วิเคราะห์ : “เวลคัม ทู เลือกตั้ง” จากอุบลฯ ถึงโคราช เพื่อไทย-พปชร.-ภท. ประดาบก็เลือดเดือด

เข้าสู่เดือนกันยายน 2561 เดือนแห่งการคลายล็อก

คสช.เตรียมออกคำสั่งมาตรา 44 เปิดรูระบายให้พรรคการเมืองขยับทำกิจกรรม “บางอย่าง” ได้ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม รวมถึงการแบ่งเขตเลือกตั้ง และทำไพรมารีโหวตตามหลักเกณฑ์รูปแบบใหม่

คำสั่งคลายล็อกจะมีขึ้นหลังจากร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

จากนั้นนับต่อไปอีก 90 วัน เมื่อ พ.ร.ป.มีผลใช้บังคับเป็นทางการ จึงจะ “ปลดล็อก” ทั้งหมด ให้พรรคการเมืองหาเสียงเลือกตั้งได้เต็มรูปแบบ

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.คาดว่าจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส. ได้ในวันที่ 4 มกราคม 2562 และจะมีการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 หรืออย่างช้า 5 พฤษภาคม 2562

ถึงจะเป็นเพียงการคลาย ไม่ใช่การปลดล็อก

แต่ก็เพียงพอกับการเป็นสารตั้งต้น กระตุ้นให้นักการเมือง พรรคการเมือง ไม่ว่าขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก พรรคเก่า หรือพรรคใหม่ คึกคักขึ้นมาทันที

โดยเฉพาะเหตุการณ์ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.นครราชสีมา คือสัญญาณบ่งบอกอย่างหนึ่ง

“เวลคัม ทู เลือกตั้ง”

สําหรับพื้นที่จังหวัดซึ่งถูกยกให้เป็นประตูสู่ภาคอีสาน

ในการเลือกตั้งปี 2554 จ.นครราชสีมา มีจำนวน ส.ส.ทั้งสิ้น 15 คน แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 8 ชาติพัฒนา 4 และภูมิใจไทย 3

ในการเลือกตั้งครั้งหน้าซึ่งคาดกันว่าจะมีขึ้นระหว่างกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2562 จากข้อมูลไม่เป็นทางการ ส.ส.นครราชสีมาจะปรับลดลงเหลือ 14 ที่นั่ง ตามการคำนวณของ กกต.

ถึงลดลง 1 ที่นั่ง จ.นครราชสีมาก็ยังเป็นจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดอันดับสอง รองจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งมี ส.ส. 33 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2554

ด้วยพื้นที่การเมืองขนาดใหญ่ ทำให้ทุกครั้งในการเลือกตั้ง จ.นครราชสีมา จึงเป็นเป้าหมายพรรคการเมืองแทบทุกพรรค เนื่องจากมีที่นั่ง ส.ส.ให้แย่งชิงจำนวนมาก

เมื่อต้องแย่งชิง การต่อสู้จึงดุเดือด

ล่าสุดนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน อดีตแกนนำ นปช. ซึ่งได้กล่าวถอนคำสาบานเลิกเล่นการเมือง

ย้ายเข้าไปร่วมภารกิจกับกลุ่มสามมิตรในการขับเคลื่อนพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ พร้อมชาวบ้าน อ.ครบุรี และ อ.เสิงสาง

นำหลักฐานเข้ายื่นร้องต่อสำนักงาน กกต.นครราชสีมา ให้สอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และขอให้ “ยุบ” พรรคภูมิใจไทย

นายสุภรณ์อ้างได้รับร้องเรียนพฤติการณ์ของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ จงใจกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ขัดคำสั่ง คสช. และไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

ด้วยการจ้างอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เก็บบัตรประจำตัวประชาชน โดยให้ค่าตอบแทนรายละ 50-100 บาท เพื่อนำไปสมัครสมาชิกพรรค

ทั้งยังนำชาวบ้านพื้นที่ อ.ครบุรี และ อ.เสิงสาง ไปเที่ยวต่างจังหวัด เพื่อหวังผลทางการเมือง

หาเสียงให้กับตนเองและพรรค

การเคลื่อนไหวต่อสู้ในสนามการเมือง จ.นครราชสีมา ยังเป็นไปในลักษณะศึกสามเส้า

เมื่อนายประเสริฐ จันทรรวงทอง นายโกศล ปัทมะ อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรค

เข้ายื่นคำร้องและเอกสารเพิ่มเติมต่อ กกต.กลาง ขอให้ตรวจสอบกรณีกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองดำเนินการส่อทุจริตซื้อเสียงล่วงหน้าในพื้นที่ จ.นครราชสีมา

เมื่อดูจากประเด็นคำร้อง น่าจะเป็นข้อมูลที่ได้รับจากชาวบ้านในพื้นที่ชุดเดียวกับที่แรมโบ้อีสาน แห่งกลุ่มสามมิตรนำไปยื่นร้องต่อ กกต.นครราชสีมา

ต่างกันตรงพรรคเพื่อไทยแค่ยื่นร้องขอให้ กกต.เข้าไปตรวจสอบ เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดพฤติการณ์ทำนองนี้ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ แต่กลุ่มสามมิตรเล่นแรงถึงขั้นให้ “ยุบพรรค”

เมื่อมุมตกกระทบเท่ากับมุมสะท้อน เมื่อแรงมาก็แรงกลับ

จึงไม่แปลกที่แรมโบ้อีสาน สมาชิกกลุ่มสามมิตรจะได้รับการตอบโต้จากแกนนำพรรคภูมิใจไทย ด้วยคดีฟ้องร้องหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสีย

นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยระบุ การร้องเรียนของนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ เป็นความเท็จ ใส่ร้ายป้ายสีพรรคภูมิใจไทย

ขณะที่นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และคนที่ผู้กล่าวหาระบุจะมาเป็นผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ก็ยังไม่ได้เป็น เพราะกระบวนการคัดสรรผู้สมัครยังไม่เกิด จึงเป็นการกล่าวหาให้เสียหาย ต้องดำเนินการทางกฎหมายเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

ถึงไม่ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนเหมือนกลุ่มสามมิตร แต่จากท่าทีแกนนำพรรค โดยเฉพาะหลัง ครม.สัญจรบุรีรัมย์-สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทยก็ได้รับการจัดหมวดหมู่ทางการเมืองให้อยู่กับฝ่ายสนับสนุน “ผู้มีอำนาจ” เช่นเดียวกับกลุ่มสามมิตร

เหตุขัดแย้งทางการเมืองใน จ.นครราชสีมา จึงก่อให้เกิดข้อสงสัย เพราะแทนที่กลุ่มสามมิตรจะผนึกกำลังกับพรรคภูมิใจไทย เพื่อเล่นงานพรรคเพื่อไทย

กลับกลายเป็นกลุ่มสามมิตรปรองดองกับพรรคเพื่อไทย เปิดศึกเล่นงานพรรคภูมิใจไทย

กรณีนี้จะมีเงื่อนปมการเมืองอื่นซุกซ่อนอยู่หรือไม่ หรือเป็นแค่การตอกย้ำให้เห็นว่าภายใต้สมรภูมิการเมือง ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร แต่เป็นเรื่องเกมแข่งขัน

ที่ทุกคนล้วนต้องการเป็นผู้ชนะ

การ “ประดาบ” โดยยังไม่ทันได้คลายล็อก

ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ยังต้องจับตาต่อไปทั้งในประเด็นการร้องยุบพรรค การฟ้องกลับผู้กล่าวหา รวมถึงท่าทีของ กกต.จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร

ขณะเดียวกันใน จ.อุบลราชธานี ก็มีเรื่องน่าสนใจให้ติดตาม

สืบเนื่องจากนายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย เรียกร้อง คสช.และกระทรวงกลาโหมตรวจสอบ

กรณีกองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 (มทบ.22) นำสิ่งของจากทางราชการแจกจ่ายให้กับประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม อ.ม่วงสามสิบ และ อ.เขื่องใน

โดย “หนีบ” เอาคนพรรคพลังประชารัฐร่วมขบวนไปด้วย

ทั้งยังเรียกร้องให้ กกต.และกระทรวงมหาดไทยในฐานะต้นสังกัดตรวจสอบ กรณี “บิ๊กข้าราชการ” จังหวัดอุบลราชธานี ให้คนของพรรคพลังประชารัฐไปเดินตามในงาน พอ.สว.

อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยระบุ คนที่ไปร่วมขบวนกับทหารแจกสิ่งของให้ชาวบ้าน คือคนเดียวกับที่ไปต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งลงพื้นที่สัญจรอุบลราชธานี

ถึงแม้นายชวน ชูจันทร์ ผู้จดจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐจะออกมาปฏิเสธ แต่นายสมคิดอ้างเรื่องดังกล่าวมีภาพถ่ายและคลิปวิดีโอเป็นหลักฐานยืนยันชัดเจน

ขณะเดียวกันในกรณีกลุ่มสามมิตร ซึ่งถูกครหาเป็น “เด็กเส้น” เดินสาย “ดูด” อดีต ส.ส.อย่างเปิดเผย

ล่าสุดยังปรากฏภาพถ่ายแกนนำกลุ่มมือถือไมค์ คล้องพวงมาลัยดอกดาวเรือง ยืนพูดอยู่บนขบวนรถแห่ในพื้นที่ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ

ซึ่งต่อมา นายภิรมย์ พลวิเศษ แกนนำกลุ่มสามมิตรชี้แจงเบื้องหลังภาพถ่ายดังกล่าว

ไม่ได้เป็นการปราศรัยเปิดตัวผู้สมัคร ไม่ใช่การหาเสียงเพื่อหวังผลทางการเมือง แต่เป็นการลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากชาวบ้านในพื้นที่เท่านั้น

พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล คสช. เรียกร้องให้มีการตรวจสอบเรื่องให้กระจ่าง โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นใน จ.อุบลราชธานี และชัยภูมิ

เนื่องจากที่ผ่านมา นักการเมืองแกนนำกลุ่มสามมิตรและพรรคพลังประชารัฐ ประกาศจุดยืนอุดมการณ์ชัดเจนว่าพร้อมสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

อีกทั้งมีความเป็นไปได้สูงต่อการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตรียมประกาศอนาคตทางการเมือง ด้วยการตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งขับเคลื่อนโดยกลุ่มสามมิตร

เมื่อเป็นเช่นนี้ การดำเนินการทางการเมืองไม่ว่าในนามกลุ่มสามมิตรหรือในนามพรรคพลังประชารัฐ ยิ่งจำเป็นต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบไปถึงการวางอนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะที่ กกต.ในฐานะผู้คุ้มกฎการเลือกตั้ง ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการทำหน้าที่ของตน ไม่อยู่ภายใต้การแทรกแซงของผู้มีอำนาจจากการรัฐประหาร ที่มีความประสงค์ต้องการสืบทอดอำนาจนั้นต่อไป

เพียงประดาบก็เลือดเดือด

สะท้อนการเลือกตั้ง เดิมพันสูงอย่างยิ่ง