วางบิล/ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/สู่ร่มกาสาวพัสตร์ ปาราชิก-ขาดจากความเป็นพระ

วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

ปาราชิก-ขาดจากความเป็นพระ

พระมหาสวัสดิ์เคยเล่าการปลงอาบัติให้พระปานฟังว่า เพราะพระวินัย 227 ข้อของภิกษุที่ทำให้ต้องอาบัติมีตั้งแต่อาบัติร้ายแรงที่เมื่ออาบัติแล้วต้องพ้นจากความเป็นภิกษุ อุปสมบทอีกไม่ได้ คืออาบัติปาราชิก 4 ข้อ กับอาบัติที่หนักแต่ยังคงเป็นภิกษุต่อไป คือสังฆาทิเสส 13 ข้อ แต่ต้องไปอยู่กรรม โดยประพฤติวัตรอย่างหนึ่งเพื่อทรมานตนให้ภิกษุอื่นได้เห็นระยะเวลาหนึ่งจึงพ้น
ส่วนอาบัติทั่วไป เพียงปลงอาบัติกับภิกษุด้วยกันแล้วจึงพ้นโทษ มีมากถึง 210 ข้อ นับแต่อาบัติเล็กน้อย เช่น เดินเหยียบต้นหญ้า การตบยุง หมายถึงอากัปกิริยา ที่แม้ระมัดระวังแล้วยังอาจล่วงละเมิดได้
การปลงอาบัติของพระคือการบอกอาบัติกับภิกษุอีกรูปหนึ่งให้ทราบตามคำบาลี ซึ่งพระปานค้นหาคำแปลความหมายในภาษาไทยว่า
ภิกษุพรรษาอ่อนกว่าว่า 3 จบ “ขอแจ้งให้ทราบว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหลายตัว” และ “อาบัติเหล่านั้น เป็นอาบัติหนักเบาหลายตัว” (3 หน) “ข้าพเจ้าต้องอาบัติหลายตัว ต่างวัตถุกัน ข้าพเจ้าขอแสดงอาบัตินั้น” (หนเดียว)
ภิกษุที่รับปลงอาบัติ พรรษาแก่กว่า ถามว่า “เธอเห็นอาบัตินั้นหรือ” ภิกษุผู้พรรษาอ่อนกว่าตอบว่า “ใช่ ข้าพเจ้าเห็น” ภิกษุพรรษาแก่กว่าสอนว่า “เธอพึงสำรวมต่อไป” ภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่ารับปากว่า “ดีแล้วท่าน ข้าพเจ้าจะสำรวมไว้ด้วยดี แม้วาระที่สอง ดีแล้วท่าน ข้าพเจ้าจะสำรวมไว้ด้วยดี แม้วาระที่สาม ดีแล้วท่าน ข้าพเจ้าจะสำรวมไว้ด้วยดี นับแต่นี้ต่อไป ข้าพเจ้าจักสำรวมกายไว้ด้วยดี นับแต่นี้ต่อไปข้าพเจ้าจักสำรวมวาจาไว้ด้วยดี นับแต่นี้ต่อไป ข้าพเจ้าจักสำรวมใจไว้ด้วยดี”
ภิกษุพรรษาแก่กว่าที่ปลงอาบัติกับภิกษุพรรษาอ่อนกว่าว่าด้วยข้อความเดียวกัน เป็นอันจบการปลงอาบัติ นับว่าภิกษุที่จะเข้าร่วมฟังหรือทบทวนปาติโมกข์ มีศีลเสมอกันทั้ง 227 ข้อ

พระมหาสวัสดิ์ยังบอกด้วยอารมณ์ขันถึงกิริยาของพระที่ปลงอาบัติต้องนั่งยองๆ พนมมือหันหน้าเข้าหากันและว่าคำปลงอาบัติต่อกัน แล้วบอกว่า หากเห็นพระนั่งยองๆ หันหน้าเข้าหากันสองรูป คือพระปลงอาบัติ แต่หากใครถามว่า แล้วเห็นท่านนั่งยองๆ รูปเดียวล่ะ ให้ตอบว่า “ก็เยี่ยวสิโว้ย” เพราะพระต้องนั่งลงปัสสาวะ จะยืนเหมือนฆราวาสไม่ได้ เมื่อเข้าห้องสุขาสาธารณะจึงต้องเข้าไปในห้องส้วม ยืนแอ่น “ฉี่” หน้าโถไม่ได้
คำแปลหรือความหมายในปาราชิกทั้ง 4 ข้อ พระปานอ่านจากพระวินัยปิฎกที่มีผู้แปลและชำระจากคำบาลีไว้ มีความหมายชัดเจนถึงการละเมิดหรือล่วงปาราชิกทั้ง 4 ข้อแล้วกลับมาเป็นภิกษุไม่ได้อีกตลอดชีวิต ด้วยการเปรียบเทียบให้เห็นตั้งแต่ปาราชิกบทที่ 1 ว่าด้วยการเสพเมถุน ภิกษุเสพเมถุนต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุ เปรียบเสมือนคนถูกตัดศีรษะ แม้จะนำศีรษะมาต่อเข้ากับร่างก็ไม่อาจมีชีวิตได้
ปาราชิกสิกขาบทที่ 2 ว่าด้วยการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ภิกษุรับทรัพย์มีราคาตั้งแต่ 5 มาสก (1 บาท) ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากการเป็นภิกษุเปรียบเหมือนใบไม้หลุดจากขั้วไม่อาจมีความเขียวสดอีกได้
ปาราชิกสิกขาบทที่ 3 ว่าด้วยการพรากกายมนุษย์ ภิกษุมีเจตนาฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ เปรียบเหมือนแผ่นหินหนาที่แตกเป็นเสี่ยงๆ ไม่อาจประสานเข้ากันได้อีก
ปาราชิกสิกขาบทที่ 4 ว่าด้วยการกล่าวอุตริมนุสธรรม ภิกษุอวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตัวตน ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ เปรียบเหมือนตาลยอดด้วน ไม่อาจงอกขึ้นมา
สิกขาบทว่าด้วยปาราชิกทั้ง 4 บทมีคำอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนว่าเมื่อล่วงละเมิดแล้วจะเป็นเช่นใด

สิกขาบทอันเป็นการล่วงอาบัติที่เกิดขึ้นมิได้เรียงเป็นลำดับก่อนหลัง หากเกิดเหตุใดอันจะเป็นอาบัติที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ต้องเกิดแต่เหตุในเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วมีผู้กราบทูลถึงความผิด พระพุทธองค์จึงบัญญัติไว้เป็นอาบัติ และว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร
เมื่อมารวบรวมเป็นหมวดเป็นหมู่เป็นพระวินัยปิฎกจึงรวบรวมไว้ตั้งแต่อาบัติหนักขาดจากความเป็นพระภิกษุถึงอาบัติเบาที่ภิกษุต้องประจานตัวเองต่อหน้าภิกษุด้วยกันว่าต้องอาบัติข้อนั้นข้อนี้ ซึ่งว่าเป็นการรวม ไม่แยกว่าเป็นอาบัติข้อใด
ส่วนอาบัติปาราชิกและอาบัติสังฆาทิเสส เป็นอาบัติที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องมีประจักษ์พยานรู้เห็น และในสมัยหลังต้องมีการสอบสวนทวนความจะกล่าวหากันลอยๆ มิได้
เพราะถือเป็นโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิตจากความเป็นภิกษุไปทั้งชีวิต

ในส่วนของอาบัติปาราชิกว่าด้วยการเสพเมถุน มีเรื่องจากสมัยพุทธกาล เป็นครั้งแรกที่พระพุทธองค์รับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพื่อชำระสะสางความผิดของภิกษุ เป็นเรื่องพระสุทินนำความที่ตนเสพเมถุนกับภรรยาเก่ามาบอก โดยเบื้องต้นพระพุทธองค์ทรงถามพระสุทินก่อนว่า ได้เสพเมถุนกับภรรยาเก่าจริงหรือ?
เมื่อท่านรับว่าจริง ก็ทรงติเตียนรุนแรงว่า การกระทำอย่างนั้นไม่เหมาะสมแก่สมณะเลย แล้วตรัสตอนหนึ่งว่า
“โมฆบุรุษ! องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในปากอสรพิษที่มีพิษร้าย ยังดีกว่าที่จะสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคาม องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในปากงูเห่า ยังดีกว่าที่จะสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคาม องค์กำเนิดของเธอสอดเข้าในหลุมถ่านที่ไฟลุกโชน ยังดีกว่าที่เธอจะสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคาม
“นั่นเพราะว่า ภิกษุผู้สอดองค์กำเนิดเข้าในปากอสรพิษเป็นต้นนั้น อย่างมากก็แค่ตาย ตายไปแล้วก็ไม่ตกอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนภิกษุผู้สอดองค์กำเนิดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคามนั้น ตายแล้วต้องตกอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”
จากนั้น ทรงบัญญัติปาราชิกบทที่ 1 ว่า
“ภิกษุใดถึงพร้อมด้วยสิกขาและธรรมเนียมเลี้ยงชีพร่วมกันของภิกษุทั้งหลายแล้ว ไม่กล่าวคืนสิกขา ไม่ได้ทำให้แจ้งความเป็นผู้ถอยกำลัง (คือความท้อแท้) จะพึงเสพเมถุนโดยที่สุดแม้ในเดรัจฉานตัวเมีย ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก ไม่มีสังวาส”
เฉพาะการเสพเมถุนอย่างไรจึงเป็นปาราชิก มีคำอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า เสพเมถุนในทวารเบา ในทวารหนัก ของหญิง ของชาย ของคนสองเพศ ของคนไม่มีเพศ (กะเทย) ของอมนุษย์ เช่น ยักษ์ เปรต ของสัตว์เดรัจฉานไม่ว่าเพศใด
เสพเมถุนแต่ไม่สำเร็จเพียงแต่องค์กำเนิดจ่อเข้าไปแค่ชั่วเมล็ดงา แม้ในศพที่ช่วยให้สำเร็จความใคร่ แม้ถูกบังคับ แต่มีอารมณ์พอใจ แม้แต่กับตัวเองยอมให้ผู้อื่นเสพเมถุนทางทวารหนักของตน ภิกษุหลังอ่อน มีองค์กำเนิดยาวเสพกับตัวเอง เป็นปาราชิก