โมบายแบงกิ้งล่มรับสิ้นเดือน เขย่านโยบายสังคม “ไร้เงินสด” โลกโซเชียลร้อนฉ่า… มนุษย์เงินเดือนรุมถล่ม

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม วันที่มนุษย์เงินเดือนตั้งตารอ เนื่องจากจะมีเงินเดือนรายได้มาเติมเต็มสำหรับใช้ดำรงชีพ ตลอดจนโอนจ่ายใช้หนี้ที่ก่อมาล่วงหน้า

แต่ความหวังก็กลับดับวูบ ไม่แปลกที่เสียงบ่นด้วยความหงุดหงิดไม่พอใจจะกระหึ่มโลกโซเชียล

หลังการทำธุรกรรมผ่านระบบโมบายแบงกิ้งของบางธนาคารเกิดอาการ “ติดขัด” ใช้งานไม่ได้

จากแบงก์หนึ่งลามไปสู่อีกหลายแบงก์

ไม่ว่าจะเป็นโมบายแอพพลิเคชั่น “K Plus” ของธนาคารกสิกรไทย, “KMA” ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา, “Thanachart Connect” ของธนาคารธนชาต, “Bualuang mBanking” ของธนาคารกรุงเทพ, “KTB Netbank” ของธนาคารกรุงไทย, “TMB Touch” ของธนาคารทหารไทย รวมไปถึง “SCB easy” ของธนาคารไทยพาณิชย์

ที่สำคัญไม่ใช่แค่การโอนเงินผ่านแอพพ์เท่านั้นที่มีปัญหา

แต่การทำธุรกรรมผ่านอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง และเครื่อง ATM ก็ล่มไปด้วย

โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายรายระบุว่า โอนเงินไปบัญชีที่เป็นธนาคารกสิกรไทยไม่ได้ทั้งระบบ

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยแจ้งผ่านเฟซบุ๊ก “KBank Live” ว่า

“ระบบของธนาคารบางส่วนขัดข้อง อาจส่งผลให้ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวกในการทำธุรกรรมบางรายการ โดยเฉพาะรายการต่างธนาคาร ทั้งนี้ ธนาคารรับทราบปัญหา และได้เร่งแก้ไขให้กลับมาใช้งานได้โดยด่วน”

เช่นเดียวกับอีกหลายธนาคารที่โพสต์ผ่านเพจ ในทำนอง “ขออภัยในความไม่สะดวก” เช่นกัน อย่างไรก็ตาม วันนั้นการทำธุรกรรมการเงินมีปัญหาติดขัดต่อเนื่อง กว่าจะทยอยใช้ได้ก็กินเวลาไปครึ่งค่อนวัน

ตามด้วยรายงานข่าวระบุในทำนองว่า ต้นตอของความขัดข้องมาจากระบบของธนาคารกสิกรไทย และกระทบชิ่งไปถึงการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารที่จะติดขัด ล่าช้า รวมถึงทำธุรกรรมไม่ผ่านด้วย

 

นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. เผยว่า ปัญหาดังกล่าวสืบเนื่องจากเช้าวันที่ 31 สิงหาคม 2561 มีธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่มีปริมาณการทำธุรกรรมทางการเงินข้ามระหว่างธนาคารเป็นจำนวนมาก จนเกิดปัญหาระบบขัดข้อง ทำให้เกิดรายการค้างรอจำนวนมาก และมีผลกระทบไปสู่ธนาคารอีกหลายแห่ง เกิดการสะดุดหรือล่าช้าในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะโมบายแบงกิ้ง

“ธปท.ได้ติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และให้ธนาคารเร่งแก้ไข รวมทั้งกันธนาคารดังกล่าวออกจากระบบกลาง ลดผลกระทบที่มีกับธนาคารอื่น” นายรณดลระบุ

จากนั้น นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ออกมาชี้แจงว่า สาเหตุมาจากระบบของธนาคารแห่งหนึ่งมีปัญหา จึงส่งผลให้การทำธุรกรรมของธนาคารอื่นเกิดความล่าช้า มองว่าอาจจะเกิดจากปริมาณทำธุรกรรมจำนวนมากในช่วงสิ้นเดือน และมีการส่งผ่านธุรกรรมข้ามธนาคาร

ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาหลังธนาคารได้ยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทำให้มีการทำธุรกรรมมากขึ้น ซึ่งบางธนาคารอาจไม่ได้วางแผนที่ดีพอในช่วงแรกทำให้อาจเกิดปัญหาคอขวดในช่วงปลายเดือน

พร้อมยืนยันว่า ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์ และที่สำคัญได้กำชับให้แบงก์ดูแลไม่ให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย และสถาบันการเงินที่มีปัญหาระบบขัดข้อง ต้องรีบแก้ปัญหา รีบยกเครื่องระบบให้เสถียร และสามารถรองรับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นมากให้ได้ในอนาคต

ผู้ว่าการ ธปท.ยังย้ำด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นวันนี้ ไม่ใช่ปัญหาของระบบกลาง (ITMX) แต่เกิดกับสถาบันการเงินเฉพาะแห่ง ที่มีธุรกรรมที่ต้องส่งข้ามสถาบันการเงิน ซึ่งเมื่อส่งไปไม่ได้ จึงเกิดการค้างท่อ และไปถ่วงการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินอื่นให้ช้าไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เข้าสู่เดือนใหม่ วันที่ 1 กันยายน ปรากฏว่า ผู้ใช้บริการยังเจอปัญหาข้อขัดข้อง อย่างเช่น ไม่สามารถโอนเงินไปยังบัญชีของธนาคารกสิกรไทยได้ ขณะที่แอพพ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ก็มีลูกค้าร้องเรียนเข้ามาด้วย

ล่าสุดมีเสียงจากนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งสวมหมวกประธานสมาคมธนาคารไทยอีกใบหนึ่ง ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ความขัดข้องที่เกิดขึ้น ไม่อยากให้เรียกว่าเป็นปัญหา แต่เกิดจากความผิดพลาดของบุคคล (Human Error) ไม่ใช่ระบบ ยืนยันว่า ระบบการเชื่อมโยงไม่มีปัญหา สามารถรองรับธุรกรรมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วได้อีกหลายเท่าตัว เพราะได้คาดการณ์ไว้รองรับล่วงหน้าอยู่แล้ว

“ไม่ต้องห่วงเรื่องคาปาซิตี้ เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็น สิ่งที่เกิด ครั้งแรก เกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ที่ไปทำกระบวนการต่างๆ ขาดขั้นตอนไป ซึ่งแต่ละปัญหาในการเกิดแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน เพราะคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องในระบบมีเยอะมาก และไม่ใช่เฉพาะพนักงานธนาคาร ฉะนั้น กฎเกณฑ์ กติกาภายในของธนาคารแต่ละแห่ง ต้องดูให้ดี ต้องทำให้ถูกทุกขั้นตอน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด”

ส่วนประเด็นที่ ธปท.บอกมีบางแบงก์ที่ธุรกรรมมากจนระบบรับไม่ไหวนั้น นายปรีดีกล่าวว่า ธุรกรรมไม่ได้มากเกินไป และระบบภายในของธนาคารมีเป็นสิบๆ ระบบ

แต่ยอมรับว่า หากกระบวนการ “หลังบ้าน” มีข้อติดขัด มีคนทำ “หลุดขั้นตอน” ส่งผลทำให้กระบวนการทั้งหมดไม่จบ จนเกิดข้อติดขัดขึ้นมา แต่แบงก์ก็ดูแลแก้ปัญหาตลอดเวลา

“ไม่ต้องห่วงเลย เกิดเหตุขึ้นมา มีคนเฝ้าหน้าจอ 24 ชั่วโมง เขากุลีกุจอรีบแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ แต่อย่างที่บอก พอซับซ้อนและโยงหลายแห่ง ทำให้เกิดความเข้าใจว่า เกิดตรงนี้แล้วไปทำให้คนนั้นเสียหายขึ้นมา อย่างไรก็ดี สำคัญที่สุด เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องแก้ไขเร็ว จะเห็นก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์ปรับหลายเรื่อง อย่างการโอนเงิน เดิมกว่าจะคืนเงินก็ 3 วัน ตอนนี้ปรับให้คืนวันรุ่งขึ้นเลย” นายปรีดีกล่าว

พร้อมย้ำว่า เนื่องจากระบบแบงก์ปัจจุบันซับซ้อน การป้องกันคือ ต้องมีกฎ กติกาให้ชัดเจน ในการเข้าไปทำ ที่สำคัญก่อนทำก็ต้องทดสอบจนมั่นใจ อย่างไรก็ตาม ไม่มั่นใจว่า สิ้นเดือนต่อๆ ไปจะเกิดข้อขัดข้องอีกหรือไม่ แต่อยากให้มองว่า ข้อติดขัดเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง เหมือนขับรถบนถนนอาจจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ้าง

แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะหารือกัน เพื่อสรุปสิ่งที่เกิดขึ้น และตกลงวิธีการปฏิบัติที่ทุกแบงก์ต้องทำให้ถูกต้องอย่างเข้มข้น

อันจะนำไปสู่การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก

เพราะนี่เป็นเรื่องความเชื่อมั่น มิฉะนั้นจะส่งผลทำให้การก้าวไปสู่ “สังคมไร้เงินสด” สะดุดหลุมดำก่อนถึงจุดหมาย