไปต่อหน้าต่อตา

ก็ด้วยหัวหน้าที่ชอบถือกรรไกร แต่ไม่เคยจะหว่านเมล็ดนี่แหละครับ

เมื่อขึ้นชื่อว่า “ระดมสมอง” แล้ว

“ปริมาณ” ของความคิดใหม่ๆ

สำคัญกว่า “คุณภาพ” หรือความมีเหตุมีผล

นี่แหละหลักการแรกของการ “ระดมสมอง” ที่ผู้นำทั้งหลายควรทราบ

หลังจากโดนเหน็บแนมว่า พวกเธอนี่แย่จริงๆ ไม่มีไอเดียอะไรใหม่ๆ เลยหรอ

กรวิชญ์เอ่ยปากถามหัวหน้าสุวรรณ

“แล้วพี่พอจะมีสักอันไหมครับ”