วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย / เสถียร จันทิมาธร / เศร้า กำสรด วิญญาณสลาย (152)

เสถียร จันทิมาธร

วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย / เสถียร จันทิมาธร

เศร้า กำสรด วิญญาณสลาย (152)

รายละเอียดเหล่านี้ต้องยึดกุมเอาคำอธิบายของท่านกิมย้งเป็นพื้นฐาน นั่นก็คือ
หลังจากที่เอี้ยก่วยแยกทางกับเซียวเล้งนึ่งบนผาลำไส้ขาดในหุบเขาสิ้นไมตรี ไม่นานให้หลังก็ติดตามอินทรีวิเศษไปฝึกฝีมือกลางคลื่นทะเล
หลายปีต่อมา
นอกจากมีกำลังภายในรุดหน้าตามลำดับแล้ว ไม่มีสิ่งใดให้ฝึกปรืออีก ตลอดทั้งวันคิดถึงแต่เซียวเล้งนึ่งจวบจนรูปกายผ่ายผอม ปราศจากความกระตือรือร้นต่อชีวิต มีอยู่วันหนึ่งมันยืนอยู่ที่ชายฝั่งทะเลเป็นเวลานาน
ยามไร้เรื่องราว ทดลองปล่อยหมัดเตะเท้า
เนื่องด้วยมีพลังการฝึกปรือลึกล้ำ พอลงมือก็เปล่งอานุภาพไพศาล เพียงฝ่ามือเดียวถึงกับฟาดกระดองของเต่าทะเลซึ่งอยู่บนชายหาดตัวหนึ่งแตกสลาย
ดังนั้น ใช้ความคิดบัญญัติเพลงฝ่ามือขึ้นมาชุดหนึ่ง
ลงมือด้วยท่วงท่าแตกต่างกับวิชาฝีมือธรรมดาโดยทั่วไป ความร้ายกาจอยู่ที่กำลังภายใน มีทั้งสิ้น 17 กระบวนท่า
การคิดและถึงกับบัญญัติกระบวนท่าถือว่ายอดเยี่ยม แต่ภายในการบัญญัติกระบวนท่าก็ย่อมต้องมีรากฐาน
รากฐานต่างหากที่สำคัญ

ในชีวิตของเอี้ยก่วยได้รับการชี้แนะจากยอดฝีมือไม่น้อย เริ่มจาก 1 ร่ำเรียนเคล็ดข้อความกำลังภายในจากสำนักช้วนจิน
จากนั้น 2 เซียวเล้งนึ่งถ่ายทอดเคล็ดวิชาในคัมภีร์สุรางคนางค์ให้
ระหว่างที่อยู่ในสุสานโบราณ 3 พบเห็นคัมภีร์นพยม 4 อาวเอี้ยงฮงก็ถ่ายทอดลมปราณคางคกและวิธีบังคับชีพจนย้อนกลับ
5 อั้งชิดกงและอึ้งย้งถ่ายทอดเพลงไม้เท้าตีสุนัขให้
ส่วน 6 อึ้งเอี๊ยะซืออธิบายวิชาดรรชนีศักดิ์สิทธิ์และเพลงกระบี่ขลุ่ยหยก
จึงอาจกล่าวได้ว่า นอกจากวิชาดรรชนีเอกสุริยันแล้ว กล่าวได้ว่า เอี้ยก่วยศึกษาวิชาฝีมือของ 1 ภูตบูรพา 2 พิษประจิม 3 ขอทานอุดร และ 4 กลางอิทธิฤทธิ์ สำหรับวิชาของสำนักสุสานโบราณก็เป็นมรรคาอีกสายหนึ่งนอกเหนือจาก 5 สุดยอดฝีมือ
ยามนี้พอหล่อหลอมรวมกันก็กำหนดเป็นอีกแนวทางหนึ่ง
เพียงแต่เอี้ยก่วยหลงเหลือเพียงแขนข้างเดียว ดังนั้น จึงไม่อาศัยการเปลี่ยนแปลงของกระบวนท่าเพื่อเอาชัย หากจงใจสวนทางกับหลักเหตุผลของวิชาบู๊
จึงตั้งชื่อเพลงฝ่ามืออันมันบัญญัติขึ้นว่า “ฝ่ามือกำสรดวิญญาณสลาย”

รากฐานของชื่อเพลงฝ่ามือมิได้อยู่ๆ ก็คิดขึ้น ตรงกันข้าม มีความสัมพันธ์กับ 2 ส่วนซึ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อชีวิตของเอี้ยก่วยเองและต่อกระบวนท่า
กิมย้งยืนยันว่า
คำว่า “ฝ่ามือกำสรดวิญญาณสลาย” เป็นการนำเอามาจากข้อความใน “กาพย์ลาจากจร” หรือกาพย์เปียกฮู่ของกังเอี่ยมที่ว่า
“เศร้ากำสรดวิญญาณสลาย
คลาดคลาหายจากจรไปแสนไกล”
“กังเอี่ยม” เป็นบุคคลในสมัยน่ำปักเซี้ยว มีความรู้ในเชิงอักษรศาสตร์เป็นเลิศ ชนชาวโลกเรียกขานเป็น “กังนึ้ง” แปลว่าบุรุษแซ่กัง
พอย่างเข้าปัจฉิมวัย ความคิดอ่านเริ่มเสื่อมถอย
ในกาพย์กลอนปราศจากข้อความเพราะพริ้ง ผู้คนจึงบอกว่า “กังนึ้ง” เสื่อมสิ้นภูมิปัญญา ภายหลังกลายเป็นสุภาษิตบทหนึ่งใช้เปรียบเปรยคนที่หมดสิ้นภูมิปัญญา
ทั้งหมดนี้เท่ากับสะท้อน 1 กิมย้ง สะท้อน 1 เอี้ยก่วย
กล่าวสำหรับกิมย้ง เท่ากับตอกย้ำยืนยันว่าการเขียนหนังสือของเขามิได้สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ในทางเป็นจริง หากแต่แนบแน่นอยู่กับอักษรศาสตร์ของจีน สามารถนำมาสอดสวมเข้ากับสภาพความเป็นจริงของตัวละครแต่ละตัวได้อย่างงดงาม
กล่าวสำหรับเอี้ยก่วย นี่ย่อมเป็นห้วงตอนที่เหมาะสมที่สุดที่จะสรุปรวบยอดออกมาว่า “เศร้ากำสรดวิญญาณสลาย คลาดคลาหายจากจรไปแสนไกล”

การทำความเข้าใจต่อวิถีแห่งชีวิตของเอี้ยก่วยจึงไม่อาจแยกออกจากรากฐานการบัญญัติขึ้นแห่งฝ่ามือกำสรดวิญญาณสลาย นี่จึงเป็นการแปร “วิกฤต” ให้เป็น “โอกาส”
นี่จึงเป็นการแปรความเศร้าสลด สูญเสีย อาลัยหา ให้กลายมาเป็นพลังฝีมือในการต่อสู้เพื่อเอาชัยฝ่ายตรงกันข้าม
ยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมถึงการไม่ยอมจำนน