อรรถสิทธิ์ พานแก้ว* : ข้อสังเกต การสังเกตการณ์ การเลือกตั้งกัมพูชา 2018

*อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


การเลือกตั้งในหลายประเทศถือเป็นตัวชี้วัดของการเป็นประเทศประชาธิปไตย

แต่สำหรับกัมพูชากับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมากลับไม่เป็นเช่นนั้น

บทความนี้จะเขียนถึงข้อสังเกตต่างๆ ที่ได้มาจากสังเกตการณ์การเลือกตั้งของผู้เขียนในประเทศกัมพูชา 2 ครั้ง

ครั้งแรก ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่เรียกว่าสังกัต (Commune/Sangkat) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2560

และการเลือกตั้งทั่วไป หรือการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2561

ข้อสังเกตที่มีนี้ส่วนหนึ่งจะอธิบายความของประโยคในย่อหน้าที่ผ่านมา

แต่ในขณะเดียวกันก็จะแสดงให้เห็นถึงเหตุผลว่าทำไมการไม่ยอมรับความเป็นประชาธิปไตยของกัมพูชาจากการมีการเลือกตั้งจากบางประเทศในประชาคมโลกก็ไม่ได้ทำให้การเดินหน้าทำให้กัมพูชาได้ทบทวนถึงการจัดการการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้

 

ข้อสังเกตแรกที่ได้จากการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมาคือ บรรยากาศของการเลือกตั้งที่ต่างไปจากการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง

ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดคือ การเลือกตั้งทั่วไปนี้เป็นการเลือกตั้งที่พรรคที่ใหญ่ที่สุดของประเทศซึ่งเป็นพรรครัฐบาล นั่นก็คือพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian”s People Party – CPP) มีความได้เปรียบในการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นอย่างมาก

เพราะพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party – CNRP) ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านที่สามารถแข่งขันกับพรรคประชาชนกัมพูชาได้อย่างสูสีนั้น ถูกตัดสินให้ถูกยุบพรรคด้วยข้อหาทรยศต่อชาติบ้านเมือง คิดคบกับสหรัฐอเมริกาในการวางแผนยึดอำนาจประเทศ

และหัวหน้าพรรคก็ถูกจับกุมและตัดสินจำคุก

ในขณะที่สมาชิกพรรคกว่า 118 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลากว่า 5 ปีเต็ม

เมื่อพรรคคู่แข่งที่ทรงพลังได้ถูกให้ออกไปจากสนามการเลือกตั้งแล้ว ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการแข่งขันที่มีลักษณะเป็นการเลือกตั้งที่มีคุณลักษณะและการมีคุณภาพของความเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด

แต่การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในปีที่ผ่านมา บรรยากาศของการเลือกตั้งนั้นแตกต่างกันอย่างมาก เพราะการเลือกตั้งในปีที่แล้วพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลที่อยู่ในอำนาจมานานกว่า 30 ปีในระดับชาติ คือพรรคที่ครองที่นั่งในสภาท้องถิ่นมากที่สุดจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรค CPP ได้ถูกท้าทายจากพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การเลือกตั้งระดับชาติในปี 2556 ที่พรรค CPP มีคะแนนชนะพรรค CNRP ไปเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

บวกเข้าไปกับกระแสของความต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการผูกขาดอำนาจทางการเมืองกัมพูชาที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของคนชั้นกลางและคนรุ่นหนุ่มสาว

เช่นนี้แล้ว การถูกยุบพรรคของพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ทำให้หมดโอกาสในการลงเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการเปิดทางให้พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ได้มีโอกาสโกยคะแนนและที่นั่งในสภาได้มากอยู่พรรคเดียว

เพราะอย่างนั้นพรรคประชาชนกัมพูชาคือพรรครัฐบาลที่ฐานการบริหารประเทศและในทางการเมืองนั้นได้หยั่งรากลึกไปในสังคมการเมืองของกัมพูชามาอย่างยาวนาน

ดังนั้น ในช่วงของวันก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นแผ่นป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองในจำนวนที่น้อย และในความน้อยของจำนวนป้ายหาเสียงนั้นส่วนมากก็เป็นของพรรคประชาชนกัมพูชาเสียเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงพนมเปญบรรยากาศของช่วงการเลือกตั้งและการหาเสียงนั้นสัมผัสได้น้อย หรือจะเรียกได้ว่าเป็นไปอย่างเงียบเหงา

แต่กับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นบรรยากาศของการหาเสียงมีความคึกคักมากกว่า การติดป้ายโปสเตอร์หาเสียง การจัดขบวนแห่รอบเมืองและการตั้งเวทีย่อยเพื่อหาเสียงนั้นพบได้ทั่วไป และทำให้เกิดความตื่นใจกับบรรยากาศและการตื่นตัวของการใช้สิทธิทางการเมืองของคนกัมพูชาได้ชัดเจน

 

ข้อสังเกตที่สอง เป็นข้อสังเกตต่อเนื่องจากผลของเหตุการณ์ในข้อสังเกตที่หนึ่งคือ การยอมรับถึงการเลือกตั้งและความเป็นประชาธิปไตยของการเลือกตั้งทั้ง 2 จากประชาคมโลกนั้นก็แตกต่างกันอีกอย่างชัดเจน

ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 29 กรกฎาคมนั้น ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป ได้แสดงท่าทีถึงการไม่ยอมรับกระบวนการและรวมถึงผลการเลือกตั้งในครั้งนี้

ที่เห็นได้ชัดยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การปฏิเสธไม่ส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งนานาชาติจากประเทศเหล่านี้เข้าร่วม รวมถึงการบอยคอตการเข้าสังเกตการณ์ของกลุ่มองค์กรเอ็นจีโอนานาชาติ

แต่กับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในปีที่แล้ว การเข้าร่วมสังเกตการณ์ทั้งจากภาครัฐและภาคประชาสังคมเอ็นจีโอนั้นเรียกได้ว่าเป็นการเข้าร่วมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เพราะบรรยากาศของการแข่งขันมีความเข้มข้นและเป็นการเดิมพันทางการเมืองที่สูงระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับพรรคฝ่าย

ทั้งนี้เนื่องจากการแพ้-ชนะในสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นจะหมายถึงอำนาจในการทำหน้าที่เป็นคณะผู้เลือกตั้งวุฒิสภา

แต่ก็ยังถือว่าเป็นสนามของการวัดความนิยมของนายกรัฐมนตรีสมเด็จฯ ฮุน เซน และพรรคประชาชนกัมพูชาของเขาได้เป็นอย่างดีทีเดียว

ทำให้การเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม และราบรื่นให้เกิดขึ้น

การไม่ยอมรับและบอยคอตในครั้งนี้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความแตกต่างที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนคือ การจัดการทางการเมืองเพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการเลือกตั้งของพรรครัฐบาล

หรือจะพูดให้ชัดๆ ก็คือ การไม่มีพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ในการเลือกตั้ง ส.ส.นี้ เพราะถึงแม้ว่าการเลือกตั้งนี้จะมีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครเพื่อลงเลือกตั้งทั้งหมดจำนวน 20 พรรคการเมือง ซึ่งก็เป็นจำนวนที่มากกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งที่แล้วเสียอีก

 

ข้อสังเกตที่สาม เป็นข้อสังเกตจากมุมมองและการให้เหตุผลต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้ของประเทศต่างๆ ว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ในครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งในเชิงพิธีกรรม

แต่กับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นเป็นไปในทางตรงกันข้าม

ทั้งนี้ก็เพราะนอกเหนือไปจากการหายไปของพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งที่สุด การจัดการการบริหารการเลือกตั้งที่แม้ว่าจะดำเนินงานโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งของกัมพูชาที่ถือว่าเป็นองค์กรอิสระนั้น แต่หลายฝ่ายก็ยังมองว่าความสัมพันธ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและรัฐบาลนั้นมีความน่าสงสัยอยู่มาก

และแม้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เป็นการแข่งขันของพรรคเดียว แต่เป็นการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองถึง 20 พรรคนั้น หลายประเทศก็ไม่ได้คิดว่าพรรคการเมืองนอกเหนือไปจากพรรคประชาชนกัมพูชานั้นจะมีโอกาสได้รับการเลือกตั้ง แม้จะมีพรรคฟุนซินเปกของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคสมัชชาเพื่อประชาธิปไตย (League for Democracy Party – LDP) เข้าร่วมกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ก็ตาม แต่ 2 พรรคการเมืองนี้ก็ไม่ได้ชนะการเลือกตั้งและมี ส.ส. ในสภาจากการเลือกตั้งในปี 2013 แต่อย่างใด

และเพราะการเลือกตั้งแบบที่ถูกมองว่าเป็นเพียงพิธีกรรมนี้ก็เป็นเหตุผลของการทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งกัมพูชานั้นเป็นการทำให้เกิดการเดินถอยห่างจากการเป็นประชาธิปไตยออกไปอีก

 

ข้อสังเกตที่สี่ เป็นข้อสังเกตที่เป็นการวิเคราะห์เพื่อหาเหตุผลของการจัดการทางการเมืองของรัฐบาลกัมพูชาและนายกรัฐมนตรีสมเด็จฯ ฮุน เซน ในการเลือกตั้งครั้งนี้

โดยทั่วไปการไปทำหน้าที่ของการสังเกตการณ์การเลือกตั้งของทุกกลุ่มทุกองค์กรนั้นจะมีจุดมุ่งหมายที่คล้ายกันคือ การทำให้เกิดความมั่นใจว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นไปอย่างเสรี เป็นธรรม และมีการเคารพสิทธิทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศ

ซึ่งการเข้าไปมีการสังเกตการณ์นั้นก็จะมีกลุ่มและกิจกรรมที่แตกต่างกันไป จะมีทั้งกลุ่มผู้สังเกตการณ์ที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ในระยะยาวซึ่งอาจจะเป็นช่วง 1-2 เดือน และระยะสั้นในช่วง 7-10 วัน หรือเฉพาะช่วงวันหรือสองวันก่อนการเลือกตั้ง และรวมไปถึงการประสานกับบุคคลและองค์กรในพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล

แต่อย่างไรก็ดี การทำหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในระยะสั้นหรือแม้กระทั่งระยะยาวนั้นก็อาจจะไม่ได้เห็นความไม่ชอบมาพากลในความพยายามในการจัดการทางการเมืองเพื่อทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นไปในทางที่พรรคหรือฝ่ายที่ได้เปรียบอยู่ เพราะเชื่อว่าการจัดการทางการเมืองของฝ่ายที่ได้เปรียบอยู่นั้นน่าจะมีก่อนหน้าตามสถานการณ์

และการจัดการทางการเมืองในประเทศกัมพูชาก็เช่นเดียวกัน แม้พรรคฝ่ายรัฐบาลจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นปีที่แล้วในภาพรวม แต่การเพิ่มขึ้นในที่นั่งในสภาท้องถิ่นของฝ่ายค้านที่เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 70:30

และที่สำคัญชัยชนะของพรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ก็ได้ทำให้เห็นถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้น และเมื่อย้อนกลับไปถึงการเลือกตั้งในปี 2556 ก็ทำให้ไม่แปลกใจถึงการรุกคืบในการกระชับอำนาจและการเดินเกมการเมืองเพื่อลดทอนความนิยมของพรรคฝ่ายค้าน ที่ได้เดินมาถึงการยุบพรรค

เช่นนี้แล้ว เหตุผลของการจัดการทางการเมืองตามสถานการณ์ที่ได้เห็นกันอยู่นั้น แน่นอนว่าเป็นการจัดการเพื่อทำให้เกิดความได้เปรียบของพรรคฝ่ายรัฐบาล แต่ก็มาจากผลของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่ได้เกิดขึ้นเดือนหรือสองเดือนก่อนหน้าการเลือกตั้ง แต่เป็นระยะเวลาหลายปีก่อนหน้า

 

ข้อสังเกตสุดท้ายนี้เป็นข้อสังเกตที่ได้มาจากคำอธิบายของผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของกัมพูชานี้ต่อมุมมองของหลายประเทศในสังคมโลกที่มีต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้

แม้หลายประเทศจะออกมาปฏิเสธการเลือกตั้งและไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาจากข้อสังเกตข้างบนแล้วนั้น

คำอธิบายที่ผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ทั้งจากสมเด็จฯ ฮุน เซน และโฆษกของคณะกรรมการการเลือกตั้งของกัมพูชาเองก็ได้ให้เหตุผลว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองเดียวลงแข่งขันแต่มีถึง 20 พรรคการเมืองและมากกว่าการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2556 ที่มีเพียง 8 พรรคการเมือง

และที่สำคัญ รัฐธรรมนูญของกัมพูชาเองก็ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการเลือกตั้งของกัมพูชานั้นต้องมีความเป็นพหุนิยมประชาธิปไตย (Democratic Pluralism)

นอกจากนี้ กกต.ของกัมพูชาได้ย้ำถึงประสบการณ์และการเรียนรู้ในการจัดการการเลือกตั้งที่ทั้งหน่วยงานและประชาชนชาวกัมพูชาเองได้ผ่านมาแล้วถึง 8 การเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ถือได้ว่าเกิดการเรียนรู้และขัดเกลาทางสังคมและการเมืองทั้งในส่วนของผู้เลือกตั้งและผู้จัดการการเลือกตั้ง

และที่สำคัญ ฝ่าย กกต. ของกัมพูชาได้เน้นถึงประเด็นของการปราศจากความรุนแรงที่เป็นผลมาจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2556 ที่มีความรุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตทั้งในช่วงของการหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง

ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้พรรคฝ่ายค้านที่สำคัญที่มีโอกาสที่จะได้รับชัยชนะและทำให้โฉมหน้าการเมืองกัมพูชาเปลี่ยนไปไม่ได้มีโอกาสในการลงเลือกตั้ง แต่พรรคการเมืองอื่น อย่างเช่นพรรคฟุนซินเปกก็ได้กล่าวว่าความสนใจน่าจะฉายมาที่พรรคอย่างพวกเขาบ้าง

แต่ที่สำคัญที่สุดกับการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ กัมพูชาที่แม้บางประเทศจะประกาศล่วงหน้าถึงการไม่ยอมรับทั้งกระบวนการและผลการเลือกตั้ง

แต่คำถามที่มาจากคำกล่าวที่สมเด็จฯ ฮุน เซน ได้กล่าวไว้ในที่ประชุมของนักสังเกตการณ์การเลือกตั้งนานาชาติและผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายประเทศก็คือคำถามที่ว่า “ใครคือประชาคมนานาชาติ ในเมื่อเรามีคนจากประเทศรัสเซีย ประเทศจีน และจากหลายๆ ประเทศ อยู่ในห้องนี้”

คำถามนี้จึงเป็นคำกล่าวที่สะท้อนถึงการเดินหน้าจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้ของประเทศกัมพูชา เพราะเราอาจตีความหมายของการถามคำถามนี้กับประเทศอื่นๆ ที่ประกาศไม่ยอมรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้ว่า การที่ประเทศมหาอำนาจอีกกลุ่มหนึ่ง และโดยเฉพาะประเทศจีนที่ส่งผู้สังเกตการณ์และยังได้ร่วมแถลงข่าวเพื่อแสดงถึงความพึงพอใจต่อการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ของกัมพูชา

ในทางหนึ่งการคงอยู่ได้ของระบอบการปกครองภายใต้การนำของฮุน เซน ในกัมพูชาส่วนหนึ่งก็อยู่ได้เพราะการสนับสนุนจากบางประเทศที่สามารถทำให้ระบบเศรษฐกิจและการค้าของประเทศเดินหน้าไปได้

แรงกดดันทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจจากอีกหลายๆ ประเทศอาจจะมีต่อประเทศกัมพูชาหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่หากการสนับสนุนของประเทศอื่นที่สามารคถชดเชยกันได้ก็เป็นเหตุผลของการที่ผู้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ต้องกังวลกับการบริหารประเทศในเชิงของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

อย่างไรก็ดี การได้เข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งของประเทศกัมพูชาก็อดที่จะย้อนมาคิดถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย

ซึ่งก็อดคิดไม่ได้ว่า ถ้ามีการจัดการเลือกตั้งขึ้นมาจริงๆ แล้ว การเลือกตั้งของไทยนี้จะถูกยอมรับจากสังคมนานาชาติหรือไม่

หรือจะมีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งนานาชาติเข้าร่วมหรือเปล่า จะถูกเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งเชิงพิธีกรรมไหม

เพราะการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นนั้น หากสิทธิทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเลือกตั้งโดยพื้นฐาน เช่น เสรีภาพในการพูด การหาเสียง การเผยเพร่และรับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน ได้ถูกจำกัด หรือการตัดสิทธิทางการเมืองกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองบางคนที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะล้ำเส้นหรือถูกกล่าวหาจากผู้มีอำนาจว่าล้ำเส้นเกิดขึ้นซึ่งอาจจะค้านกับสายตาของคนทั้งในและนอกประเทศเกิดขึ้น

หรือการทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ไม่เท่ากัน

การมีการเลือกตั้งที่ขาดสิ่งเหล่านี้หรือเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ก็อาจจะถูกมองได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีคุณลักษณะและคุณภาพของความเป็นประชาธิปไตย

เพราะการเลือกตั้งนั้นแม้จะเป็นตัวชี้วัดของความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็เป็นตัวชี้วัดของการเป็นประชาธิปไตยแบบหยาบๆ และเป็นแค่เชิงกระบวนการ

การมีการเลือกตั้งต้องมีแบบมีคุณภาพ เพื่อให้การเลือกตั้งนั้นเป็นตัวชี้วัดที่มากไปกว่าพิธีกรรมและสร้างความชอบธรรมที่ทำให้บุคคลก้าวเข้าสู่อำนาจ

แต่ควรเป็นการเลือกตั้งที่เป็นการสะท้อนถึงความต้องการและการตัดสินใจของบุคคลในการแสดงออกถึงความต้องการของตัวเองต่อทิศทางและความเป็นไปของประเทศหลังวันเลือกตั้ง