ล้านนา-คำเมือง : พระลอด

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า พระลอด

“ลอด” แปลว่า ขนาดย่อม ขนาดเล็กกว่าปกติ

ดังนั้น คำว่า “พระลอด” จึงหมายถึง พระเครื่องที่มีขนาดเล็กกว่าพระเครื่องโดยทั่วไป

คำว่า “ลอด” ในที่นี้ โดยทั่วไปมักนิยมเขียนเป็น พระรอด ใช้เสียงพ้อง เพื่อให้ความหมายว่า เป็นพระหรือเครื่องรางที่จะทำให้รอดพ้นจากอันตราย

แต่คำว่า “รอด” (อ่านว่า ฮอด) ในภาษาล้านนาหมายถึง ถึง จนถึง จนกระทั่ง ซึ่งทำให้ความหมายแต่เดิมเพื้ยนไป

พระลอด ที่นิยมในกลุ่มเบญจภาคีคือ พระลอดมหาวัน ของวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน ที่กล่าวกันว่า เรียกตามนามพระฤๅษีผู้สร้างคือ พระฤๅษี “นารทะ” และเรียกตามนามพุทธรูป ศิลา องค์ที่ประดิษฐ์อยู่ในวิหารวัดมหาวัน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “แม่พระลอด” หรือ “พระลอดหลวง” ตามตำนานคือ พระพุทธสิขีปฏิมา ที่พระนางจามเทวีอัญเชิญมาจากกรุงละโว้ พระพุทธรูปองค์นี้ ที่พื้นผนังมีใบโพธิ์คล้ายรัศมี ปรากฏอยู่ด้านข้างทั้งสองด้าน

พระลอด ถูกขุดพบครั้งแรกราวต้นรัชกาลที่ 5 แต่จากการบันทึกไว้ของท่านอธิการทา เจ้าอาวาสวัดพระคงฤๅษีในขณะนั้น และอาจารย์บุญธรรม วัดพระธาตุหริภุญชัย ว่าในปี พ.ศ.2435 พระเจดีย์วัดมหาวันได้ชำรุดและพังทลายลงบางส่วน

ในสมัยเจ้าหลวงเหมพินทุไพจิตร เมื่อมีการปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ ได้พบพระลอดภายในกรุเจดีย์มากที่สุด

พระลอดมีส่วนของลักษณะผนังใบโพธิ์คล้ายพระศิลาในพระวิหารวัดมหาวัน เรียกว่าพระลอดหลวง

พ.ศ.2451 ฐานพระเจดีย์ใหญ่วัดมหาวันชำรุด ทางวัดได้นำพระออกมาทั้งหมด และนำออกแจกจ่ายแก่ผู้ร่วมงานจำนวนมาก ถือเป็นพระกรุเก่าและตกทอดมาจนบัดนี้

จากนั้นทางวัดมหาวันได้จัดพิธีสร้างพระลอดรุ่นใหม่บรรจุไว้แทน เข้าใจว่าคงเป็นรุ่นที่พระครูบากองแก้วเจ้าอาวาสในขณะนั้นเป็นผู้สร้างไว้ เพราะมีบางส่วนนำออกแจกให้ประชาชนในขณะนั้น

เรียกว่ารุ่นครูบากองแก้ว

จนถึง ปี พ.ศ.2498 ได้ขุดพบพระลอดด้านหน้าวัด และใต้ถุนกุฏิพระ จำนวนเกือบ 300 องค์ มีครบทุกพิมพ์ทรง กรุนี้ถือว่าเป็นกรุพระลอดกรุใหม่ ที่หมุนเวียนอยู่ในปัจจุบันนี้

ถึงปี พ.ศ.2506 ทางวัดมหาวันได้รื้อพื้นพระอุโบสถเพื่อปฏิสังขรณ์ใหม่ ได้พบพระลอดครั้งสุดท้ายอีกประมาณกว่า 300 องค์

พระลอดรุ่นนี้มีผู้นำมาให้เช่าในกรุงเทพฯ จำนวนมาก มีลักษณะคมชัดและงดงามมาก เป็นพระลอดกรุใหม่รุ่นสอง หลังจากนั้นมีผู้ขุดหาพระลอดในบริเวณลานวัด แทบทุกซอกทุกมุมทั่วพื้นที่ในวัด นานๆ ถึงจะได้พบพระลอดขึ้นมาองค์หนึ่ง เป็นเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

จนกระทั่งทางวัดได้ระงับการขุด นอกจากพระลอดแล้ว วัดมหาวันยังขุดพบพระเครื่องสกุลลำพูน เกือบทุกพิมพ์

ที่พิเศษคือ ได้พบพระแผ่นดุนทองคำเงิน แบบเทริดขนนกมากที่สุดในลำพูนด้วย

พระลอดได้ขุดค้นพบที่วัดมหาวัน มีเนื้อดินเผาละเอียดหนักนุ่มมาก องค์พระประทับนั่งขัดเพชร ปางมารวิชัย ประกอบด้วยพื้นผนังใบโพธิ์ทั้งสองด้าน

มีศิลปะโดยรวมแบบทวารวดี-ศรีวิชัย เป็นรูปแบบเฉพาะของสกุลช่วงสมัยหริภุญไชย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 แบ่งลักษณะแบบได้ 5 พิมพ์ทรง

คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ และพิมพ์ตื้นนั้น มีลักษณะจุดตำหนิโดยรวมที่เป็นสัญลักษณ์ปรากฏทุกพิมพ์ ในพิมพ์ใหญ่ กลาง เล็ก พระลอดเป็นพระปางมารวิชัย มีฐานอยู่ใต้ที่นั่ง และมีผ้านิสีทนะ (ผ้านั่งปู) รองรับปูไว้บนฐานข้างหลังองค์พระมีลวดลายกระจัง ชาวพื้นเมืองเหนือเรียกกันว่าใบโพธิ์

เพราะกระจังนั้นดูคล้ายๆ ใบโพธิ์มีกิ่งก้านไม่อยู่ในเรือนแก้ว พระพักตร์จะปรากฏพระเนตร พระกรรณยาวลงมาเกือบจรดพระอังสะทั้งสองข้าง ส่วนด้านหลังนั้นไม่มีลวดลายอะไรนอกจากรอยนิ้วมือ พระลอดเป็นเนื้อดินทั้งหมด

บางองค์มีลักษณะนูนบ้างแบนบ้าง

ส่วนอานุภาพของพระลอด เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ หรือความขลังในด้านแคล้วคลาด ปราศจากภัยอันตราย และความวิบัติต่างๆ มีเสน่ห์เมตตามหานิยม ได้ลาภผล และคงกระพันชาตรี ผู้ที่สักการบูชาและนำติดตัวไปยังที่ต่างๆ สามารถรอดพ้นจากอันตรายเป็นอย่างดี

จึงเรียกติดปากกันไปแล้วว่าพระรอด