เด็กไทยเมินเศรษฐศาสตร์จนหลายที่เริ่มปิดคณะ / จับตาปัจจัยเสี่ยงปล่อยกู้บ้าน / วอนรัฐใช้ ม.44 แก้วิกฤตอ้อย และข่าวเศรษฐกิจอื่นๆที่น่าสนใจ

แฟ้มข่าว

กนง.คง ด/บ จับตาปัจจัยเสี่ยงปล่อยกู้บ้าน

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่าผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ว่า กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดย 1 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากร้อยละ 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี โดยเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 26 ของการประชุม ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2558 โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุน การขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

อย่างไรก็ตาม สำหรับความเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ เฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (เสิร์ชฟอร์ยีลด์) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนําไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและภาวะอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางพื้นที่อย่างใกล้ชิด สอดคล้องกับการประชุมร่วม กนง. และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ที่กังวลว่าสถาบันการเงินมีการให้สินเชื่อต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ (LTV) สูงมากเกินไป และอัตราส่วนสินเชื่อต่อรายได้ผู้กู้ (LTI) สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ได้ รวมทั้งพฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน เนื่องจากสถานะหนี้ครัวเรือนยังไม่ปรับตัวดีขึ้น

วอนรัฐใช้ ม.44 แก้วิกฤตอ้อย

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ 4 องค์กรชาวไร่อ้อยที่ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ได้หารือกันเพื่อเตรียมทำหนังสือส่งถึงกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหาวิกฤตราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/2562 ที่คาดว่าจะไม่เกิน 730 บาทต่อตัน ซึ่งถือเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ฤดูปี 2551/2552 เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยเหลือเพียง 11-12 เซนต์ต่อปอนด์เท่านั้น ทำให้ราคาอ้อยฤดูใหม่ที่จะเริ่มเปิดหีบช่วงต้นพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ตกต่ำอย่างมาก ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐจะต้องช่วยเหลือเพราะที่ผ่านมานั้นสามารถใช้กลไกกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ดูแลได้ แต่แนวโน้ม กท. ไม่มีเงินเหลือพอที่จะบริหารจัดการได้ โดยมาตรการระยะสั้นที่จะเสนอ เช่น ให้รัฐใช้ ม.44 แก้ปัญหาให้กองทุนกู้เงินจากธนาคารเพื่อเพิ่มราคาอ้อยให้คุ้มต้นทุนการผลิต

เด็กไทยเมินเศรษฐศาสตร์

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องปรับตัว และขณะนี้เริ่มมีการปิดคณะเศรษฐศาสตร์ หลังจากนักศึกษาเข้ามาสมัครเรียนน้อยลงต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยบางแห่งที่ยังเปิดสอน พบว่ามีนักศึกษาสมัครเรียนลดลงต่อเนื่องปีละ 20-40% เนื่องจากเยาวชนวิตกว่าเมื่อจบการศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์จะสมัครงานยาก เพราะนายจ้างต้องการความรู้ความสามารถเฉพาะด้านมากกว่า อาทิ ธนาคาร เน้นสาขาบัญชี หรือการเงิน การธนาคาร ทำให้หลายมหาวิทยาลัยปรับหลักสูตรสาขาเศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาพื้นฐานแทน โดยมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนมากขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขัน อาทิ การลดค่าเทอม 20-30% ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กให้มากที่สุด อาทิ สาขาด้านอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ หลักสูตรการสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ (สตาร์ตอัพ) รวมถึงเทคโนโลยีดิจิตอล ธุรกิจเกม และสาขาอื่นๆ เนื่องจากเด็กนักเรียนได้เปลี่ยนแนวคิดที่จะไปเป็นผู้ประกอบการมากกว่าการเป็นลูกจ้างของบริษัท

“ขุนคลัง” สั่งแบงก์รัฐคิดดอกถูกหนุนคนมีบ้าน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แม้ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน แต่ยังถือว่าเป็นภาวะที่ประชาชนยังจะสามารถมีบ้านเป็นของตนเองได้ เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้แพงมากและอยู่ในวิสัยที่จะสามารถกู้และผ่อนได้ อย่างไรก็ตาม หากธนาคารพาณิชย์ใดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็ให้ประชาชนหันไปกู้เงินจากธนาคารของรัฐแทนได้ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลคือต้องการให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตนเอง โดยที่ธนาคารของรัฐจะต้องคิดอัตราดอกเบี้ยถูกสุดที่เขาจะดำรงอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม หากธนาคารไหนคิดแพงก็ไปหาธนาคารที่ถูกกว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็ให้ดอกเบี้ยถูก ถ้าธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยแพง ประชาชนก็มาหาธนาคารรัฐได้ ทั้งนี้ ธอส. ก็กำลังจะออกโครงการส่งเสริมให้คนมีบ้านเป็นของตัวเอง โดยยึดให้ผ่อนในอัตราซึ่งใกล้เคียงกับค่าเช่า

คค.ผุด ร.ร.สอนขับรถไฟฟ้ารับ กม.กรมราง

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (คค.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ซ่อมบำรุง ศูนย์ควบคุมการเดินรถ ศูนย์ฝึกอบรม สถานีคลองบางไผ่ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่า เพื่อติดตามความพร้อมของศูนย์ฝึกอบรมในการเตรียมรองรับ พ.ร.บ.กรมราง ที่คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปลายปีนี้ และหากผ่าน สนช. ก็จะมีกฎหมายบังคับให้พนักงานขับรถไฟฟ้าทุกคนจะต้องมีใบขับขี่รถไฟฟ้า

ดังนั้น จึงจะผลักดันให้ รฟม. จัดทำศูนย์ฝึกอบรมหรือโรงเรียนสอนขับรถไฟฟ้าที่พร้อมรองรับ