แมลงวันในไร่ส้ม/ตีกรอบ-สกัด ‘สื่อ’ สัมภาษณ์ 13 หมูป่า บางคำถามจากผู้อ่านข่าว

แมลงวันในไร่ส้ม

 

ตีกรอบ-สกัด ‘สื่อ’

สัมภาษณ์ 13 หมูป่า

บางคำถามจากผู้อ่านข่าว

 

ภายหลังปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 หมูป่าประสบความสำเร็จ ทั้ง 13 หมูป่าเข้าพักฟื้นที่โรงพยาบาลเชียงรายประชาสรรค์ กระทั่งวันที่ 18 กรกฎาคม ทั้งหมดเดินทางไปที่ที่ทำการ อบจ.เชียงราย เพื่อออกรายการเดินหน้าประเทศไทย ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทุกช่อง
มีสื่อดัง สุทธิชัย หยุ่น อดีตผู้บริหารเครือเนชั่น เป็นผู้ดำเนินรายการ
ท่าทีและคำถามของสุทธิชัยไม่เข้าตาผู้ชมเท่าไหร่นัก เกิดเสียงวิจารณ์ความเหมาะสมในการเลือกพิธีกรติดตามมา
ที่น่าสนใจ ยังได้แก่ข่าวในสื่อต่างประเทศ ที่เริ่มสัมภาษณ์ทีมดำน้ำ และผู้เกี่ยวข้องกับการกู้ภัยทั้งในอังกฤษ สหรัฐ และออสเตรเลีย
ทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำ 13 หมูป่าออกจากถ้ำ ที่มีการเคลียร์พื้นที่เส้นทางออกจากถ้ำ ขึ้นรถ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ก่อนที่รถพยาบาลพาส่งอีกต่อ เปิดเผยออกมามากขึ้น
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่มีการเปิดเผยจากทางการไทย แม้แต่ในวันที่สุทธิชัยสัมภาษณ์ 13 หมูป่า หน่วยซีล 3 นาย นพ.ภาคย์ โลหารชุน แพทย์ทหารที่เข้าไปอยู่ที่เนินนมสาวในถ้ำ ก็ไม่มีการถามถึง

วันที่ 19 กรกฎาคม สำนักข่าวรอยเตอร์เผยแพร่บทสัมภาษณ์น้องดอม หรือ ด.ช.ดวงเพชร พรมเทพ กัปตันทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่บ้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย
น้องดอมเล่าตอนหนึ่ง ก่อนถูกนำตัวออกจากถ้ำว่า “โดนฉีดเข็ม เข็มแรกก็ปวดๆ เข็มที่สองปุ๊บ ก็สลบเลยครับ หลังจากนั้นก็ไม่รู้สึกอะไรสักอย่างเลยครับ”
กัปตันทีมหมูป่าเล่าด้วยว่า สร้างบัญชีเฟซบุ๊กขึ้นใหม่ เนื่องจากมีคนขอเข้ามาเป็นเพื่อนจำนวนมาก และยังซื้อมือถือเครื่องใหม่แทนเครื่องเดิมที่ทำหายไปในถ้ำ รวมถึงเตรียมที่จะบวชให้กับนาวาตรีสมาน กุนัน อดีตหน่วยซีลที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือ
ไล่ๆ กันวันที่ 20 กรกฎาคม เว็บไซต์เดอะซัน (The Sun) ของอังกฤษ เผยบทสัมภาษณ์ “เด็กชายสมพงศ์ ใจวงศ์” หรือน้องพงศ์ อายุ 13 ปี ซึ่งเป็น 1 ในสมาชิกทีมหมูป่า 13 คน
เดอะซันเผยว่า สมพงศ์ฝันอยากไปอังกฤษพร้อมกับเพื่อนสมาชิกทีมหมูป่าและโค้ชเพื่อพบกับทีมนักฟุตบอลอังกฤษ โดยเฉพาะ “แฮร์รี่ เคน” กัปตันทีมชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นฮีโร่ของเขา
สมพงศ์ยังได้เล่าถึงช่วงเวลาที่เขาและเพื่อนๆ ทีมหมูป่ารวมทั้งโค้ชติดอยู่ในถ้ำว่า “มันเหมือนฝันร้าย” และว่า “พวกเราพากันไปเที่ยวถ้ำหลังจากเตะฟุตบอลเสร็จ เพราะว่ามีเด็กบางคนในทีมยังไม่เคยเข้าไปในถ้ำนี้ แล้วตอนที่พวกเรากำลังเดินกลับไปยังทางที่เข้ามา ก็มีน้ำไหลเข้ามาในถ้ำ พวกเราต้องวิ่งหนีเพื่อเอาชีวิตรอด ตอนแรกผมคิดว่าเดี๋ยวน้ำก็ลด และพวกเราก็สามารถออกไปได้ง่ายๆ ผมไม่เคยคิดว่าพวกเราจะติดอยู่ในถ้ำเป็นเวลานาน”
“พอผ่านไปสักพัก เราก็เริ่มกังวลว่าทำไมไม่มีใครมา และเราก็พยายามช่วยกันขุดหาทางออก ตลอดเวลาผมคิดถึงแต่อาหาร ผมฝันถึงไก่ผัดกะเพรา ก๋วยเตี๋ยว เคเอฟซี และส้มตำ เราตื่นเต้น ดีใจมาก ตอนที่นักดำน้ำชาวอังกฤษมาพบพวกเรา”
ในข่าวระบุว่า สมพงศ์เป็นสมาชิกทีมหมูป่าคนที่ 12 ที่ได้รับการช่วยเหลือออกจากถ้ำในวันสุดท้ายของปฏิบัติการกู้ภัยช่วยชีวิตหมูป่าและโค้ช และว่า เด็กๆ ถูกฉีดยา 2 เข็มเพื่อทำให้ไม่รู้สึกตัว ก่อนที่นักดำน้ำ 2 คนจะนำตัวพวกเขาออกมา
เดอะซันระบุว่า เท่าที่สมพงศ์จำได้ก็คือ รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาระหว่างอยู่บนเฮลิคอปเตอร์ทหารที่กำลังบินนำตัวเขาไปยังโรงพยาบาล
วันเดียวกัน เว็บไซต์ abcnews.go.com ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอการสัมภาษณ์น้องมาร์ค ด.ช.มงคล บุญเปี่ยม หนึ่งในหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง โดยนายเจมส์ ลองแมน ที่มาทำข่าวอยู่ที่ถ้ำหลวงตลอด
น้องมาร์คกล่าวกับเอบีซีว่า ดีใจที่ได้กลับบ้าน และเป็นวันแรกที่ได้กินฝีมือของแม่หลังออกจากถ้ำมาได้
เมื่อถามว่า ออกมาเป็นคนที่เท่าไหร่ น้องมาร์คตอบว่า ออกมาเป็นคนที่ 13 เลย คือเป็นคนสุดท้าย เจมส์จึงได้กล่าวชื่นชมว่า “กล้าหาญมาก” น้องมาร์คจึงกล่าวขอบคุณ
เมื่อนักข่าวถามว่า ทำไมถึงออกเป็นคนสุดท้าย น้องมาร์คบอกว่า จริงๆ จะได้ออกมาเป็นกลุ่มแรก แต่หน้ากากดำน้ำที่มีอยู่มันใหญ่เกินไป ก็เลื่อนไป เป็นออกกลุ่มที่ 2 แต่หน้ากากก็ยังไม่มีที่พอดี จึงต้องออกมาเป็นคนสุดท้าย

ภายหลังจากข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ทางนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สั่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เตือนสื่อต่างชาติสัมภาษณ์เด็กเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม พร้อมกับโทรศัพท์ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กำชับให้ช่วยดูแลเป็นพิเศษ โดยอ้างว่าเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมตั้งกรรมการมาดูแล กรณีที่ต่างชาติจะนำเรื่องการช่วยเหลือ 13 หมูป่าไปทำเป็นภาพยนตร์
ขณะที่นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีสื่อต่างประเทศสัมภาษณ์ 1 ใน 13 ทีมหมูป่าอะคาเดมีเป็นเอ็กซ์คลูซีฟว่า เรื่องนี้คงไม่สามารถห้ามได้ ได้แต่ชี้แจงทำความเข้าใจให้ผู้ปกครองและสื่อตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมา ในเรื่องของบาดแผลทางจิตใจที่อาจอยู่ได้นานถึง 4-6 สัปดาห์
มติชนออนไลน์ได้สำรวจความเห็นทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ มีความเห็นที่น่าสนใจ อาทิ
ต้องทำความเข้าใจใหม่ การช่วยเด็ก ไม่ควรเป็นเรื่องปกปิด เพราะประสบการณ์ การเอาชีวิตรอด ควรจะได้รับการถ่ายทอดให้คนทั่วโลกได้เรียนรู้ ไม่ใช่กีดกัน ปกปิดเหมือนไทย
“ประเด็นเรื่องหมูป่าติดถ้ำเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะที่เมืองไทย เมื่อยังมีประเด็นที่ชาวโลกสงสัยและสนใจ ก็เป็นธรรมดานะที่มีสื่อต่างชาติมาตามสัมภาษณ์เพิ่มเติม ถ้าไม่มาสิแปลก”
“เหมาะสมครับ สื่อไทยก็ควรได้สัมภาษณ์ด้วย…ใครเกินเลยก็จับกุมดำเนินคดี…เราเห็นข่าวว่าห้ามสัมภาษณ์เด็ก…หากพ่อแม่ไม่ห้ามจะมีความผิดฐานสนับสนุน! และเด็กอาจถูกนำตัวไปเก็บในสถานที่ราชการ! มันจะอะไรขนาดนั้น!”
“เด็กเขายิ้มแย้มแจ่มใสกับนักข่าวต่างประเทศ พ่อแม่เขาก็อยากเล่าเรื่องให้ฟัง แล้วคุณ…ทำตาขวาง โผล่มาจากไหน…เด็กเขากลัวพวก…นี่ละ ไม่ใช่นักข่าวต่างประเทศ”
“ควบคุมเขาขนาดนั้น ผมว่ารัฐบาลกำลังปกปิดบางอย่างจากสื่อมากกว่า น่าปล่อยให้เด็กเป็นคนตัดสินใจในการสัมภาษณ์มากกว่า ผมว่าทุกคนกำลังรอฟังอยู่นะครับ”
เป็นอีกแง่มุมของข่าว 13 หมูป่า กับบทบาทท่าทีของรัฐบาล