แรงกดดันจากหุ่นยนต์ที่เด็กต้องรู้ทัน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เมื่อพูดถึงภัยที่จะมาพร้อมกับหุ่นยนต์ สิ่งแรกที่เราจะนึกถึงหากไม่ใช่สถานการณ์บู๊ล้างผลาญเหมือนหลุดออกมาจากพล็อตภาพยนตร์ไซไฟอย่างหุ่นยนต์ไล่ฆ่ามนุษย์

ก็น่าจะเป็นความกังวลว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงาน ทำให้มนุษย์ที่ไม่ปรับตัว ไม่มีทักษะพิเศษ ทำงานเช้าชามเย็นชามไปวันๆ ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่จะถูกนายจ้างปลดออกและรับหุ่นยนต์เข้ามาทดแทน

แต่เราอาจจะนึกไม่ถึงหรือไม่ทันได้นึกว่าหุ่นยนต์อาจจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการใช้ชีวิตและวิธีคิดของลูกหลานของเราด้วย

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีแนวโน้มจะทำอะไรเหมือนๆ กันเพื่อไม่ให้ตัวเองแปลกแยกโดดเดี่ยว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อการถูกกดดันจากเพื่อนฝูงและคนรอบข้างและยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะใช้ในการประมวลผลว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองต้องการอย่างแท้จริงก็มีแนวโน้มที่จะถูกเพื่อนกดดันให้ทำสิ่งที่ไม่อยากทำ

ซึ่งนี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่อะไร พ่อแม่ผู้ปกครองครูบาอาจารย์ก็รับมือกับปัญหาเรื่องนี้กันมานานแสนนานแล้ว

แต่สิ่งที่ทำให้แรงกดดันจากคนรอบข้างที่มีต่อเด็กนั้นเป็นเรื่องที่อาจจะต้องรื้อถอนกันมาเพื่อวางแนวทางใหม่ทั้งหมด ก็คือการที่ล่าสุดนักวิจัยค้นพบว่าเด็กๆ ก็ถูกแรงกดดันแบบเดียวกันนี้จากหุ่นยนต์ได้เหมือนกัน

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Science Robotics ระบุว่า จากการทดลองโดยจับคู่เด็กกับหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์น่ารักๆ เพื่อให้หุ่นยนต์คอยป้อนคำตอบที่ผิดให้ในระหว่างที่เด็กกำลังทำข้อสอบง่ายๆ นั้นพบว่า

เด็กก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อสิ่งที่หุ่นยนต์บอก และตอบคำถามผิดตามไปด้วย

 

การทดลองครั้งนี้ทำกับกลุ่มเด็กอายุ 7-9 ขวบ

โดยจะมีหุ่นยนต์หน้าตาน่ารักสามตัวนั่งอยู่เบื้องหน้าจอสองจอ

จอหนึ่งแสดงผลเป็นเส้นตรงหนึ่งเส้น

อีกจอมีภาพของเส้นตรงสามเส้นที่มีความยาวแตกต่างกัน

ภารกิจที่เด็กจะต้องทำคือการจับคู่ว่าเส้นตรงสามเส้นนั้น เส้นไหนมีความยาวเท่ากับเส้นตรงหนึ่งเส้นที่อยู่ในหน้าจอแรก

ซึ่งก็ดูเป็น ถามทั่วไปที่พบเห็นได้ในหนังสือเรียนของเด็ก และเด็กน่าจะสามารถเลือกคำตอบที่ถูกต้องได้แบบไม่ยากเย็นอะไร

ความสับสนเกิดขึ้นเมื่อหุ่นยนต์ตอบก่อน และเลือกคำตอบที่ผิดตามที่ได้ถูกตั้งโปรแกรมเอาไว้

ทำให้เด็กที่เลือกคำตอบตามหุ่นยนต์ก็ตอบผิดไปด้วย

ในขณะที่ผู้ใหญ่จะไม่แยแสคำตอบของหุ่นยนต์เลย แต่จะเลือกคำตอบที่ตัวเองคิดว่าถูก

นักวิจัยบอกว่า ตามปกติแล้วมนุษย์เรามักจะเลียนแบบพฤติกรรมของคนอื่น โดยอาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการตัดสินใจของตัวเองเพื่อให้เหมือนกับคนรอบข้าง แม้ว่าสิ่งที่เลือกทำนั้นจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องก็ตาม

(คุณผู้อ่านที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ก็น่าจะเจอเหตุการณ์นี้บ่อยๆ กี่ครั้งมาแล้วที่เราลบคำตอบในข้อสอบที่เรามั่นใจเหลือเกินว่าถูก แต่พอแอบชะเง้อดูคำตอบเพื่อนแล้วเห็นว่าตอบไม่ตรงกันสักคนสองคน เราก็พร้อมจะหยิบยางลบขึ้นมาลบคำตอบแล้วเปลี่ยนใหม่ให้เหมือนคนอื่นแล้ว)

แต่ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้ใหญ่กลับไม่สนใจเลยว่าหุ่นยนต์จะเลือกคำตอบข้อไหน แต่ยืนยันที่จะตอบตามสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูก

ซึ่งแปลว่าธรรมชาติของการปรับเปลี่ยนตัวเองให้เหมือนคนอื่นนั้นจะถูกเก็บไว้ใช้กับมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น และไม่มีผลครอบคลุมมาถึงหุ่นยนต์

 

ในทางกลับกัน กลุ่มเด็กๆ กว่าร้อยละ 75 ในการทดลองกลับเลือกตอบตามหุ่นยนต์แม้จะเป็นคำตอบที่ผิด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหุ่นยนต์ส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ในวัยผู้ใหญ่กับวัยเด็กไม่เหมือนกัน โดยจะส่งผลต่อเด็กมากกว่า

ที่มาของพฤติกรรมนี้น่าจะเกิดจากการที่ผู้ใหญ่กับเด็กมองหุ่นยนต์ไม่เหมือนกันค่ะ ผู้ใหญ่มองว่าหุ่นยนต์ก็คือหุ่นยนต์ ไม่มีเลือดเนื้อ ไม่มีอะไรเหมือนกับตัวเอง ในขณะที่เด็กมองข้ามความเป็นพลาสติกและเครื่องยนต์กลไกทั้งหลาย และเห็นหุ่นยนต์เป็นคนที่มีบทบาทในสังคมเท่าๆ กับตัวเอง

เมื่อเด็กไม่ได้มองหุ่นยนต์เป็นเครื่องจักร แต่มองว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในสังคมเหมือนกัน ก็แปลว่าหุ่นยนต์สามารถส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของเด็กได้ พอๆ กับมนุษย์คนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเด็กนั่นเอง

ถามว่าแล้วความสำคัญของผลวิจัยนี้คืออะไร ทำไมเราจะต้องแคร์ว่าเด็กคิดกับหุ่นยนต์ยังไงด้วยล่ะ

สำหรับซู่ชิง คำตอบก็คือ นี่เป็นพฤติกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ประวัติศาสตร์ไม่มีเรื่องแบบเดียวกันให้เราศึกษา เราไม่มีข้อมูลว่าการมีหุ่นยนต์มาปะปนในชีวิตประจำวันจะส่งผลอย่างไรต่อพัฒนาการและการตัดสินใจของเด็กบ้าง ดังนั้นนี่จึงถือเป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน

อีกประการก็คือ เราใช้หุ่นยนต์เข้ามาทำหน้าที่ดูแลสมาชิกภายในบ้านมากขึ้น จากการเดินชมงานจัดแสดงเทคโนโลยี CES มาหลายปี ซู่ชิงได้เห็นว่าหุ่นยนต์ภายในบ้านส่วนใหญ่มักจะถูกออกแบบมาเพื่อให้มีประโยชน์ใช้สอยหลักๆ คือการดูแลเด็กที่อยู่ภายในบ้าน ทำให้หุ่นยนต์ประจำบ้านมาพร้อมความสามารถในการพูดคุยกับเด็ก ชวนเด็กเล่นเกม สอนหนังสือให้เด็ก ดูแลความปลอดภัย และเป็นแม้กระทั่งเพื่อนที่ช่วยให้เด็กอุ่นใจในยามที่พ่อ-แม่ไม่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งก็แปลว่าในอนาคตอีกไม่นานข้างหน้า หุ่นยนต์จะมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงเด็กมากขึ้น

หากพ่อ-แม่ในปัจจุบันกังวลว่าพี่เลี้ยงเด็กที่ตัวเองจ้างมาอาจจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้เด็ก ทำให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์

ก็น่าจะพอมองเห็นว่าเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้อาจจะเกิดขึ้นกับการเลือกใช้หุ่นยนต์เป็นพี่เลี้ยงด้วย

ดังนั้น คนในสังคมจึงควรมีส่วนร่วมในการช่วยออกแบบว่าหุ่นยนต์แบบไหนจึงจะเป็นหุ่นยนต์ที่เราจะวางใจให้คลุกคลีและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกของเรา

ทว่าขึ้นชื่อว่าเทคโนโลยี ประโยชน์ใช้สอยย่อมมาพร้อมภัยที่อาจเกิดขึ้น

และภัยที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่ภัยที่มาจากหุ่นยนต์ล้วนๆ แต่เป็นภัยที่มีมนุษย์นี่แหละเข้ามาเป็นตัวเติมเชื้อไฟให้น่ากลัวขึ้น

ในกรณีนี้ก็หมายถึงการที่หุ่นยนต์สำหรับเด็กอาจถูกแฮ็กเกอร์เจาะระบบเข้ามาด้วยจุดประสงค์มิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการล้วงข้อมูลส่วนตัว หรือจุดประสงค์น่ากลัวอย่างการหลอกล่อให้เด็กนำตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งเด็กที่มีแนวโน้มจะเชื่อหุ่นยนต์อยู่แล้วเพราะคิดว่าหุ่นยนต์เป็นเพื่อน ก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าตัวเองกำลังสื่อสารกับแฮ็กเกอร์มิจฉาชีพผ่านหุ่นยนต์เพื่อนรักแสนซื่อที่เด็กไว้ใจ

เรื่องนี้ป้องกันได้ด้วยการสอนเด็กให้มีภูมิคุ้มกันที่กล้าแกร่งและเข้าใจกลไกของหุ่นยนต์มากขึ้น

ซึ่งจะว่าไปก็คงไม่แตกต่างสักเท่าไหร่กับการสอนให้เด็กยืนหยัดในความต้องการของตัวเองและไม่ไหลไปกับคำชวนเชื่อของคนรอบข้างนั่นแหละค่ะ