วิเคราะห์ : รัฐบาลตุรกีจะฝ่าวิกฤติได้หรือไม่ ?

วิกฤติประชาธิปไตย (20)

รัฐบาลตุรกีจะฝ่าวิกฤติได้หรือไม่

ระบบประธานาธิบดีตุรกีเกิดขึ้นเพื่อสร้างตุรกีใหม่ ให้ก้าวขึ้นมีบทบาทบนเวทีโลก พร้อมกับของแถมที่ไม่ได้คาดหวังไว้ ได้แก่ การรับมือกับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นและวิกฤติทั่วด้านในระบบโลก

รัฐบาลใหม่ของแอร์โดอานและพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (พรรคเอเคพี) จำต้องฝ่าวิกฤติเอาตัวรอดให้ได้ มิฉะนั้นอาจจะต้องถูกเปลี่ยนระบบ อย่างที่เกิดขึ้นในอิรัก หรือถูกล้อมกรอบจนเติบโตได้ยากอย่างเช่นในอิหร่าน

ปัญหาของตุรกีเองไม่ใช่มีเพียงการสมคบคิดระหว่างอำนาจภายในและภายนอกเพื่อโค่นล้มรัฐบาล หากยังเกิดจากผลข้างเคียงของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วภายใต้การปกครองของพรรคเอเคพีเอง

เป็นการเติบโตภายใต้การชี้นำของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ได้แก่ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแก้กฎระเบียบให้สถาบันการเงินและบริษัทเอกชนทำธุรกิจได้สะดวกขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และควบคุมการเคลื่อนไหวของลูกจ้างคนงาน

ผลข้างเคียงนี้เกิดขึ้นคล้ายคลึงกันทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่ คือภาวะหนี้สินสูงมาก สำหรับในตุรกีเป็นหนี้สินของภาคธุรกิจเอกชนซึ่งสูงราวร้อยละ 70 ของจีดีพี ส่วนหนี้ภาครัฐสูงเพียงร้อยละ 28 ของจีดีพี

และหนี้จำนวนมากเป็นหนี้ต่างประเทศ ทำให้รับผลกระทบจากการเงินการลงทุนระหว่างประเทศสูง

ค่าเงินลีราตุรกีไหวตัว ถูกโจมตีทางเศรษฐกิจได้ง่าย

นอกจากนี้ยังพบว่ารัฐบาลมีความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ลดลง ทั้งอัตราการพัฒนาความสามารถทางการผลิตก็ลดลงด้วย

เหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจเติบโตในระดับต่ำหรือเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ เกิดการเก็งกำไร สร้างฟองสบู่เล็กบ้างใหญ่บ้างจำนวนหนึ่ง ขยายช่องว่างทางรายได้ เกิดเป็นวงจรชั่วร้ายที่ทำให้เศรษฐกิจชะงักงันและความปั่นป่วนในสังคมได้ ปัญหาเหล่านี้เป็นที่รู้ดีและกล่าวถึงกันบ่อยๆ แต่ละประเทศก็หาทางแก้ไขของตนไป เช่น สหรัฐเดินนโยบายลัทธิปกป้องทางการค้า ตั้งกำแพงภาษีอย่างรวดเร็ว และใช้การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ เพื่อบรรลุรักษาการครองความ เป็นใหญ่ของตนไว้

สำหรับตุรกีมีการเคลื่อนไหวที่น่าจับตาสามประการ ได้แก่

ก) การรักษาฐานและการผนึกกำลังมวลชน ดูได้จากการประชุมสมัชชาพรรคเอเคพีสมัยสามัญครั้งที่ 6 ในเดือนสิงหาคม 2018

ข) นโยบายและการนำของรัฐบาล ดูได้จากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และการตอบโต้กับเหตุการณ์รุมเร้า

ค) การสร้างพันธมิตรใหม่ ซึ่งอยู่ในกลุ่มนโยบายและการนำ แต่ควรนำมากล่าวถึงไว้ต่างหาก

Turkish president Recep Tayyip Erdogan delivers a speech at the Presidential Complex in Ankara, on January 17, 2017. / AFP PHOTO / ADEM ALTAN

การประชุมใหญ่พรรคเอเคพีครั้งที่ 6

พรรคเอเคพีจัดการประชุมใหญ่สมัยสามัญครั้งที่ 6 ในเดือนสิงหาคม 2018 ในช่วงต้องรับมือกับการเปลี่ยนการปกครองสู่ระบบประธานาธิบดี ได้จัดเป็นงานใหญ่และน่าสนใจเป็นพิเศษ

ความจริงการประชุมใหญ่ของพรรคเอเคพี มีความสำคัญทางการเมืองในตุรกีโดยทั่วไป

เราสามารถเห็นตัวตนของแอร์โดอานและพรรคนี้ได้ชัดเจนจากการประชุมใหญ่ดังกล่าว พรรคเอเคพีจัดประชุมใหญ่สมัยสามัญสามปีครั้งหนึ่ง และอาจจัดประชุมใหญ่วิสามัญตามความจำเป็น

การประชุมใหญ่นี้จัดขึ้นที่ศูนย์กีฬาใหญ่กรุงอังการา มีความจุกว่า 10,000 ที่นั่ง

สำหรับแอร์โดอานแล้ว การสร้างพรรคเอเคพีและการสร้างประเทศตุรกีใหม่นั้นเป็นสิ่งเดียวกัน และไม่เพียงสร้างตุรกีใหม่ เขายังต้องการสร้าง “ตุรกีที่ยิ่งใหญ่” และเรียกร้องให้เยาวชนนึกถึงตุรกีในปี 2071 ซึ่งเป็นเวลาครบรอบ 1,000 ปี ที่ผู้นำชนชาติเติร์กรบชนะกองทัพของจักรวรรดิไบเซนไทม์ที่เป็นชาวคริสต์ ในยุทธการมันซีเคิร์ต สามารถเข้าครอบครองคาบสมุทรอานาโตเลียได้ เปิดยุคความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิออตโตมัน (แอร์โดอานกล่าวถึงภารกิจนี้ตั้งแต่การประชุมใหญ่ของพรรคครั้งที่ 4 ในปี 2012)

แอร์โดอานได้ปราศรัยในการประชุมใหญ่สมัยสามัญครั้งที่ 6 ของพรรคว่า “ชาติของเราเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นเจ้าของพรรคเอเคพีที่แท้จริง”

และยืนยันบทบาทของของพรรคเอเคพีว่าเป็นกองหน้าและผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศและชาวตุรกี และจะไม่ยอมค้อมหัวให้แก่ผู้ข่มขู่คุกคาม

ในการปราศรัยเนื่องในโอกาสครบรอบ 17 ปีการก่อตั้งพรรคเอเคพี แอร์โดอานได้เน้นความสำคัญของพรรคต่อประเทศตุรกีในทุกมิติตั้งแต่การเมืองจนถึงนโยบายต่างประเทศ และจากเศรษฐกิจจนถึงชีวิตทางสังคม พรรคเอเคพีเป็นของประชาชนตุรกี และ “ประวัติศาสตร์พรรคเอเคพีก็เก่าแก่เท่ากับประวัติศาสตร์ของชาติเรา”

(ดูรายงานข่าวชื่อ President Erdogan : AK Party”s history is as old as our nation”s history ใน akparti.org.tr 14.08.2018 ลัทธิเคมาลนั้น ตัดตอนประวัติศาสตร์ไม่พูดถึงตุรกีสมัยจักรวรรดิออตโตมัน)

การประชุมใหญ่สมัยสามัญครั้งที่ 6 ที่มีสมาชิกพรรคร่วมประชุมหลายพัน และมีแขกรับเชิญเข้ามาติดตามการประชุมจากหลายประเทศ ระดับประมุขมีหลายประเทศในแอฟริกา รัสเซียและจีนก็ส่งตัวแทนระดับสูงพอสมควรเข้าร่วม

ผลการประชุมสรุปได้ดังนี้

ก) การฟื้นเยาวภาพของพรรค พรรคเอเคพีถือกำเนิดไม่นาน แต่ฝ่ายนำของพรรคเห็นว่ามีประวัติศาสตร์เก่าแก่เท่ากับประวัติศาสตร์ของชาติ และว่า ในบรรดาสถาบันการเมืองที่ดำรงอยู่ขณะนี้ มีแต่พรรคเอเคพีเท่านั้นที่จะนำพาตุรกีให้กลับมายิ่งใหญ่ได้

การฟื้นเยาวภาพของพรรคก็เพื่อฟื้นการนำการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในท่ามกลางความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับสหรัฐและตะวันตก ความวุ่นวายทางการเมืองจากกลุ่มต่อต้าน และที่สำคัญได้แก่กลุ่มก่อการร้ายสองกลุ่ม

กลุ่มหนึ่งได้แก่ กลุ่มแยกดินแดนชาวเคิร์ด

อีกกลุ่มเป็นขบวนการกูเลน

และท้ายสุด ซึ่งอาจสำคัญที่สุดได้แก่ การชนะการเลือกตั้ง เพราะว่าในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งท้ายสุดเดือนมิถุนายน 2018 พรรคเอเคพีไม่ได้ที่นั่งเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา การฟื้นเยาวภาพของพรรคที่เด่นชัดได้แก่ การนำนักการเมืองดาวรุ่งของพรรคเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการกลางฝ่ายบริหารและการวินิจฉัยของพรรคที่มีอยู่ 50 คน เป็นสัดส่วนเกือบครึ่ง

เป็นการประสมประสานระหว่างนักการเมืองรุ่นเก่าที่มากด้วยประสบการณ์ และนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีฝีมือและเปี่ยมด้วยพลัง การเคลื่อนไหว (ดูบทรายงานชื่อ AK Party rejuvenates executive body, merges dynamism with experience ใน dailysabah.com 19.08.2018)

ข) การไม่ค้อมหัวให้แก่สหรัฐที่เป็น “มือสังหารทางเศรษฐกิจ” แอร์โดอานประกาศว่า “เราจะไม่ยอมศิโรราบต่อผู้ที่ทำตัวเหมือนเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ แต่ถือเราเป็นเป้าโจมตีทางยุทธศาสตร์” เรียกร้องให้ชาวตุรกีต่อสู้กับการโจมตีค่าเงินลีราของตุรกี

ค) การต่อต้านการก่อการร้ายสองกลุ่มจะดำเนินต่อไปอย่างเต็มที่ ไม่ว่าสหรัฐและตะวันตกจะอยู่เบื้องหลังกลุ่มเหล่านี้อย่างไร

ง) การยึดมั่นในระบบตลาดเสรี เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศเต็มที่ แอร์โดอานเคยกล่าวต่อนักธุรกิจว่า “เอาหัวใจของเราใส่ไว้ในธุรกิจของเราจะเป็นการตอบโต้ที่ดีที่สุดต่อมือสังหารทางเศรษฐกิจ เราจะผลิตมากขึ้น ส่งออกมากขึ้น สร้างงานมากขึ้น เราจะทำงานหนักขึ้นและพยายามมากขึ้น”

การนำของรัฐบาลใหม่

แอร์โดอานประกาศคณะรัฐบาลใหม่หลังพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีไม่นาน คณะรัฐบาลใหม่นี้มีจุดเด่นที่ควรกล่าวถึง ได้แก่

ประการแรก เป็นคณะรัฐบาลที่เพรียวลมกว่าสมัยก่อน มีคณะรัฐมนตรีเพียง 16 คน รองประธานาธิบดี 1 คน รวมแอร์โดอานเป็นทั้งหมด 18 คน เพื่อความคล่องตัวในบริหาร โดยรวมงานกระทรวงเข้าด้วยกัน เช่น ด้านต่างประเทศ มีทั้งกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกิจการสหภาพยุโรป ก็รวมกันเข้า

ประการต่อมา ได้แก่ การสร้างทีมทำงานที่รู้ใจรู้ฝีมือกัน เป็นที่สังเกตว่าแอร์โดอานไม่ได้ตั้งคนจากพรรคขบวนการผู้รักชาติที่เป็นพันธมิตร เข้าร่วมรัฐบาล

และ ประการสุดท้าย ที่เด่นมาก ได้แก่ การตั้งนักบริหารมืออาชีพเข้ามา เป็นนักบริหารทั้งภาครัฐกิจ ธุรกิจเอกชน และการเมือง เพื่อรับกับการท้าทายคุกคามเบื้องหน้า

ตัวอย่างบุคคลในรัฐบาลที่กล่าวถึงกันมาก เช่น นายฟูอัต ออกทาย เป็นรองประธานาธิบดี เขาเคยเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รู้เรื่องเกี่ยวกับการบริหารรัฐกิจอย่างดี เข้าใจว่าจะมาทำหน้าที่ในการดูแลและให้คำปรึกษาด้านการปฏิรูประบบรัฐกิจของตุรกี

รัฐมนตรีกลาโหม ได้แก่ นายพลฮูลูซี อาการ์ เป็นผู้บัญชาการกองทัพตุรกี (ประกอบด้วยทัพบก เรือ อากาศ และกองกำลังปฏิบัติการพิเศษ) เขาถูกทหารกบฏจับเป็นตัวประกันในการรัฐประหารที่ล้มเหลวเดือนกรกฎาคม 2016 อย่างมีเงื่อนงำ เพราะนายทหารที่ใกล้ชิดเขาเป็นผู้นำการกบฏ และถูกจับดำเนินคดีเป็นแถว

การมายืนอยู่ฝ่ายรัฐบาลทำให้สามารถปราบการรัฐประหารและลดการนองเลือดไปได้มาก แอร์โดอานตั้งเขาเป็นรัฐมนตรีกลาโหมและยังรักษาตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพให้ด้วย จึงเป็นผู้รู้เรื่องและมีอำนาจในการทำ “ความสะอาด” กองทัพได้อย่างดี มีบางข่าวว่าเมื่อแอร์โดอานไปต่างประเทศ ก็จะพานายพลผู้นี้ไปด้วย

นายสุเลย์มัน โซย์ลู เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยผู้เอางานเอาการในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย พูดจาโผงผาง เคยประกาศว่าพรรคสาธารณรัฐประชาชนซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่เป็นพวกก่อการร้าย

ที่เป็นที่วิจารณ์กันมากได้แก่ การตั้งนายเบรัต อัลบาย์รัก ลูกเขยของแอร์โดอานเองเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการเงินและการคลัง อัลบาย์รักเป็นนักธุรกิจมาก่อนที่จะเข้าสู่วงการเมือง เคยเป็นสมาชิกสภาและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ริเริ่มโครงการกองทุนด้านพลังงานไว้จำนวนหนึ่ง

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ได้แก่ ฟาทิห์ ดอนเมซ เคยเป็นปลัดกระทรวงพลังงานมาก่อน

รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์คนใหม่เป็นสตรี ชื่อ รูห์ซาร์ เปกคัน เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูง เคยอยู่ในคณะบริหารสภาธุรกิจระหว่างประเทศของตุรกีหลายแห่ง

ที่เป็นที่ฮือฮาไม่น้อยได้แก่การตั้ง ศ.ซียา เซลจุก เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ผู้นี้ได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการศึกษาของพรรคเอเคพี และก็ทำงานให้กระทรวงนี้มาด้วย เขาประสบความสำเร็จสูงในการสร้างเครือวิทยาลัยเอกชนในตุรกี

มีรัฐมนตรีหน้าเก่าดำรงตำแหน่งเดิม ได้แก่ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงต่างประเทศ

รวมความก็คือคณะรัฐบาลใหม่เป็นแบบเชิงรุก เพื่อการปฏิรูปการทำงานของทุกกระทรวง (ดูบทความของ Ece Goksedef ชื่อ A closer look at Turkey”s new cabinet ใน middleeasteye.net 15.08.2018 ประกอบ)

ว่าด้วยนโยบายและการปฏิบัติ

ตุรกีมีนโยบายและยุทธศาสตร์ระยะยาวที่รู้จักกันดีได้แก่ “วิสัยทัศน์ 2023” ที่ตุรกีจะมีอิทธิพลบนเวทีโลก มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดหนึ่งในสิบของโลก กระทั่งมีความฝันถึงตุรกีในปี 2071 ที่ตุรกีจะกลับมายิ่งใหญ่ในโลก แต่การปฏิบัตินั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาก เพราะว่าชาติต่างๆ ก็มีนโยบายและยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ด้วยกัน

ไม่มีชาติใดที่มีนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อความยิ่งใหญ่ของตุรกี

การขัดแย้งหรือการไม่ลงรอยทางนโยบายและยุทธศาสตร์ของนานาชาติดังกล่าวเป็นตัวขับเคลื่อนกิจการระหว่างประเทศไปตามอำนาจแห่งชาติ ซึ่งบ่อยครั้งเกิดเหตุไม่เป็นไปตามคาด และทำให้นโยบายและยุทธศาสตร์เหล่านั้นไม่บังเกิดผลเต็มที่ กระทั่งล้มหลว

นี่เป็นชะตากรรมทั่วไปของนโยบายและยุทธศาสตร์ทั้งหลาย

ตุรกีไม่ได้มีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่จะตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับสหรัฐแม้แต่น้อย ถึงขั้นเอาใจยิงเครื่องบินรบของรัสเซียตก เพียงแต่ต้องการพื้นที่ยืนและฐานะที่เป็นพันธมิตรมากขึ้น ส่วนสหรัฐเห็นตุรกีเป็นบริวาร ไม่ใช่พันธมิตรที่จะมาตีเสมอ จากความไม่ลงรอยนี้ความสัมพันธ์ที่ร้อนระอุ ด่าทอกันก็เข้ามาแทนที่ความชื่นมื่น และกำลังกลายเป็นการเผชิญหน้ากันอย่างน่าตกใจ (สำหรับตุรกี)

ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐต้องการสร้างศตวรรษแห่งอเมริกา สร้าง “สันติภาพอเมริกัน” โดยสหรัฐเป็นใหญ่ในโลกเพียงผู้เดียวในการก่อสงครามและสร้างสันติภาพ แต่ไม่ใช่ว่าชาติต่างๆ จะเห็นด้วย ในที่สุดสหรัฐก็ได้เริ่มรู้สึกว่า ตนเองไม่มีความสามารถจะสร้างสันติภาพได้อย่างคาด สงครามที่ตนก่อไว้ในมหาตะวันออกกลางล้วนจบไม่ลง

ในปัจจุบันสหรัฐเหลือแต่อำนาจในการก่อสงครามทั้งสงครามใช้กำลังและสงครามเศรษฐกิจ และก็ใช้อำนาจนั้นตวาด ขู่ทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือคู่แข่ง ให้ยอมรับอำนาจความเป็นใหญ่ของสหรัฐต่อไป ทำให้ทั้งโลกเข้าสู่ยุคแห่งความตื่นเต้นหวาดเสียวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการสร้างพันธมิตรใหม่ และแนวโน้มรวบอำนาจมากขึ้นในตุรกี