การศึกษา/กฎกระทรวง ‘คุมประพฤติ’ ‘ลิดรอน’ สิทธิ ‘น.ร.-น.ศ.’?!?

การศึกษา

กฎกระทรวง ‘คุมประพฤติ’

‘ลิดรอน’ สิทธิ ‘น.ร.-น.ศ.’?!?

กลายเป็นประเด็นร้อนๆ หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่…) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอแก้ไขเพิ่มเติม
ซึ่ง ศธ.มองว่ากฎกระทรวงฉบับดังกล่าวจะช่วยกำกับดูแลความปลอดภัยของนักเรียน นิสิตนักศึกษา ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ขณะที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาบางส่วนกลับมองว่าเป็นการ “ละเมิด” หรือ “ลิดรอน” สิทธิส่วนบุคคลหรือไม่??
ทั้งนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่บัญญัติให้นักเรียนและนักศึกษาต้องประพฤติตนตามระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษา และตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้มีความเหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา จึงออกเป็นกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548
แต่ต่อมา ศธ.ได้ทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายตามพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ.2548 และเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมความประพฤติที่เหมาะสม รับผิดชอบต่อสังคม และคำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา
โดยได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียแล้ว

สําหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 ที่เกี่ยวกับลักษณะความประพฤติต้องห้ามของนักเรียนและนักศึกษา มีดังนี้
1. กำหนดเพิ่มเติมห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุม อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
2. การแก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสม จากเดิมที่ห้ามเฉพาะการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เป็นการห้ามไม่จำกัดสถานที่ โดยตัดคำว่า “ในที่สาธารณะ” ออก และกำหนดเพิ่มเติมห้ามกระทำการลามกอนาจารด้วย
และ 3. การแก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการออกนอกสถานที่พัก เพื่อเที่ยวเตร่ หรือรวมกลุ่ม ที่เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น จากเดิมห้ามเฉพาะเวลากลางคืน เป็นการห้ามไม่จำกัดเวลา โดยตัดคำว่า “เวลากลางคืน” ออก
ซึ่งกฎกระทรวงฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จะมีผลบังคับใช้เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นายชลำ อรรถธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) รักษาการแทนเลขาธิการ กช. ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุถึงสาเหตุที่ต้องแก้ไขร่างกฎกระทรวงว่า เนื่องจากกฎกระทรวงฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันถูกใช้มาเป็นเวลานาน ขณะที่สถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องปรับแก้เพื่ออุดช่องโหว่ให้ครอบคลุม เพื่อให้สถานศึกษากำกับ ควบคุม ดูแลนักเรียนได้อย่างเต็มที่ และเหมาะสม
โดยภาพรวมแล้ว กฎกระทรวงฉบับนี้จะเข้าไปดูแลกรณีนักเรียนและนิสิตนักศึกษาที่อายุต่ำกว่า 18 ปี รวมกลุ่มมั่วสุม ทำสิ่งที่สุ่มเสี่ยงผิดต่อกฎหมาย เช่น รวมกลุ่มมั่วสุมยาเสพติด มั่วสุมทางเพศ หรือการรวมกลุ่มของเด็กแว้น
ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดกับนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมากกว่า
กฎกระทรวงดังกล่าวยังให้อำนาจสถานศึกษา เจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) และศูนย์เสมารักษ์ ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เข้าไปดูแลเฝ้าระวังไม่ให้นักเรียน นักศึกษา กระทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในสถานที่ และเวลาได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในที่ “ลับตา”
สำหรับสถานที่ที่พบว่านักเรียน นักศึกษา ชอบแสดงพฤติกรรมชู้สาวบ่อยครั้ง มีทั้งสวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า ร้านเกม โดยลักษณะของพฤติกรรมชู้สาวที่ไม่เหมาะสม มีทั้งกอด โอบไหล่ โอบเอว หอมแก้ม รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งช่วงหลังพบพฤติกรรมดังกล่าวน้อยลง
ด้านนักวิชาการจากรั้วจามจุรี นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว เพราะเชื่อว่าจะเฝ้าระวัง เนื่องจากขณะนี้มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดอันตรายในสังคมจำนวนมาก แต่ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้จริงจัง และจะดูแลเฝ้าระวังได้ครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความสัมพันธ์ชู้สาว ที่ได้จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเบื้องต้น พบว่ามีเด็กและเยาวชนประมาณ 1.1 แสนคน อายุระหว่าง 11-15 ปี ต่ำสุด 8 ปี ที่มีปัญหาท้อง แท้ง ทิ้ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ
ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ ศธ.ต้องเร่งแก้ไขด่วน

แม้ ศธ.จะยืนยันว่าร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ เป็นเพียงการแก้ไขจากกฎหมายที่มีอยู่เดิม เพราะต้องการให้การกำกับ ดูแล ช่วยเหลือ นักเรียนและนิสิตนักศึกษา เป็นไปอย่างเหมาะสม
แต่นิสิตนักศึกษาบางส่วนยังคงมองต่าง และเห็นว่าข้อความในกฎกระทรวงดูเกินกว่าเหตุ โดยนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) น.ส.สวรรยาก์ วสุรัตนานนท์ ระบุว่าการปรับแก้กฎกระทรวงฉบับนี้น่าจะแก้ปัญหาได้แค่บางส่วน และดูกว้างเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาในการตีความ เช่น การรวมกลุ่ม มั่วสุม อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน จะตีความอย่างไร
การออกกฎดังกล่าวจึงดูเกินกว่าเหตุ ทำให้นักเรียนและนักศึกษาถูกลิดรอนสิทธิ
พร้อมทั้งเสนอให้ ศธ.ทบทวน และสอบถามความความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน…
ขณะที่กลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) นำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ประธานสหภาพ และนายธนวัฒน์ วงศ์ไชย ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รวมตัวเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึก เรื่องข้อเรียกร้องของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ผ่าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.
เพราะเห็นว่าร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการศึกษาเรียนรู้ของนักเรียนและนักศึกษา เนื่องจากมีข้อบัญญัติซึ่งรุกล้ำความเป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ มีเนื้อความหมายกำกวม สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นเครื่องมือสำหรับปิดกั้นสิทธิทางการเมือง และเสรีภาพทางการแสดงออกของนักเรียนและนักศึกษา
สนท.จึงเรียกร้องให้รัฐบาล และ ศธ.ยกเลิกร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว โดยให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นเจ้าของชีวิตของตนในตัวนักเรียนและนักศึกษา พร้อมทั้งเรียกร้องให้ ศธ.ให้สัญญาว่าสิทธิเสรีภาพของนักเรียน นักศึกษาจะไม่ถูกคุกคาม เพราะวันหนึ่งหากมีการเปลี่ยนรัฐบาล รัฐมนตรี หรือแม้แต่ปลัด ศธ. จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่ากฎกระทรวงนี้จะไม่ถูกนำมาใช้ปิดปากนักเรียนและนักศึกษาในการแสดงออก
แต่หาก ศธ.และรัฐบาลยืนยันว่ากฎกระทรวงนี้จะต้องดำเนินต่อไป และให้บังคับใช้จริง ก็จะกลับมาอีกครั้ง

ซึ่งประเด็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น นพ.ธีระเกียรติย้ำว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ไม่ละเมิดหรือจำกัดสิทธิไม่ให้นักศึกษาชุมนุมทางการเมือง เพราะ ศธ.มีสิทธิออกกฎกระทรวงในการดูแลความประพฤตินักเรียน และการแก้ไขร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้จะดูเรื่องความประพฤติทั่วไป ไม่มีนัยทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง
เนื่องจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน กำกับดูแลอยู่แล้ว
ต้องจับตาว่า กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาฉบับแก้ไข จะช่วย “คุ้มครอง” หรือ “ลิดรอน” สิทธินักเรียนและนักศึกษากันแน่!!