‘โบว์-ณัฏฐา’ นำกิจกรรมนั่งสมาธิ-รำลึก ‘6 ศพ วัดปทุมฯ’ แสดงพลัง “หยุดทำร้ายแหวน”

วันที่ 8 สิงหาคม 2561 เมื่อเวลา 16.15 น. น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง พร้อมด้วยประชาชนที่ร่วมกิจกรรมจำนวนกว่า 25 คน ได้เดินทางมาถึงวัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯตามที่ได้นัดหมาย เพื่อร่วมกันปฏิบัติสมาธิภาวนาและรำลึกผู้เสียชีวิต 6 ราย และแสดงพลังเป็นกำลังใจให้ น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยาบาลอาสาที่เป็นพยานเอกสำคัญในคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ในช่วงการสลายชุมนุม นปช.เมื่อปี 2553 ที่ตอนนี้ถุกดำเนินคดีข้อหาร้ายแรง ซึ่งมีความเห็นว่าเป็นการดำเนินคดีที่แรงจูงใจในการลดทอนความน่าเชื่อถือของพยาน จนถึงขณะนี้ น.ส.ณัฏฐธิดา ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาแล้ว 3 ปี โดยไม่ได้สิทธิประกันตัว 
 
โดยบรรยากาศโดยรอบ เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวน 20 กว่านาย กระจายกำลังทั้งภายในวัดและบริเวณสกายวอล์ค
 
จากนั้น 16.20 น. น.ส.ณัฏฐาและประชาชนเดินทางเข้าไปยังศาลาพระราชศรัทธา ซึ่งเป็นอาคารสำหรับให้ประชาชนสวดมนต์และฝึกสมาธิท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่น โดยน.ส.ณัฏฐาได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ เพื่อนำประชาชนเข้าไปปฏิบัติสมาธิภายใน ซึ่งทุกคนได้ร่วมปฏิบัติสมาธิภาวนาเป้นเวลา 15 นาที ก่อนที่จะเดินทางออกจากตัวอาคารมายังวงเวียนสวนหน้าศาลา ที่ตั้งเสาอโศกสีดำ
 
จากนั้น น.ส.ณัฏฐาได้นำประชาชนเดินรำลึกเป็นจำนวน 6 ราย โดยแต่ละรอบแทนการรำลึกผู้เสียชีวิตจนครบ 6 คน ซึ่ง 1 ใน 6 ผู้เสียชีวิตคือ น.ส.กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณต้นโพธิ์ ซึ่งเป็นลานจอดรถภายในวัด ที่ในช่วงการชุมนุมเป็นที่ตั้งเต้นท์พยาบาลภายในพื้นที่วัดที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่อภัยทาน
 
จากนั้นน.ส.ณัฏฐานำทุกคนออกจากภายในวัด มายังต้นโพธิ์เพื่อไว้อาลัยผู้เสียชีวิตและยกย่องความกล้าหาญของน.ส.ณัฏฐธิดา ก่อนที่จะนำทุกคนทำท่าชี้นิ้วไปยังรางรถไฟฟ้า เพื่อสื่อถึงวันที่ทหารได้ยิงกระสุนใส่เข้าไปในวัดปทุมจนมีผู้เสียชีวิตถึง 6 ราย จากจำนวน 99 รายที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553
สำหรับผู้เสียชีวิตจำนวน 6 คนในวัดปทุม ประกอบด้วย 1.นายสุวัน ศรีรักษา เกษตรกร 2.นายอัฐชัย ชุมจันทร์ นิติศาสตรบัณฑิต ม.รามคำแหง 3.นายมงคล เข็มทอง เจ้าหน้าที่อาสา มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง 4.นายรพ สุขสถิต พนักงานขับรถรับจ้าง 5.น.ส.กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา และ6.นายอัครเดช ขันแก้ว รับจ้าง
ส่วนคดีความที่เกี่ยวข้องนั้น เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา  ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพการตาย จากนั้น ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องและญาติผู้ตายทั้ง 6 อันประกอบด้วยประจักษ์พยาน พยานแวดล้อมกรณี และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ตายที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ถึงแก่ความตายเพราะถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ขนาด .223 หรือ 5.56 มม. จากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ ที่ประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส และผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายเพราะถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ขนาด .223 หรือ 5.56 มม. จากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ ที่ประจำการอยู่บนถนนพระรามที่ 1 จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายทั้ง 6 ถึงแก่ความตายในวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 เวลากลางวัน เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. เป็นเหตุให้ผู้ตายที่ 1 มีบาดแผลกระสุนปืนทะลุปอดและหัวใจ เสียโลหิตปริมาณมาก ผู้ตายที่ 2 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ผู้ตายที่ 3 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด หัวใจ ตับ ผู้ตายที่ 4 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ตับ ผู้ตายที่ 5 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมอง ผู้ตายที่ 6 มีบาดแผลกระสุนปืนทะลุเข้าไปในช่องปาก โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ