ศิลปินผู้วาดภาพ ‘ป่าพิสดาร’ จากดินแดนในจินตนาการ ที่เขาไม่เคยเหยียบย่างไปถึง ‘อ็องรี รูสโซ’

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ช่วงที่ผ่านมาเรากล่าวถึงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยกันมาก็หลายตอนแล้ว

เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ

ในตอนนี้เราเลยจะขอพักเบรกมากล่าวถึงศิลปินคนสำคัญอีกคนในประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่กัน

ที่น่าสนใจก็คือ ศิลปินที่เราจะกล่าวถึงผู้นี้ไม่เคยผ่านการร่ำเรียนศิลปะในสถาบันไหนเลย

แถมในยามมีชีวิตเขาก็ถูกเย้ยหยันจากเหล่าบรรดานักวิจารณ์ตลอดอาชีพการทำงาน

แต่ภายหลังเขากลับเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินอัจฉริยะ ผู้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นเยี่ยมที่ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปินหัวก้าวหน้าแห่งยุคโมเดิร์นและศิลปินรุ่นหลังมากมายหลายยุคหลายสมัย

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

อ็องรี รูสโซ (Henri Rousseau)

จิตรกรชาวฝรั่งเศส ผู้เป็นแบบอย่างของศิลปะนาอีฟ (Naive art) หรือศิลปะไร้เดียงสา ที่ศิลปินมักจะฝึกฝนการวาดภาพด้วยตัวเองโดยไม่ผ่านสถาบันศิลปะ

และพัฒนาสไตล์การวาดที่แสดงออกถึงการขาดไร้การฝึกฝนตามขนบออกมาอย่างชัดแจ้ง

ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนที่ผิดเพี้ยนทัศนียภาพแบบจุดเดียว และการใช้สีสันอันจัดจ้านและไม่เป็นธรรมชาติ

คุณลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้งานศิลปะประเภทนี้เต็มไปด้วยความแปลกประหลาดพิสดาร

อ็องรี รูสโซ หรือในชื่อเต็มว่า อ็องรี จูเลียง เฟลิกซ์ รูสโซ (Henri Julien Felix Rousseau) (1844-1910) เกิดในปี 1844 ในเมืองลาวาล ประเทศฝรั่งเศส ในครอบครัวช่างประปา

เขาต้องช่วยครอบครัวทำมาหากินตั้งแต่อายุยังน้อย

ถึงกระนั้น อ็องรีก็หลงใหลศิลปะและดนตรีมาตั้งแต่เด็ก

แต่เขาก็ไม่มีโอกาสได้เรียนในสิ่งที่ชอบ และต้องเรียนด้านกฎหมายแทน

หลังจบการศึกษา ครอบครัวของเขาย้ายไปอยู่ที่เมืองอองเช่ร์

รูสโซได้งานเป็นเสมียนในสำนักงานกฎหมายท้องถิ่น

ต่อมาเขาถูกเกณฑ์ทหารด้วยการจับสลากเข้าไปรับใช้ชาติในกองทัพฝรั่งเศสเป็นเวลาเจ็ดปี

แต่ก็เป็นการประจำการอย่างราบเรียบธรรมดา ไม่ได้ออกไปรบรากับใครที่ไหน

แต่เขาก็มักจะเสกสรรปั้นแต่งเรื่องราวในกองทัพของเขาอย่างบรรเจิด

หนึ่งในเรื่องผจญภัยที่เขามโนขึ้นมาก็คือ การที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วมในการปลุกระดมการปฏิวัติต่อต้านจักรพรรดิแม็กซิมิเลียนแห่งเม็กซิโก

ซึ่งเขาโม้ว่าต้องออกไปบุกป่าฝ่าดงในแดนไกลจนกลายเป็นที่มาของแรงบันดาลใจในการวาดภาพของเขา

The Snake Charmer (1907),สีน้ํามันบนผ้าใบ,พิพิธภัณฑ์ออร์แซ,ปารีส

ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเขาไม่เคยออกจากประเทศฝรั่งเศสเลยแม้แต่ครั้งเดียวด้วยซ้ำ

หลังออกจากกองทัพ เขาทำงานเป็นพนักงานตรวจสอบสินค้าในสำนักงานศุลกากร จนทำให้เขาได้ชื่อเล่นว่า “Le Douanier” หรือ “เจ้าหน้าที่ศุลกากร”

ในช่วงนี้เองที่เขาวาดภาพขึ้นมาเป็นเรื่องเป็นราวเป็นครั้งแรก

โดยเขาค่อยๆ ฝึกฝนวาดรูปในช่วงเวลาที่ว่างจากการทำงาน

ถึงแม้ผลงานในช่วงแรกๆ ที่เขาส่งไปร่วมแสดงในนิทรรศการแสดงศิลปะแห่งชาติหรือซาลง จะถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงมาโดยตลอด

แต่เขาก็ได้แสดงงานเป็นครั้งแรกกับกลุ่ม Societe des Artistes Indipendants (ชุมนุมศิลปินอิสระ) ซึ่งก่อตั้งซาลงของตัวเองขึ้นมา

โดยภาพวาดชิ้นแรกของรูสโซอย่าง A Carnival Evening (1886) ที่แสดงออกถึงลักษณะแปลกประหลาด และการจัดองค์ประกอบเหนือจริงราวกับอยู่ในความฝัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในงานศิลปะของเขาอย่างเต็มที่นั้น ก็ได้ร่วมแสดงในนิทรรศการแรกของซาลงของศิลปินอิสระนั่นเอง

A Carnival Evening (1886), สีน้ํามันบนผ้าใบ, พิพิธภัณฑ์ศิลปะฟิลาเดลเฟีย, (Philadelphia Museum of Art), สหรัฐอเมริกา ภาพจาก https://bit.ly/1SMqLAt

และรูสโซเองก็เข้าร่วมแสดงงานในซาลงของกลุ่มนี้อย่างสม่ำเสมอแทบทุกปี จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ในปี 1889 รูสโซเดินทางไปยังปารีสเพื่อเที่ยวชมงานเวิลด์แฟร์

ซึ่งการท่องเที่ยวครั้งนี้ส่งแรงบันดาลใจให้กับงานของเขาอย่างมาก

และตัวงานเวิลด์แฟร์เองก็กลายเป็นฉากหลังในภาพวาด Myself : Portrait-Landscape (1890) ของเขา

Myself: Portrait-Landscape (1890),สีน้ํามันบนผ้าใบ,พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ,ปราก,สาธารณรัฐเช็ก ภาพจาก https://bit.ly/1SMqLAt

 

รวมถึงผลงาน Tiger in a Tropical Storm (Surprised!) (1891) ภาพวาดป่าดงดิบที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดภาพหนึ่งของเขา ที่แสดงในซาลงของศิลปินอิสระในปี 1891

Tiger in a Tropical Storm (Surprised!) (1891),สีน้ํามันบนผ้าใบ,พิพิธภัณฑ์แห่งชาติลอนดอน,อังกฤษ ภาพจาก https://bit.ly/1SMqLAt

หลังจากเกษียณอายุก่อนเวลาจากการทำงานที่สำนักงานศุลกากรในปี 1893 รูสโซในวัย 49 ปี จึงเริ่มต้นอาชีพศิลปินเต็มเวลา

ถึงแม้เทคนิคการวาดภาพแบบมือสมัครเล่นและองค์ประกอบอันแปลกประหลาดในภาพวาดของเขาจะทำให้นักวิจารณ์ศิลปะที่ได้เห็นในเวลานั้นต่างเย้ยหยันและถากถางผลงานของเขาเสียไม่มีชิ้นดี

สื่อมวลชนชาวปารีสบางคนถึงกับเขียนวิจารณ์งานของเขาว่า “รูสโซน่าจะหลับตาวาดภาพด้วยตีน” ด้วยซ้ำไป

แต่ด้วยความซื่อใสไร้เดียงสา, ตรงไปตรงมา และไร้จริตมารยาของมัน ก็กลับทำให้มันเป็นที่นิยมและยกย่องจากเหล่าบรรดาศิลปินรุ่นใหม่ๆ ในแง่ของการเปิดเผยความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของความเรียบง่ายในการทำงานศิลปะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพวาด War (1894) ของเขาที่แสดงในซาลงของศิลปินอิสระ ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนในอาชีพศิลปินของเขา ภาพวาดเชิงอุปมานิทัศน์ (การเล่าเรื่องโดยใช้สัญลักษณ์เปรียบเทียบแทนการบอกเล่าความหมายโดยตรงหรือการใช้ภาษาเขียนออกมา) เกี่ยวกับสงครามขนาดใหญ่ภาพนี้ ทำให้เขาได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในแง่บวกจากสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต

War (1894),สีน้ํามันบนผ้าใบภาพจาก https://bit.ly/2LwGtTy

ในช่วงปี 1898 และ 1900 รูสโซเข้าร่วมการแข่งขันวาดภาพอาคารสำนักงานเทศบาลของเมืองแวงแซนน์ และเมืองอัสนิแยร์ ซูร์ แซน แต่ก็ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

รูสโซผู้เพียรเสาะแสวงหาชื่อเสียงและการยอมรับตลอดมาก็เริ่มตระหนักว่า ถึงแม้ผลงานภาพวาดป่าดงดิบของเขาจะถูกวิจารณ์อย่างสาดเสียเทเสีย

แต่มันก็ทำให้เขาได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมาก

เขาจึงหันกลับมาวาดภาพในแนวนี้อีกครั้ง ในผลงาน Scouts Attacked by the Tiger (1904) ซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์อย่างอื้อฉาว (แม้จะเป็นในแง่ลบ)

แต่ก็ทำให้ชื่อของเขาหวนกลับมาเป็นที่จับตาอีกครั้ง

ในช่วงนั้นเองที่ศิลปินอาว็อง-การ์ด (Avant-garde) หรือศิลปินหัวก้าวหน้าแห่งยุคโมเดิร์นเริ่มหันมาสนใจผลงานของรูสโซ ที่ดูจะมีความเชื่อมโยงกับงานศิลปะดึกดำบรรพ์ของชนเผ่าต่างๆ อย่างแนบชิด

จนทำให้เขาเริ่มเป็นที่นิยมและสนิทสนมกับศิลปินรุ่นเยาว์หัวก้าวหน้าผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้นอย่างจอร์จ บราก (Georges Braque), ปาโบล ปิกัสโซ่, กีโยม อาปอลีแนร์ (Guillaume Apollinaire) และโรแบรต์ เดอโลเน (Robert Delaunay) เป็นอาทิ

แต่ถึงแม้จะได้รับความนิยมชมชอบในหมู่มิตรสหายศิลปิน

มันก็ไม่ได้ทำให้รูสโซหลุดพ้นจากการถูกนักวิจารณ์มองว่าเป็นตัวตลกในโลกศิลปะอยู่ดี

ตัวเขาเองก็มีชีวิตอย่างยากไร้ขัดสนจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

อ็องรี รูสโซ เสียชีวิตในปี 1910 จากอาการลิ่มเลือดที่ลุกลามจากเนื้อตายที่ขา

หลังจากรูสโซเสียชีวิต เหล่าบรรดาเพื่อนศิลปินร่วมรุ่นของเขาต่างก็ร่วมกันเผยแพร่ชื่อเสียงของเขาให้ขจรขจายไปอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการย้อนหลัง หรือพิมพ์หนังสือชีวประวัติของเขาออกมาเป็นครั้งแรก

ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับศิลปินมากหน้าหลายตา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินนามธรรมชื่อดังอย่างวาสซิลี คานดินสกี้ ที่ซื้อภาพวาดของรูสโซหลายภาพ

อีกทั้งยังจำลองภาพวาดของรูสโซลงตีพิมพ์ในวารสาร The Blaue Reiter (Blue Rider) Almanac ของเขาในปี 1912

ผลงานของรูสโซได้รับอิทธิพลมาจากส่วนผสมของรสนิยมทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ ไม่ว่าจะเป็นผลงานจิตรกรรม/ประติมากรรมคลาสสิคตามแบบแผน ไปจนถึงสื่อสาธารณะอย่างโปสการ์ด, ภาพประกอบในหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์

ผนวกกับประสบการณ์จากการไปเที่ยวชมสวนสัตว์, สวนสาธารณะ และอุทยานป่าต่างๆ และจินตนาการส่วนตัวของเขา สร้างสรรค์ออกมาเป็นภาพวาดที่นำเสนอดินแดนลึกลับพิสดารในจินตนาการของเขา ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความพิลึกพิลั่น, แปลกแหวกแนว

The Sleeping Gypsy (1897), สีน้ำมันบนผ้าใบ, พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA), นิวยอร์ก

ล้ำยุคล้ำสมัยจนน่าอัศจรรย์ อันเกิดจากการผสมผสานแรงบันดาลใจอันหลากหลาย

ภาพวาดจากเทคนิคที่ไม่ผ่านการเรียนในสถาบันไหนๆ เลย หากแต่เต็มไปด้วยความรู้สึกอันเรียบง่าย, จริงใจ, ไร้เดียงสาเหมือนเด็กๆ ด้วยสีสันสดใส เส้นสายคมกริบชัดเจน เปี่ยมอารมณ์อันแปลกประหลาด คล้ายกับความฝันอันไร้เหตุผล และเต็มไปด้วยคุณลักษณะทางอภิปรัชญา ที่ดึงดูดความสนใจอย่างน่าพิสดาร จนโดนใจเหล่าศิลปินโมเดิร์นแห่งศตวรรษที่ 20 อย่างจัง

และยังถูกยกย่องจากศิลปินกลุ่มเซอร์เรียสลิสต์ให้เป็น “เซอร์เรียสลิสต์ผู้มาก่อนกาล”

โดยเจ้าลัทธิอย่างอองเดร เบรอตง เอง รวมถึงส่งอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปินคนสำคัญในกลุ่มอย่างเรอเน มากริต และจอร์โจ เดอ คิรีโก (Giorgio de Chirico)

The Dream (1910),สีน้ํามันบนผ้าใบ,พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่,นิวยอร์ก(MoMA) จาก
ภาพจาก https://bit.ly/1SMqLAt

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงาน The Dream (1910) ภาพวาดผู้หญิงเปลือยนอนเอนกายบนเก้าอี้ยาวที่ตั้งอยู่อย่างน่าพิศวงในป่าเขตร้อน ที่ได้รับการยกย่องโดยศิลปินกลุ่มนี้อย่างมาก

สิ่งเหล่านี้เองที่ส่งให้ผลงานศิลปะของอ็องรี รูสโซ กลายเป็นแรงบันดาลใจอันไม่อาจลบเลือนให้กับศิลปินรุ่นหลังทั้งในอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

และอาจส่งต่อไปยังอนาคตข้างหน้าก็เป็นได้