10 ปีผ่านมา เศรษฐกิจโลกยังเสี่ยงเกิดวิกฤต

ระบบการเงินของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 10 ปีที่แล้วพังทลายจากการลงทุนที่เป็นพิษในสินทรัพย์ที่มีชื่อย่อลึกลับ แต่ทุกวันนี้ปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกล้วนแต่เป็นชื่อที่คุ้นเคย ทั้งจีน การแพร่กระจายของวิกฤตในตลาดเกิดใหม่ การถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษหรือเบร็กซิท และโดนัลด์ ทรัมป์

หลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2008 ที่ทำให้ผู้คนหลายสิบล้านสูญเสียบ้าน นำไปสู่การสูญเสียงานหลายล้านตำแหน่ง และมูลค่าความมั่งคั่งหายไปหลายล้านล้านดอลลาร์ ถึงตอนนี้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแล้ว

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะโต 3.9 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้และปีหน้า เป็นการยืนยันถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งทั่วโลก แต่การที่สหรัฐอยู่ที่ศูนย์กลางของข้อพิพาทด้านการค้าหลายเรื่อง ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับความท้าทายเป็นอย่างมาก

มอริซ ออฟต์เฟลด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟเตือนว่า “ความเสี่ยงด้านความตึงเครียดทางการค้าในปัจจุบันยกระดับขึ้นอีก และเป็นภัยคุกคามระยะสั้นที่ใหญ่ที่สุดต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก”

กองทุนสำรองแห่งรัฐหรือธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก สะท้อนคำเตือนดังกล่าวแทบจะคำต่อคำ โดยระบุว่า “การยกระดับของข้อพิพาททางการค้าในระดับนานาชาติเป็นไปได้ว่าอาจเป็นความเสี่ยงในด้านลบที่ส่งผลตามมาสำหรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริง”

 

นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในทำเนียบขาว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐชูนโยบาย “เมก อเมริกา เกรต อะเกน” ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีแนวคิด “อเมริกาเฟิร์สต์” หรือเมริกาต้องมาก่อน ด้วยการสลับสับเปลี่ยน กลับหัวกลับหางความสัมพันธ์ทางการค้า โดยการโจมตีคู่ค้าแบบไม่แยกแยะว่าเป็นพันธมิตรหรือศัตรู

หนึ่งในเป้าหมายหลักของทรัมป์คือความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือหรือนาฟต้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโกและแคนาดาที่มีอายุยาวนานถึง 25 ปี ซึ่งทรัมป์ระบุว่าข้อตกลงดังกล่าว “ไม่คุ้มค่า” และเป็น “หายนะ” สำหรับสหรัฐ

ทรัมป์ยืนยันว่าจะขอเจรจานาฟต้าใหม่ และเมื่อข้อตกลงในทางปฏิบัติอยู่ในมือ คำกล่าวแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์แคนาดา ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐในทางเสื่อมเสียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ทำให้การเจรจาหยุดชะงักไป

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้โจมตีอียู ว่าเป็นคู่แข่งในช่วงเวลาที่อียูเผชิญกับความไม่แน่นอนของเบร็กซิท และทรัมป์ยังได้เปิดศึกกับจีนด้วยการกำหนดกำแพงภาษีหลายระลอกเพื่อกดดันให้จีนยินยอมตามที่ตนต้องการ

การใช้ท่าทีแข็งกร้าวต่อรัฐบาลปักกิ่งของทรัมป์อาจเข้าสู่ช่วงระยะเวลาใหม่ในสัปดาห์นี้ โดยการกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรอีก 200,000 ล้านดอลลาร์ต่อสินค้านำเข้าจากจีนกำลังต่อแถวรออยู่

ผลกระทบต่างๆ เริ่มรู้สึกได้ในจีน ประเทศที่มีขนาดของเขตเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และหากความขัดแย้งยกระดับขึ้นจากนี้อีก อาจส่งผลกระทบเป็นทวีคูณต่อการลงทุน ซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทานและความเชื่อมั่น

 

เมื่อครั้งที่เลห์แมนบราเธอร์สล้มละลายในวันที่ 15 กันยายน 2008 ระดับของหายนะนั้นเห็นได้ชัดเจน

เงินจำนวนมากถูกนำไปลงทุนในเครื่องมือทางการเงินที่สลับซับซ้อนและคลุมเครือเป็นอย่างสูง โดยมีพื้นฐานอยู่บนสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือ “ซับไพรม์” ที่ในยุคอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำมากอย่างยาวนานส่งผลให้ผู้คนซื้อบ้านได้โดยที่ไม่ต้องคิดถึงความสามารถในการผ่อนชำระ

แต่เมื่อเฟดเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อปี 2004 ทุกอย่างก็พังทลายลงมา

และถึงตอนนี้ หลังช่วงเวลาหลายปีของอัตราดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ เฟดปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ไม่มีใครแน่ใจว่าวิกฤตใหญ่ครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

แล้วสัญญาณเตือนอยู่ที่ไหนกัน?

 

เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเดินหน้าเต็มสูบ โดยอัตราการว่างงานต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ราว 4 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสัญญาณของเงินเฟ้อ และตลาดหุ้นกำลังทำลายสถิติ

รัฐบัญญัติ ด็อดด์-แฟรงก์ ปี 2010 จำกัดความเสี่ยงและบังคับให้ธนาคารต้องมีทุนสำรองเงินสดจำนวนมาก ผลที่ตามมาทำให้ “ภาคการธนาคารเป็นอุตสาหกรรมที่มีกฎระเบียบเข้มงวดมากที่สุดต่อจากภาคสาธารณูปโภค” สตีฟ ไอส์แมน นักการเงินที่ตรวจพบซับไพรม์เป็นคนแรกๆ กล่าว แต่ระบุด้วยว่า ถึงตอนนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวมา 10 ปีแล้ว และไอส์แมนค่อนข้างแน่ใจว่าจะมีวิกฤตครั้งต่อไป

เช่นเดียวกับฌอง โคล้ด ตริเชต์ ชาวฝรั่งเศส ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ระหว่างปี 2003-2011 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกออกมาเตือนเช่นกัน โดยระบุว่า ระดับหนี้สินที่สูงมากเกินไปในขณะนี้ทำให้ระบบการเงินโลกเปราะบางเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว