นงนุช สิงหเดชะ : กรณี ‘สื่อฝรั่ง’ กับข่าว 13 หมูป่า มองหลายๆ มุมอย่า ‘โอเวอร์รีแอ็กต์’

บทความพิเศษ / นงนุช สิงหเดชะ

 

กรณี ‘สื่อฝรั่ง’ กับข่าว 13 หมูป่า

มองหลายๆ มุมอย่า ‘โอเวอร์รีแอ็กต์’

ดราม่ายังไม่จบ สำหรับการนำเสนอข่าวทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีและโค้ช 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย แม้ว่าจะมีการแถลงข่าวส่ง 13 หมูป่ากลับบ้าน ผ่านรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ไปเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม แล้วก็ตาม
ดราม่าดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีสื่อต่างชาติบางสำนัก เช่น โทรทัศน์เอบีซี นิวส์ ของสหรัฐอเมริกา ได้ไปเจาะข่าวต่อเนื่อง โดยสัมภาษณ์เด็กๆ บางคนหลังจบการแถลงกลุ่ม ทำให้สื่อไทยโวยวายเชิงตัดพ้อว่าทางการของไทยห้ามแต่สื่อไทย แต่ทำไมสื่อต่างชาติทำได้
ต่อมาก็มีข้าราชการระดับสูงบางคน โพสต์เฟซบุ๊กตำหนิสื่อต่างชาติดังกล่าวด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า “ไม่ควรให้อภัย” เพราะไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมีปฏิกิริยามากเกินเหตุ (โอเวอร์รีแอ็กต์) ต่อเรื่องนี้ ไม่แน่ใจว่า ได้มีการดูคลิปการสัมภาษณ์ด้วยตัวเองหรือไม่ ได้ยินคำถาม ได้เห็นสีหน้าท่าทางของนักข่าวที่เป็นผู้สัมภาษณ์ ตลอดจนเห็นท่าทางของเด็กและผู้ปกครองเด็กหรือไม่
ถ้าได้ดูอย่างละเอียด ครบบริบท ก็จะเห็นว่าการสัมภาษณ์ดังกล่าวไม่ได้มีการคุกคามหรือกดดันเด็ก อีกทั้งมีผู้ปกครองเด็กร่วมอยู่ด้วย
ท่าทีและคำถามมีความอ่อนโยน เหมือนญาติถามสารทุกข์สุกดิบ มีความระมัดระวังเรื่องคำถาม เพราะทราบข้อจำกัดดี

เจมส์ ลองแมน คือนักข่าวของเอบีซี นิวส์ ผู้นั้น และเขานำเสนอข่าวถ้ำหลวงแบบเกาะติดปักหลักมาตั้งแต่วันแรก กล่าวได้ว่าเอบีซี นิวส์ คือสื่อต่างชาติเจ้าหนึ่งที่เสนอข่าวนี้ได้ดีและละเอียด น่าสนใจ ซึ่งกล่าวได้อีกเช่นกันว่าสกู๊ปข่าวของเอบีซี (รวมทั้งสำนักอื่นๆ) ช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในเชิงท่องเที่ยวและวัฒนธรรมผ่านข่าวนี้โดยที่รัฐบาลไทยไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว แต่หากพูดถึงผลลัพธ์ ถือว่าดีกว่าการเอาเงินไปจ้างสื่อฝรั่งโฆษณาประเทศไทยหลายเท่า
ทางเอบีซีให้ความสำคัญกับข่าวนี้ โดยนอกจากรายงานเป็นข่าวด่วนแบบเกาะติดตลอดแล้ว ยังทำสกู๊ปพิเศษ 6 ตอนออกเผยแพร่และทำเรตติ้งสูงสุดประจำฤดูร้อนของสถานี ซึ่งคนไทยจำนวนไม่น้อยก็น่าจะได้ชมแล้วเช่นกัน และต้องยอมรับว่าภาพที่ปรากฏในสกู๊ปหรือสารคดีดังกล่าวมีความสวยงาม
เช่น ตอนแรกเผยให้เห็นภาพมุมสูงที่สวยงามของถ้ำหลวงและ อ.แม่สาย ภาพวิถีชีวิตของคนแม่สาย ฯลฯ เป็นสารคดีที่ดูเพลินทีเดียว
เท่าที่เห็น เชื่อว่าเอบีซี นิวส์ น่าจะส่งทีมข่าวมาไม่ต่ำกว่า 3 ทีม เป็นชาย 2 คือเจมส์ ลองแมน, แมตต์ กัตแมน และหญิง 1 คือเอเดรียน แบงเคิร์ต
เฉพาะเจมส์ ลองแมน นั้นเป็นที่รู้จักของคนไทยผ่านโซเชียลมีเดีย เนื่องจากเขาดูจะชื่นชอบประทับใจหลายอย่างของไทย เช่น รู้สึกทึ่งและชื่นชมในความมีจิตอาสาและน้ำใจของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นแม่ครัวที่คอยทำอาหารแจกอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย มีคนเอาพิซซ่ามาแจกฟรีถึงกลางป่า ฯลฯ
และมักโพสต์ลงโซเชียลมีเดียบ่อยๆ คนไทยหลายคนอ่านแล้วก็ชอบใจและขอบคุณเขา

กลับมาที่บทสัมภาษณ์ของเจมส์ ลองแมน ซึ่งสัมภาษณ์เด็กหลังจบการแถลงข่าวกลุ่ม ที่กลายเป็นประเด็นขึ้นมาดังกล่าว เท่าที่ได้ดูก็มีการสัมภาษณ์เด็ก 2 คน คือน้องไตตั้น-ดช.ชนินทร์ วิบูลย์รุ่งเรือง วัย 11 ปี ซึ่งอายุน้อยที่สุด และ ด.ช.มงคล บุญเปี่ยม หรือมาร์ก วัย 13 ปี
กับน้องไตตั้นนั้น เป็นการสัมภาษณ์สั้นๆ โดยมีคุณพ่อของน้องร่วมพูดคุยด้วย คำถามที่ถามก็พื้นๆ ทั่วๆ ไป ด้วยบรรยากาศผ่อนคลาย เป็นกันเอง เช่น “รู้ไหมว่าคุณพ่อของหนูรออยู่หน้าถ้ำ/ประหลาดใจไหมเมื่อรู้ว่าคนทั้งโลกกำลังรอหนูอยู่ / รู้ไหมว่าพี่ (ลองแมน) รอหนูอยู่หน้าถ้ำ 2 สัปดาห์เลยนะ”
ดูแล้วก็ได้เห็นความน่ารักใสซื่อของน้องไตตั้น ซึ่งชาวโลกก็คงอยากเห็นเช่นกัน ในฐานะเด็กอายุน้อยสุด
ส่วนกับน้องมาร์ก ลองแมนก็ถามว่ารู้สึกอย่างไรที่ออกมาได้แล้ว ได้กินอาหารที่อยากกินหรือยัง ชมว่าน้องมาร์กเข้มแข็งมาก โดยมีคุณแม่ของน้องร่วมให้สัมภาษณ์อยู่ด้วย ซึ่งคุณแม่ก็ถือโอกาสนี้ยกมือไหว้ขอบคุณคนทั้งโลก
พร้อมกันนี้ลองแมนยังบอกน้องมาร์กด้วยว่า คนอเมริกันจำนวนมากส่งคำถามเข้ามาถามเขามากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเพราะอยากรู้ว่าน้องๆ ทั้ง 13 คนเป็นอย่างไรบ้าง

ข้าราชการบางคนที่ออกมาตำหนิสื่อต่างชาตินั้น อ้างเหตุผลทางทฤษฎีจิตวิทยาที่ว่า เด็กที่ผ่านการประสบภัยร้ายแรงมาอาจเกิด “บาดแผล” ทางใจ หากมีคนไปถามย้ำถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น ควรรอให้เด็กฟื้นฟูจิตใจสัก 2 เดือนแล้วค่อยสัมภาษณ์
อย่างไรก็ตาม หากจะยึดกฎหมายแบบเคร่งครัด คนที่ควรถูกดำเนินคดีและตำหนิเป็นคนแรกคือผู้ที่จัดให้มีการรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ในวันนั้น (ซึ่งก็คือรัฐบาล) เพราะทำทุกอย่างที่ตัวเองห้ามคนอื่นไปแล้วเรียบร้อย นั่นคือการสัมภาษณ์เด็กในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกือบ 1 ชั่วโมง แล้วทำไมจึงไม่คิดว่าอาจสร้างแผลทางใจให้เด็ก
ถ้าจะยึดกฎหมายเป๊ะจริง คนที่สามารถอยู่บนเวทีให้พิธีกรซักถามได้ในวันนั้นคือโค้ชเอก เพราะอายุ 25 ปีแล้วถือว่าเป็นผู้ใหญ่เพียงคนเดียว ส่วนที่เหลือถือเป็นเยาวชน
แต่นี่พอสื่อต่างชาติแค่สัมภาษณ์เด็กเพียงสั้นๆ แค่ 2-3 นาที กลับโวยวาย ทั้งที่คำถามก็เบากว่าคำถามที่พิธีกรถามบนเวทีหลายเท่า

หากพูดกันตามตรง เหตุการณ์เดียวที่อาจสร้างบาดแผลและกระทบใจเด็กก็คือการเสียชีวิตของ น.ต.สมาน กุนัน หรือจ่าแซม ซึ่งทางเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้แจ้งเรื่องนี้ให้เด็กทราบตั้งแต่เด็กอยู่ในโรงพยาบาลด้วยซ้ำไป แล้วทำไมจึงไม่คิดว่าจะกระทบกระเทือนจิตใจเด็ก แถมคำถามนี้ยังนำมาถามบนเวทีวันนั้นด้วย
แต่ถึงอย่างไรข่าวจ่าแซมนั้น ไม่มีทางปิดเด็กได้ และเราก็สมควรให้เด็กได้รับทราบ และเผชิญกับความจริงดีกว่า
ในบรรดาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่มีอะไรหนักสำหรับเด็กไปมากกว่าข่าวจ่าแซมอีกแล้ว ในเมื่อเด็กยอมรับความจริงเรื่องจ่าแซมได้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการยอมรับคำถามอื่นที่เบากว่านี้ อีกอย่างในวันนั้นแพทย์ที่ดูแลก็พูดเองว่าประเมินแล้ว เด็กจิตใจเข้มแข็งดี
คำถามประเภทเดียวที่ต้องหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เด็กเกิดบาดแผลในใจคือคำถามในเชิงตำหนิเด็กว่า เป็นต้นเหตุให้คนอื่นวุ่นวายเดือดร้อน ซึ่งสื่อต่างชาติก็ร่วมมือดี ไม่มีใครถามคำถามประเภทนี้
การทำเอิกเกริกตื่นตูม ถึงขนาดจะจัดทีมมาเฝ้าตามบ้านเด็กเพื่อป้องกันไม่ให้สื่อมาสัมภาษณ์เด็กและผู้ปกครอง แถมยังพูดปรามไม่ให้ผู้ปกครองให้สัมภาษณ์กับสื่อนั้น เป็นการกระทำที่มากเกินไป เผลอๆ อาจไปละเมิดเสรีภาพของคนอื่นอีกด้วย อาจทำให้ทั้งผู้ปกครองและเด็กเครียด อึดอัด
ทำไมไม่ลองคิดในมุมของเด็กบ้างว่า เขาอาจอยากเล่าเหตุการณ์ เล่าความรู้สึกให้คนอื่นฟังก็เป็นได้ เพราะธรรมชาติของมนุษย์บางคนนั้นหลังจากผ่านเหตุการณ์ตื่นเต้นระทึกขวัญมา บางทีก็อยากเล่า อยากระบาย ซึ่งหากดูจากท่าทางเด็กแล้วพวกเขาก็ไม่ได้หวาดกลัวอะไรที่จะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
อย่างน้อยเด็กๆ ก็อาจอยากคุยกับสื่อต่างชาติเพื่อสื่อสารไปยังคนทั้งโลก เช่น นักฟุตบอลต่างชาติทีมดังๆ ที่ส่งข้อความมาให้กำลังใจก่อนหน้านี้

นี่ก็ได้แต่ภาวนาว่า บรรดาคนตื่นตูมทั้งหลาย คงไม่ไปขอให้นายกฯ ประกาศใช้มาตรา 44 ให้อำเภอแม่สายเป็นเขตปลอดนักข่าว อุตส่าห์จะเข้ายุค 4.0 ทั้งที สุดท้ายก็อยู่แค่ 0.4
นอกจากนี้มีหลายอย่างที่จะกระตุ้นความจำของเด็กเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างหลีกเลี่ยงและคุมไม่ได้ เพราะจะเห็นว่าหลังจากนั้นในวันรุ่งขึ้นเด็กก็ต้องไปร่วมพิธีสืบชะตาและทำบุญให้จ่าแซม ต้องทำพิธีขอขมาถ้ำหลวง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แม้ไม่มีใครไปถามอะไร ก็กระตุ้นรื้อฟื้นความทรงจำเด็กอยู่ดี
เรื่องนี้ข้าราชการหรือรัฐบาลควรมองหลายมุม ควรมองในมุมของนักข่าวด้วย เพราะข่าวนี้จะไม่สมบูรณ์เลยถ้าไม่ได้สัมภาษณ์เด็กบ้างหลังออกมาจากถ้ำ จะมาบอกว่าให้รอ 2 เดือนค่อยมาสัมภาษณ์ ก็ไม่น่าสนใจแล้วในแง่ของข่าวเพราะไม่สดใหม่
สื่อต่างชาติระดับโลก ที่เขาลงทุนส่งทีมงานมาปักหลักทำข่าวอยู่เกือบเดือน ด้วยค่าใช้จ่ายมากมาย จะให้เขารายงานแต่ข่าวน่าเบื่อที่ข้าราชการอนุญาตได้อย่างไร เขาก็ต้องมีมุมมองหรือดุลพินิจตามหลักวิชาชีพว่าอะไรมีคุณค่าพอที่จะเป็นข่าว
ดังนั้น อะไรที่อนุโลมได้ก็ควรอนุโลมและให้อิสระเขาบ้าง