แมลงวันในไร่ส้ม/ ‘ปัจจุบัน’ ของ ‘อดีต’ สรุปคดีความ-ผลเสียหาย วิกฤตการเมือง 20 ปีที่ผ่านมา

แมลงวันในไร่ส้ม

‘ปัจจุบัน’ ของ ‘อดีต’

สรุปคดีความ-ผลเสียหาย

วิกฤตการเมือง 20 ปีที่ผ่านมา

วิกฤตการเมืองที่เริ่มจากการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยังมีผลต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
รัฐประหาร 2549 ล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทย มีการจัดเลือกตั้งในปี 2550 ทำให้พรรคพลังประชาชนอันเป็นชื่อใหม่ของพรรคไทยรักไทย คืนชีพกลับมาชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง
ท่ามกลางความโกรธแค้นของผู้สนับสนุนการรัฐประหาร และกล่าวกันว่า รัฐประหาร 2549 เสียของ
นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ได้เป็นนายกฯ แต่ก็พ้นตำแหน่งจากคดีรับจ้างทำอาหารทางโทรทัศน์

สมัคร สุนทรเวช

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ แทน เกิดการชุมนุมประท้วงที่หน้ารัฐสภา ไม่ให้นายสมชายเข้าไปแถลงนโยบาย
พรรคพลังประชาชนโดนยุบอีก กรรมการบริหารพรรคโดนเว้นวรรค นายสมชายพ้นตำแหน่ง
พรรคพลังประชาชนกลับมาในชื่อพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์พลิกเป็นรัฐบาล มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
กลุ่ม นปช. หรือกลุ่มเสื้อแดง รวมตัวประท้วงการเข้าสู่อำนาจของพรรคประชาธิปัตย์ จนเกิดการสลายม็อบใหญ่ๆ 2 ครั้งในปี 2552 และ 2553
โดยเฉพาะในปี 2553 มีผู้เสียชีวิต 99-100 ราย และบาดเจ็บหลายพันคน
ก่อนที่นายอภิสิทธิ์ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 28 และเป็นนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทย
พรรคเพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย
กลายเป็นชนวนของม็อบชัตดาวน์ รัฐบาลเพื่อไทยยุบสภา จัดเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่ถูกขัดขวางอย่างหนัก สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะไม่มีการเลือกตั้งในวันเดียวกันทั่วประเทศ

สมชาย วงศ์สวัสดิ์

ตามมาด้วยรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อแก้ “เสียของ”
มีการเปิดเผยเบื้องหน้าเบื้องหลังมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า เกิดขึ้นเพราะอะไร ใครเสียประโยชน์ ใครต้องการได้ประโยชน์
และที่เห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการพัฒนาประเทศ

นักวิชาการ สถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย นายพงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย นายยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แถลงร่วมกัน “เรื่องต้นทุนทางเศรษฐกิจของความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา
นายพงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม ชี้ว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2540-2560) มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมี 5 รูปแบบคือ การเลือกตั้ง การปฏิวัติรัฐประหาร การชุมนุมและการประท้วงทางการเมือง การใช้มาตรการฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก การปฏิรูปทางการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส่งผลในเชิงลบต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประเทศทั้งในระยะสั้นและต่อศักยภาพการเจริญเติบโตระยะยาว
ผลกระทบต่อตลาดการเงินและตลาดทุนหรือตลาดหลักทรัพย์ พบว่าทำให้มีความผันผวนในตลาดสูงมากขึ้น แต่ไม่มีผลกับอัตราผลตอบแทนการลงทุน
จากอดีตที่ผ่านมาสะท้อนว่าแม้มีการเลือกตั้งไปแล้ว อาจจะมีการชุมนุมจนนำไปสู่การเกิดรัฐประหารขึ้นได้ ดังนั้น ในอนาคตก็มีความเสี่ยงหลังเลือกตั้ง ความไม่แน่นอนของการเมืองไทยยังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน
ส่วนนายยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ กล่าวว่า ผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลกระทบต่อจีดีพีประเทศเฉลี่ย 0.4% ต่อปี ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ช่วงที่มีวิกฤตการณ์การเมืองรุนแรง 3 ครั้งคือ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี การชุมนุมของ นปช. ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และการชุมนุมของ กปปส. ในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้ง 3 วิกฤตการณ์การเมืองกระทบต่อจีดีพีประเทศสูงถึง 2 เท่าของเหตุการณ์อื่น หรือประมาณ 1% ต่อปี
ผลกระทบต่อจีดีพีมากที่สุดมาจากการลงทุนเอกชน ลดลงราว 1.5% ต่อปี กระทบมากที่สุดในธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โรงแรม ขนส่ง รวมทั้งการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์
ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ยังทำให้การลงทุนเอกชนขยายตัวต่ำ จากปกติที่การลงทุนเอกชนจะขยายตัวมากกว่าจีดีพีประเทศ
สะท้อนจากปีนี้ที่ประเมินจีดีพี 4.5% แต่การลงทุนเอกชนขยายตัวเพียง 3% กว่าเท่านั้น ซึ่งการลงทุนที่ขยายตัวต่ำก็มีผลต่อการบริโภคด้วย
เป็นคำตอบระดับหนึ่งว่า ผลที่เกิดขึ้นกับประเทศในห้วงวิกฤตทางการเมือง เป็นบวกหรือลบแค่ไหนอย่างไร

ในส่วนของผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ มีการดำเนินคดีบ้าง คดีความล่าช้าบ้าง บางเรื่องกลายเป็นปัญหาว่าคดีจะไปสู่ศาลใด ยังต้องหาข้อยุติกันอยู่
แต่บางคดีได้ข้อสรุป รวมถึงล่าสุด คดีปฏิบัติการของตำรวจต่อกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เข้าปิดล้อมรัฐสภาเมื่อ 7 ตุลาคม 2551
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้อง พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อายุ 67 ปี อดีต ผบช.น. ในคดีขอคืนพื้นที่หน้ารัฐสภาเมื่อเดือนตุลาคม 2551
หลังจากที่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ยกฟ้อง พล.ต.อ.สุชาติ ร่วมกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และมีการยื่นอุทธรณ์ในส่วนของ พล.ต.อ.สุชาติ
ส่วนคดีขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีการ์ด กปปส.ขัดขวางการเลือกตั้ง ปิดประตูทางเข้าออกสำนักงานเขตดินแดง
พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายนวการ ขอนศรี และนายประเสริฐ ด้วงทิพย์ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในข้อหาร่วมกันกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำคุกจำเลยคนละ 1 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 5 ปี ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน ให้จำคุกจำเลยคนละ 1 ปี ไม่รอลงอาญา
และเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ศาลอาญาได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น แต่ไม่ให้รอการลงอาญา 6 เดือน นายสมบัติ ทัพประยูร หนึ่งในผู้ชุมนุม กปปส. จำเลยคดีขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่บริเวณตลาดนัดผู้ใหญ่อ้วน เขตลาดพร้าว กทม.
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ว่า นายสมบัติมีความผิดจำคุก 1 ปี ลดโทษเหลือจำคุก 6 เดือน รอการลงโทษ 1 ปี เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง 5 ปี และจำเลยอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์สั่งไม่รอลงอาญาดังกล่าว
นายสมบัติขอประกันตัวและขอยื่นฎีกาภายใน 30 วัน
และยังมีกรณีที่นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ ซึ่งเคยเป็นแกนนำ กปปส. บุกยึดศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ต่อมาได้รับคัดเลือกเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง
จนเกิดการยื่นคัดค้านว่าไม่เหมาะสม ซึ่ง กกต.นครราชสีมารวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง เสนอให้ กกต.กลางพิจารณาต่อไป
และนั่นคือผลจากการเมืองในอดีต ที่น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับการเมืองในปัจจุบันและอนาคต