อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : รูทเทค™ นิทรรศการที่ผสมผสาน เทคโนโลยี, เสียง และอุตสาหกรรมการผลิตอวัตถุ เข้าไว้ด้วยกัน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

กลางเดือนกรกฎาคมเรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่แปลกใหม่และน่าสนใจมา ก็เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามกิจวัตร

นิทรรศการที่ว่านั้นมีชื่อว่า

รูทเทค™ (RootTech)

เป็นนิทรรศการที่ประกอบด้วยงานศิลปะจัดวางเชิงทดลองขนาดใหญ่, งานศิลปะจัดวางเสียง, ประติมากรรม และผลิตภัณฑ์ศิลปะ ของธนัช ธีระดากร ศิลปินหนุ่มชาวกรุงเทพฯ ผู้สนใจในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์, พื้นที่, การกระทำ และข้อมูลในโลกออนไลน์เข้าไว้ด้วยกัน

ด้วยความที่ธนัชหลงใหลในดนตรีและเสียงในรูปแบบต่างๆ ทำให้เขาสร้างงานศิลปะที่ใช้เสียงเป็นสื่อหลักในการนำเสนอ

ถึงแม้จะมีวิชาชีพเป็นนักออกแบบกราฟิก แต่เขาก็ริเริ่มโครงการค้นคว้าส่วนตัวที่เขาสนใจควบคู่กันไปด้วย

โดยเขาค้นคว้าเกี่ยวกับการผลิตทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน ซึ่งพัฒนาเป็นสิ่งพิมพ์, สื่อออนไลน์, ศิลปะการแสดงสด และนิทรรศการศิลปะ

ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2017 ธนัชเคยแสดงนิทรรศการ Dance Non-Stop Mix ที่หอศิลป์คาร์เทล อาร์ตสเปซ

โดยเขานำเสนองานศิลปะจัดวางเสียง ที่ได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมการแต่งเครื่องเสียงติดรถยนต์อันดังกระหึ่ม ของเหล่านักเลงเครื่องเสียงรถยนต์ ที่ถูกคนส่วนใหญ่มองอย่างหยามเหยียดว่าเป็นคนชายขอบของสังคมมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจและไร้ซึ่งอคติ

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ในวันเปิดงานเขาเชื้อเชิญโคโยตี้ตัวจริงเสียงจริงมาแดนซ์ประกอบการแสดงงานศิลปะด้วย!

ส่วนผลงานในนิทรรศการรูทเทค™ ในครั้งนี้ เป็นการทำงานศิลปะในรูปแบบของบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นจากแนวคิดของศิลปิน โดยมีจุดประสงค์ในการสำรวจวิถีการผลิตในยุคร่วมสมัย และสำรวจแนวคิดของพื้นที่และตัวตนของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับเทคโนโลยีดิจิตอล และประกอบธุรกิจในการค้นหาความเป็นไปได้ต่างๆ ด้วยกระบวนการที่หลากหลายเพื่อสร้างรูปแบบและชุดของเรื่องเล่าอันไม่รู้จบ

โดยตัวนิทรรศการทำหน้าที่เป็นพื้นที่กึ่งกระบวนการ/กึ่งผลผลิต ซึ่งเกิดจากการรวมพื้นที่ของหอศิลป์ เข้ากับพื้นที่คลับ และโรงเรือนปลูกพืช ซึ่งธนัชสนใจข้อมูลที่ได้จากวัฒนธรรมคลับเป็นพิเศษ

เขาสร้างพื้นที่คลับที่มนุษย์, เสียง, ร่างกาย, เทคโนโลยี และประวัติศาสตร์ ผสมปนเปเข้าด้วยกัน และรับเอาข้อมูลเหล่านั้นมาใช้สร้างเป็นพื้นที่ทางศิลปะแบบลูกผสม

นอกจากนี้เขายังเปิดประเด็นการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีดิจิตอลเอื้อให้ผู้คนเข้าถึงความเป็นจริง ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งที่เกินจะเอื้อมถึง ด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้ ที่ส่งผลกระทบต่อวิธีการที่เรานิยามและรับรู้พื้นที่ และอาจท้าทายไปถึงทรัพยากรที่มีจำกัดอีกด้วย

ธนัชเลือกที่จะใช้เสียงเป็นอุปมาอุปไมยในการสำรวจเงื่อนไขและการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์

เขานำเสียงจากคลังเสียงส่วนตัวที่สะสมจากการท่องโลกอินเตอร์เน็ตมานานปีมาใช้เป็นฐานข้อมูล

และตั้งใจเลือกเฟ้น, รื้อสร้าง, บีบอัด, ยืดขยาย ปรับแต่งข้อมูลเสียงที่ได้มาจากการดาวน์โหลด ไม่ต่างกับการดัดแปรพันธุกรรมพืช

ภาพถ่ายกระจกแตกที่ถูกทำเป็นภาพกราฟฟิกด้วยการแต่งสีและทับซ้อนกันหลายชั้นจนกลายเป็นภาพใหม่ขึ้นมา

ก่อนจะเรียบเรียงและติดตั้งเสียงในพื้นที่ในห้องแสดงงาน ภูมิทัศน์ทางเสียงที่ผ่านการปรับแปลงมาแล้วภายในนิทรรศการนี้ เป็นการจำลองถึงข้อเท็จจริงที่เราอาจมองข้ามไป

และเป็นการตั้งคำถามว่า ผู้คนรับรู้และบริโภคข้อมูลเหล่านี้ผ่านอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ อย่างไร?

และเสียงหรือข้อมูลที่ถูกปรับแต่งและบิดเบือนเหล่านี้ เป็นแหล่งข้อมูลที่ส่งผลต่อตัวตนของเราในปัจจุบันหรืออนาคตอย่างไรบ้าง?

โดยผลงานชุดแรกของธนัชที่อยู่ในห้องแสดงงานหลักของหอศิลป์ ทำหน้าที่คล้ายโรงงานผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ด้วยผลงานศิลปะจัดวางที่ดูคล้ายกับโรงเรือนปลูกพืช

แต่สินค้าที่อยู่ภายในโรงเรือนนั้นกลับเป็นอะไรที่ว่างเปล่า มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ผู้ชมจะได้ยินแต่คลื่นเสียงที่ยากจะจำแนกประเภทและแหล่งที่มา ส่งผ่านออกมาจากลำโพงแปดตัวที่ติดตั้งอยู่ในโรงเรือนอย่างอึกทึกอึงอล

จนทำให้รู้สึกเหมือนกำลังเดินเข้าไปในคลับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ยังไงยังงั้น โดยตัวศิลปินกล่าวว่า

“ผมพยายามหยิบเรื่องราวหลายๆ เรื่องมาใช้เป็นหลายๆ องค์ประกอบในงาน และพยายามจับมันมาชนกันให้แตกร้าว เพื่อให้เกิดความหมายอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา โดยส่วนตัวผมค้นคว้าเกี่ยวกับวัฒนธรรมการแต่งเครื่องเสียงรถยนต์ ประกอบกับการที่ผมรู้สึกว่าโครงสร้างของสังคมเราทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยี การรับรู้โลกของเรามันก็กว้างขึ้น

ที่ผมสังเกตคือเวลาเราดูข้อมูลภาพและเสียงในคอมพิวเตอร์ ข้อมูลภาพจะอยู่ข้างหลังจอ มันจะไม่ล่วงล้ำเข้ามาในพื้นที่ของเรา แต่ข้อมูลเสียงจะเข้ามาเติมเต็มพื้นที่ และรุกล้ำพื้นที่ได้มากกว่า มันทำงานได้มากกว่า ผมก็เลยเอาไฟล์เสียงซึ่งเป็นเสียงจากข้อมูลที่ผมบริโภคในชีวิตประจำวันมาผสมผสาน เหมือนเวลาที่ผมเรียนรู้เรื่องอะไรสมองผมก็จะดาวน์โหลดลงไปเป็นหมือนฐานข้อมูล ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

ผมก็เอาเสียงพวกนั้นมาผลิตซ้ำ และทำให้มันมีคลื่นความถี่หนักพอที่จะสั่นสะเทือนให้กระจกแตกร้าวได้ ซึ่งผมขอความช่วยเหลือจากช่างแต่งเครื่องเสียงติดรถยนต์ ให้สร้างตู้ใส่กระจกที่ติดลำโพงซับวูฟเฟอร์ไว้ข้างใน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของช่างไทยเรานี่แหละ”

ในขณะที่ผลงานชุดที่สองที่อยู่ในพื้นที่ในห้องแสดงงานเล็กด้านหน้าของหอศิลป์ ทำหน้าที่คล้ายร้านค้าปลีกที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโรงงานผลิตสินค้า ซึ่งก็คือ “ซับคอร์-เฟล็กซ์ (Subcore-flex) หรือผลงานศิลปะในรูปของ “กระจกแตกร้าว” ที่สร้างขึ้นด้วยกระบวนการผลิตที่ใช้คลื่นเสียง (จากไฟล์เสียงในห้องแสดงงานหลัก) สั่นสะเทือนจนทำให้กระจกร้าวแตก

ด้วยการอัดข้อมูลในรูปแบบของเสียงที่ทำลายการคงอยู่ของตัวตนของกระจก ซึ่งเปรียบเสมือนหนึ่งอุปมาและภาพสะท้อนของผลกระทบจากข้อมูลอันท่วมท้นล้นหลั่งจากโลกอินเตอร์เน็ตสู่ตัวตนของเรา และสั่นสะเทือนเราจนถึงแก่น ซึ่งตัวตนของเราเองก็เปราะบางไม่ต่างอะไรกับกระจกเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย

ที่น่าสนใจก็คือธนัชนำกระจกเหล่านี้ใส่กรอบแขวนเรียงรายบนผนังห้องแสดงงาน โดยมีถุงกระสอบยัดนวมวางให้ผู้ชมนั่งชม จนดูคลับคล้ายคลับคลาเหมือนโชว์รูมขายทีวีไฮเอนด์ยังไงยังงั้น

ยิ่งไปกว่านั้น แสงสีในห้องนี้ยังแปรเปลี่ยนเป็นสีแดง, เขียว และน้ำเงิน สลับกันไปตามระบบสี RGB ซึ่งเป็นระบบสีที่ใช้ในจอของอุปกรณ์โทรทัศน์, คอมพิวเตอร์ และมือถือต่างๆ นั่นเอง

บนผนังยังมีบทสนทนาของเขากับช่างทำเครื่องเสียงรถยนต์พิมพ์ติดเอาไว้ด้วย

“ที่ผมสนใจเรื่องเครื่องเสียง เรื่องเทคโนโลยี เพราะว่าทุกวันนี้เราก็รับรู้โลกผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต มันเข้ามาปฏิวัติความรู้และความคิดอย่างมาก ทุกวันนี้เรามีศักยภาพในการรับรู้โลกได้กว้างขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเงื่อนไขมันก็ต่างกัน อย่างตอนที่เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ คนที่อยู่ตรงนั้นเขาได้เห็นและเข้าใจสถานการณ์นั้นโดยตรง แต่คนในประเทศไทยที่อยู่ห่างจากสถานการณ์นั้นมากๆ ถึงจะได้เห็นภาพแบบเดียวกัน แต่คลิปที่ถ่ายมามันถูกบีบอัด ถูกดัดแปลงจนความหมายมันแปรเปลี่ยนกันทั้งในแง่ของการรับรู้และสถานการณ์

อย่างแต่ก่อนเราเล่นดนตรีหรือทำเพลง เราก็ผลิตแผ่นเสียง, เทป, หรือซีดีออกมา แต่เดี๋ยวนี้แพลตฟอร์มมันปฏิวัติไปมาก มันมีซาวด์คลาวด์ (SoundCloud) หรือฐานข้อมูลเพลงออนไลน์ ที่คนทำเพลงสามารถอัพโหลดเพลงเผยแพร่ให้คนทั่วโลกฟังโดยไม่ต้องอัดลงแผ่นออกมาวางขายอีกแล้ว

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการขับเคลื่อนการผลิตในปัจจุบันไม่ใช่ตัววัตถุที่จับต้องได้อีกต่อไป หากแต่เป็น “อวัตถุ” (Immaterial) หรือสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่าง เสียง, ข้อมูล, ข่าวสาร, ความรู้หรือ ประสบการณ์ ซึ่งเผลอๆ จะมีผลกระทบต่อสังคมมากกว่าผลิตผลที่เป็นวัตถุด้วยซ้ำไป

ส่วนสายไฟของลำโพงแต่ละตัวที่ถูกซ่อนอยู่ในโครงสร้างของโรงเรือน โดยที่คนดูมองไม่เห็น นั้นเป็นอุปมาถึงสังคมไร้สายในปัจจุบัน ลำโพงแต่ละตัวจะเชื่อมกับเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวที่ติดตั้งอยู่นอกห้องแสดงงานและหน้าหอศิลป์ ถ้าใครเดินผ่านหรือขับรถผ่านก็จะทำให้เสียงของลำโพงแปรเปลี่ยนไป โดยที่คนข้างในห้องไม่รู้เลยว่าเกิดจากอะไร และคนข้างนอกก็ไม่รู้ด้วยว่าความเคลื่อนไหวของเขาสร้างผลกระทบให้คนอื่นโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งผมได้แรงบันดาลใจจากการที่คนในสังคมมองว่าตัวเองเป็นคนตัวเล็กๆ จนเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ซึ่งผมคิดว่าไม่จริง เพราะไม่ว่าจะเราจะเป็นใครก็ตาม สิ่งที่เราทำต่างก็มีผลกระทบและแรงกระเพื่อมต่อสิ่งอื่นอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ไวรัสคอมพิวเตอร์เล็กๆ หน่วยหนึ่ง ก็สามารถทำให้ระบบของคอมพิวเตอร์ทั้งเครื่องพังลงได้ คนเราก็เช่นกัน ถ้าเราต้องการจะปฏิวัติหรือท้าทายอะไรก็ตาม ผมคิดว่าเรามีศักยภาพที่จะทำได้ทั้งนั้น ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยแค่ไหนก็ตาม”

ท้ายสุดเป็นผลงานที่อยู่ในตู้โชว์ใกล้กับประตูทางเข้าห้องแสดงงาน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปะในรูปแบบของยูเอสบีแฟลชไดรฟ์ ที่บรรจุไฟล์เสียงในนิทรรศการจำหน่ายให้ผู้สนใจซื้อไปฟังหรือสะสม

“ในคู่มือของผลิตภัณฑ์จะมีเขียนไว้เลยว่า อนุญาตให้ทุกคนดัดแปลง, ทำซ้ำ, เผยแพร่, แจกจ่าย หรือทำอะไรก็ได้กับไฟล์เสียงของผมอย่างเสรีโดยไม่มีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด”

โดยในอนาคต ธนัชวางแผนว่าจะอัพไฟล์นี้ลงในอินเตอร์เน็ตเพื่อให้คนได้โหลดไปใช้กันตามอัธยาศัยอีกด้วย

นิทรรศการ รูทเทค™ จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (สาทรซอย 1 สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินี จอดรถที่ 123 ปาร์กกิ้ง) ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2561 แกลเลอรี่เปิดทำการวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 13:00-19:00 น.

หรือใครสนใจจะติดตามผลงานทางของเขาทางออนไลน์ก็เข้าไปดูชมกันได้ที่ https://dancenonstopmix.tumblr.com/

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่