ฝากความหวังไว้ที่ “กัญชา”

ในวิถีชีวิตมนุษย์โลกที่แบ่งประเทศ โดยให้มีองค์กรหนึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการการอยู่ร่วมกันของประชาชน หรือที่เรียกว่า “รัฐบาล” โดยสังคมยินยอมที่จะให้ใช้อำนาจในการบังคับจัดการให้เป็นไปตามที่ต้องการ

ที่โชคดีหน่อยคือประชาชนที่ได้อยู่ในประเทศที่รัฐบาลมีเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการให้ประชาชนมีความสุข บริหารจัดการประเทศอย่างยุติธรรม เปิดโอกาสให้ทุกคน ทุกอาชีพแสวงหาความสุข และความเจริญก้าวหน้าในการมีชีวิต สร้างฐานะได้อย่างเสรี ใช้อำนาจเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่เกิดการคุกคาม เอารัดเอาเปรียบและละเมิดสิทธิของเพื่อนร่วมสังคม

ส่วนประชาชนที่โชคร้าย คือประเทศที่มีรัฐบาลเอาแต่ใช้อำนาจบังคับ จำกัดสิทธิเสรีภาพ จัดสรรโอกาสเข้าถึงการพัฒนาคุณภาพในชีวิต ให้ได้รับความสุขอย่างไม่เท่าเทียม จัดให้มีโครงสร้างอำนาจการบริหารโดยเปิดทางให้บุคคลบางกลุ่มผูกขาดอำนาจ ผูกขาดการแสวงหาผลประโยชน์

อย่างไรก็ตาม หากฟังจากคำพูดของผู้มีอำนาจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเอ่ยอ้างการเสียสละทำงานหนักเพื่อประชาชนกันทั้งนั้น

ไม่มีใครที่จะบอกว่าตัวเองเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์จากอำนาจ การมองเห็นว่า เนื้อแท้แล้วเป็น “รัฐบาล” ที่ใช้อำนาจเพื่อให้ประชาชนเข้มแข็ง หรือใช้เพื่อกดข่มแสวงหาประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะตัดสิน

หากอยากมองเห็นต้องดูที่การกระทำ

เรื่องหนึ่งที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้คือ ถามว่าโอกาสที่จะได้รับการดูแลสุขภาพให้อย่างมีความหวัง อย่างเป็นเหตุเป็นผลมีแค่ไหน

ความเท่าเทียมกันในเรื่องโอกาสการรักษาพยายาลเป็นภาพสะท้อนการใช้อำนาจรัฐได้ดีที่สุด

ภาพเหล่านี้หากรู้จักสังเกตและพยายามมองเห็นผลอันเป็นที่มาที่ไปจะเห็นได้ง่ายๆ

อย่างล่าสุด มีข่าวที่แชร์กันในโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า “อังกาบหนู” ซึ่งเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง สามารถรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งให้หายได้

ข่าวที่ตามมาทันทีคือคนแห่ไปหาซื้อ “ต้นอังกาบหนู”กันโกลาหล

ผู้คนมีความหวังกับข่าวลือ

ส่วนข่าวจริงที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับการพัฒนาไปมาก โดยเฉพาะเรื่องการรักษาโรคมะเร็ง ทั้งกระบวนการผ่าตัดที่ได้ผลตรงเป้า ปลอดภัยมากขึ้น การใช้เคมีบำบัด ฉายแสง และยารักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นจนถือว่าเป็นพัฒนาการครั้งใหญ่

ข่าวที่เป็นเหตุเป็นผล เหล่านี้ไม่ได้สร้างความตื่นตัว ตื่นเต้นให้คนส่วนใหญ่ เพราะต่างคนต่างเจียมเนื้อเจียมตัวใน “โอกาสที่จะเข้าถึง”

การรักษาที่หวังได้ในประสิทธิผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เช่นนั้น มีแค่เพียงคนบางกลุ่มบางพวกเท่านั้นที่เข้าถึงได้ ไม่ใช่ใครก็เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ “การแพทย์” ถูกทำให้เป็น “ธุรกิจ” ที่สร้างผลกำไรมหาศาลธุรกิจหนึ่ง

เพราะอย่างเมื่อ “นิด้าโพล” สำรวจว่า “คิดอย่างไรกับกัญชารักษาโรค”

ประชาชนส่วนใหญ่คือร้อยละ 68.24 ตอบว่าเคยได้ยินเรื่องนี้ เมื่อถามเรื่อง “ถ้าในอนาคตประเทศไทยจะมีกฎหมายให้กัญชาเป็นยารักษาโรคโดยถูกกฎหมาย” มากถึงร้อยละ 72.40 ที่ตอบว่าเห็นด้วย แม้ว่าร้อยละ 54.32 จะเห็นว่ารัฐบาลจะไม่สามารถควบคุมให้ใช้แค่รักษาโรค

เพราะก่อนหน้านั้น มีข่าวว่าสารสกัดจากกัญชาใช้รักษาโรคมะเร็งได้

ขอให้แค่มีข่าว ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จอย่างไร ประชาชนก็เทความหวังไปให้กับ “สิ่งที่เข้าถึงได้มากกว่า”

เรื่องราวเหล่านี้ในทางหนึ่งเป็นการสะท้อนถึงความสิ้นหวังต่อการรักษาด้วยพัฒนาการทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้

และหากสืบสาวต่อไป ย่อมเกิดจากความตระหนักรู้ว่าชีวิตต้องจำนนต่ออำนาจรัฐที่ไม่เอื้อโอกาสที่เท่าเทียมให้ประชาชน เอาแต่ปล่อยปละละเลยให้การรักษาพยาบาลที่เป็นความหวังได้ เป็นธุรกิจที่คนบางชนชั้น บางกลุ่ม บางฐานะเท่านั้นที่เข้าถึง

ที่ต่างรับรู้ว่าตัวเองเข้าถึงง่ายๆ ได้มีแต่สมุนไพรพื้นบ้าน ซึ่งในที่สุดแล้วเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ

แต่สำหรับอำนาจรัฐที่ไม่เอื้อต่อความเท่าเทียมของประชาชน

“ลมๆ แล้งๆ” ก็ยังดีกว่าไม่มีหวัง