“มาเรีย บูตินา” ตัวละครใหม่ในปมรัสเซียล้วงลูกสหรัฐ

มาเรีย บูตินา หญิงชาวรัสเซีย ในวัย 29 ปี ถูกศาลแขวงเขตปกครองพิเศษโคลัมเบียของสหรัฐอเมริกาสั่งควบคุมตัวเอาไว้ในระหว่างรอนำตัวขึ้นศาลไต่สวนคดีที่คาดว่าจะมีขึ้นในไม่กี่วันนี้

ซึ่งเป็นไปตามคำร้องขอของฝ่ายอัยการสหรัฐที่กล่าวหาบูตินาว่าเป็น “จารชนรัสเซีย” ที่พยายามเข้ามาแทรกซึมมีอิทธิพลต่อบุคคลในวงการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศสหรัฐ

โดยมีผลประโยชน์แห่งชาติของรัสเซียเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทว่าอัยการสหรัฐไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหา “จารกรรม” ต่อบูตินา เพียงแต่ชี้ว่าบูตินามีการติดต่อกับฝ่ายปฏิบัติการด้านข่าวกรองของรัสเซีย

และทำการเก็บข้อมูลติดต่อให้กับสายลับชาวรัสเซียหลายคนในดินแดนสหรัฐ ที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐ

ข่าวการจับกุมบูตินาถูกเปิดออกมาในช่วงจังหวะเดียวกับที่โดนัลด์ ทรัมป์ พบปะเป็นครั้งแรกกับวลาดิมีร์ ปูติน ในการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-รัสเซีย ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ที่ทั้งทรัมป์และปูตินหวังว่าน่าจะทำให้บรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติคลายความตึงเครียดลงได้

และมีขึ้นในขณะที่การสอบสวนของทีมสอบสวนที่นำโดยนายโรเบิร์ต มุลเลอร์ ที่ปรึกษาพิเศษของสหรัฐ กรณีที่มีการกล่าวหาทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์สมคบกับรัสเซียในการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2559 ยังดำเนินต่อไป ท่ามกลางการปฏิเสธอย่างหนักแน่นจากรัสเซียต่อข้อกล่าวหาดังกล่าวของสหรัฐ

กรณีของบูตินา หากมีมูลตามที่มีการกล่าวหาจริง ก็อาจจะเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่อาจนำไปสู่การไขคดีกล่าวหาทีมหาเสียงของทรัมป์สมคบคิดกับรัสเซียก็เป็นได้

 

บูตินา อดีตนักศึกษาระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยอเมริกันในวอชิงตัน ถูกกล่าวหาว่าทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการรัสเซียและพลเมืองชาวอเมริกันอีก 2 คน

โดยเธอยังพยายามแทรกซึมเข้าไปมีบทบาทในองค์กรเคลื่อนไหวสนับสนุนด้านสิทธิการครอบครองอาวุธปืนในสหรัฐและเข้าไปมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐที่มีต่อรัสเซีย

ในการขออำนาจศาลสั่งคุมขังบูตินา อัยการสหรัฐได้นำเสนอพยานหลักฐานที่สนับสนุนประเด็นการกล่าวหาข้างต้น

ที่มีทั้งรูปถ่ายของบูตินาขณะพบปะกับชายคนหนึ่งที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงวอชิงตันที่เชื่อว่าน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของรัสเซีย

ยังมีสำเนาข้อความเขียนด้วยลายมือที่เจ้าหน้าที่เอฟบีไอของสหรัฐพบที่อพาร์ตเมนต์ที่พักของบูตินา

ซึ่งถ้อยความในจดหมายเป็นการตอบโต้ถึงข้อเสนอการจ้างงานจากหน่วยงานด้านข่าวกรองของรัสเซีย และมีภาพถ่ายของบูตินายืนอยู่หน้าอาคารรัฐสภาในวันที่โดนัลด์ ทรัมป์ ทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการเมื่อ 18 เดือนก่อน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการรัสเซียที่ถูกระบุว่าบูตินาคอยทำงานให้อยู่ มีชื่อปรากฏอยู่ในหน้าสื่อคือ อเล็กซานเดอร์ ทอร์ชิน รองผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซีย ที่เพิ่งถูกกระทรวงการคลังสหรัฐขึ้นบัญชีคว่ำบาตรไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

และเป็นทอร์ชิน ที่ถูกชี้ว่าเป็นบุคคลที่บูตินาเดินทางมาด้วยในการเข้ามาในประเทศสหรัฐเมื่อเดือนเมษายนปี 2558

และมีผู้พบเห็นทอร์ชินและบูตินาพบปะพูดคุยกับบุคคลในวงการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ในสหรัฐในหลายโอกาส โดยเฉพาะในสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (เอ็นอาร์เอ) กลุ่มล็อบบี้ยิสต์สนับสนุนสิทธิในการครอบครองอาวุธปืนในสหรัฐที่มีคนในพรรครีพับลิกันให้การสนับสนุนอยู่

 

 

ส่วนพลเมืองอเมริกันอีก 2 คนที่ถูกอ้างถึงว่ามีการติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบูตินา หนึ่งในนั้นอัยการสหรัฐระบุว่ากำลังถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงอยู่ในรัฐเซาท์ดาโกตา แต่ไม่มีการเปิดเผยชื่อ

แต่สื่อสหรัฐคาดเดากันว่าน่าจะเป็นพอล อีริกสัน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหัวอนุรักษนิยมชาวรัฐเซาท์ดาโกตา ที่เคยมีภาพถ่ายของเขาคู่กับบูตินาเผยแพร่อยู่ในโซเชียลมีเดีย และอีริกสันยังถูกระบุว่าเป็นคนตั้งบริษัททำธุรกิจร่วมกับบูตินาในปี 2559 ด้วย

ข้อมูลล่าสุดที่สำนักข่าวรอยเตอร์เปิดออกมายังมีชื่อของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานของทางการสหรัฐ 2 ราย ที่เผยให้เห็นความพยายามของหญิงสาวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นจารชนรัสเซียผู้นี้พยายามจะเข้าไปแสวงหาความสนิทสนมด้วย ในการพบปะกันหลายครั้งในปี 2558

หนึ่งในนั้นคือ สแตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด และสองคือ นาธาน ชีตส์ ปลัดกระทรวงการคลังสหรัฐในขณะนั้น

รอยเตอร์อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าววงในใกล้ชิดที่รู้เห็นการพบปะกันดังกล่าวและจากรายงานของศูนย์เพื่อผลประโยชน์แห่งสหรัฐ ที่เป็นสถาบันวิชาการซึ่งมุ่งส่งเสริมความพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและรัสเซีย เปิดเผยให้เห็นว่าทอร์ชินและบูตินาได้พบปะกับฟิสเชอร์และชีตส์ในหลายโอกาส ที่เป็นการพูดคุยกันถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐและรัสเซียในช่วงเวลาดังกล่าวที่เป็นช่วงรัฐบาลบารัค โอบามา ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพื่อตอบโต้กรณีของการผนวกดินแดนไครเมีย

แต่รอยเตอร์ชี้ว่าจากการสอบถามเรื่องนี้กับฟิสเชอร์ ได้รับการยืนยันว่าเขาได้พบปะกับทอร์ชินจริง แต่จำรายละเอียดไม่ได้ว่าล่ามที่มากับทอร์ชินนั้นใช่บูตินาหรือไม่ ส่วนการสนทนาในครั้งนั้นก็มีเรื่องของเศรษฐกิจรัสเซียและบทบาทใหม่ของทอร์ชินในฐานะของรองผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซียในขณะนั้นรวมอยู่ด้วย

กรณีของบูตินา กำลังเป็นที่จับตาในสังคมอเมริกัน ที่น่าจะรวมถึงรัสเซียเองด้วย ก็ต้องรอดูการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าจะมีอะไรในกอไผ่จริงหรือไม่