“พรเพชร” เปิดหมดเปลือก 4 ปี ในหัวโขนประมุขนิติบัญญัติ ไม่มีเครดิต แต่ไม่เคยแพ้เกมกฎหมาย

4ปีเต็มที่ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปฏิบัติหน้าที่เป็น “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” ทำหน้าที่ออกกฎหมาย หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557

สนช. ในการกำกับดูแลของ “พรเพชร” อนุมัติกฎหมายแล้วทั้งสิ้นเกือบ 300 ฉบับ

ตลอด 4 ปีในยุค คสช. อาจเปรียบได้ว่า “พรเพชร” เป็นกุนซือ-มือกฎหมาย ที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ไม่ผิดแผกจากวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายรัฐบาล หรือมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

เพราะ “พรเพชร” เป็น 1 ในทีมร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ต้นกำเนิดมาตรา 44 ที่ยังแผ่อิทธิพลถึงปัจจุบันแม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2560 ขึ้นมาใช้แทน

จ๊อบเดสคริปชั่นการออกกฎหมาย-หน้าที่การเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ-เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงแผนปฏิรูปสารพัดแผนของรัฐบาล ทำให้ “พรเพชร” และ สนช. อีก 195 คน ไม่ต่างจาก Key player ของ คสช.

31 กรกฎาคม 2557 จนถึงบัดนี้ “พรเพชรและคณะ สนช.” เป็นมือ-ไม้นิติบัญญัติให้กับรัฐบาลมา 4 ปี เขากล่าวถึงการทำหน้าที่นี้ว่า

“เป็นภารกิจสำคัญมากที่จะดำรงสถานะองค์กรนิติบัญญัติให้เป็นที่ยอมรับนับถือแก่นานาชาติ ว่าทำหน้าที่นี้เป็นไปตามครรลองของระบบนิติรัฐ สนช. ต้องดูว่ากฎหมายที่ออกไป นานาประเทศยอมรับได้หรือไม่ เพราะ สนช. มาจากสภาแต่งตั้ง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากประชาชน กฎหมายจะต้องมีคุณภาพ มีหลักนิติธรรม the rule of law”

“เราระมัดระวังอยู่เสมอในเรื่องเหล่านี้ มีวิปประสานงานรัฐบาล คณะกรรมการกลั่นกรองกฎหมายเข้าสภา จึงมีกฎหมายจำนวนหนึ่งที่ถูกตีตกตั้งแต่ต้น โดยกลไกของวิป กฎหมายที่ไม่ผ่านอาจให้ปรับปรุงมาใหม่ หรือไม่รับเลย เช่น กฎหมายกระทรวง ทบวง กรม ที่เสนอมาโดยไม่จำเป็น”

“พรเพชร” หยิบยกกฎหมายชิ้นโบแดงขึ้นมาโชว์ เช่น กฎหมายที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ตัดขั้นตอนราชการต่างๆ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพันธสัญญาที่ทำกับต่างประเทศ ซึ่งเมื่อก่อนรัฐบาลเลือกตั้งพยายามทำแต่ด้วยกลไกที่รัฐบาลอาจไม่ยาวนานพอ ทำให้กฎหมายค้างอยู่ แต่ สนช. สามารถเคลียร์กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพันธสัญญาได้ ปัญหาการค้ามนุษย์ การละเมิดลิขสิทธิ์ อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด ได้ถูกนำมาแก้ไข

ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวพันกับ “โรดแม็ป” เลือกตั้ง แม้จะผ่านการเห็นชอบของ สนช. ไปแล้ว คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง “พรเพชร” เล่าเบื้องหลัง โดยยอมรับว่าเหนื่อยแสนเหนื่อย และอะไรเป็นเหตุที่ทำให้โรดแม็ปเลือกตั้งขยับไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562

“อยากพูดว่าการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ สนช. เหนื่อยมากในการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่วมกับ กรธ. เพราะการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในชั้น กมธ. มีเวลาจำกัด 60 วัน ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้ตั้ง กมธ. ร่วมกับ กรธ. และ กกต. ทั้งที่รัฐธรรมนูญในบทหลัก การพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาทุกฉบับ”

“ถ้าใช้ตามรัฐธรรมนูญในบทหลัก ส่งกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อน จะสามารถคำนวณเวลาตามไทม์ไลน์เลือกตั้งได้ สามารถเร่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ ถ้าผมเป็นคนเขียนบทเฉพาะกาล ผมจะให้กฎหมายลูกส่งศาลรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ตัดปัญหาไป”

“แต่การตั้ง กมธ.ร่วมทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. เพราะเป็นฉบับสุดท้าย ซึ่งการพิจารณาในชั้น กมธ.ร่วม ทั้ง สนช. และ กรธ. ต่างก็เห็นชอบการแก้ไข พร้อมทั้งผ่านการพิจารณาวาระ 2-3 ของ สนช. เกือบเป็นเสียงท่วมท้นเอกฉันท์ และอภิปรายในปัญหาเชื่อว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ”

“แต่มีกระแสขึ้นมาทักท้วงหนักมาก และจำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ใน 2 ประเด็น ผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยไม่แจ้งเหตุที่สมควร ไม่ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง กับข้าราชการบริหารท้องถิ่น กับเรื่องการช่วยคนพิการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หาว่าไม่ใช่ลงคะแนนลับ ผมจึงมั่นใจมากว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ผมเชื่อตลอดมา และทุกวันนี้ยังไม่คิดว่ากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ขัดรัฐธรรมนูญ แม้แต่วันเดียว ไม่ใช่ผมจะมาตอแยหรืออะไร”

“แต่โชคดีที่รัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 2 เดือน ทำให้โรดแม็ปขยับนิดหน่อย ซึ่งแก้ปัญหาได้โดยบริหารจัดการร่นเวลาเข้ามาได้”

“พรเพชร” เชื่อว่าตนเอง “เครดิต” น้อย พูดอะไรไปสังคมไม่ค่อยเชื่อ-ไม่เข้าใจ-ไม่เชื่อถือ

“นักการเมืองก็โจมตีทั้งนั้นว่า สนช. ทำกฎหมายไม่รอบคอบ เป็นเรื่องเสียใจมาก เพราะความเห็นของผมอธิบายอย่างไรสังคมไม่เข้าใจ ผมอาจมีเครดิตน้อยผู้คนยังไม่เชื่อถือ เคยโดนมาแล้วในสมัยเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ ก็มีกระแสด่าผมทั้งเมือง ในที่สุดผมก็ชนะในศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ไปเปิดประวัติศาสตร์ดูได้ กฎหมายทุกฉบับที่ผมส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ผมไม่เคยแพ้”

อย่างไรก็ตาม มีบางผลงานการ “ยกมือ” โหวตกฎหมายของ สนช. ในรอบ 4 ปี ที่ถูกสังคมวิจารณ์ แต่อาจถูกใจผู้มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เช่น

เป็นต้นกำเนิด “คำถามพ่วง” ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโหวตว่าต้องการให้ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน มีส่วนร่วมเลือกนายกฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรกหลังการเลือกตั้งหรือไม่ รวมถึงเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี บวกแผนปฏิรูป 11 ด้าน

นำมาสู่ข้อครหาว่า สนช. เป็น Key player ทางการเมือง เป็นบันไดไต่อำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตีตั๋วกลับมาเป็นนายกฯ รอบสอง

“บางครั้ง สนช. ก็เป็น Key player ยอมรับว่าใช่… แต่ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า สนช. รับเรื่องเหล่านี้ตามที่รัฐบาลส่งมา เช่น บทบาทของ ส.ว. เราเห็นว่า ส.ว. ต้องมีบทบาท มิเช่นนั้นแผนการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญจะเดินต่อไปไม่ได้จึงต้องให้ ส.ว. มีบทบาทมากขึ้น มีการแก้ไขในบทเฉพาะกาลให้ ส.ว. มีส่วนเลือกนายกฯ แต่ทำไปด้วยความมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีรอยต่อ เชื่อมต่อที่ไปได้โดยไม่ถูกพับฐาน และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ”

แต่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ สมัย 2 หรือไม่ “พรเพชร” เห็นแย้ง

“ถูกมองได้อย่างนั้น แต่จะเห็นว่าไม่ได้สะดวกที่จะไปจัดตั้งรัฐบาล เพียงแต่ สนช. ต้องการให้มี ส.ว. เปลี่ยนผ่าน ให้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปดำเนินการต่อไปอย่างราบรื่น เพื่อให้มีรอยต่อเชื่อมไป ไม่ได้ขาดสะบั้น เดินไปแล้วยุติ แต่ให้มีรอยต่อทางเดินเล็กน้อย ส่วนที่ให้ ส.ว. โหวตชื่อนายกฯ คนนอกได้ ก็เพื่อที่จะไปดูแลว่าจะได้รัฐบาลที่ดี ส่วนนี้ไม่ได้หมายถึงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เหตุผลยังไม่เพียงพอ”

วาระของ สนช. จะไปสิ้นสุดเมื่อมีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ยังเป็น Key player สำคัญให้กับ คสช. ได้อีกหลายยก