“เจแปนคอนเน็กชั่น” ถอดรหัส “สมคิด” โรดโชว์ ดึงญี่ปุ่นหมื่นบริษัทร่วมแจ้งเกิด EEC

4 ครั้งในรอบ 4 ปี คือทริปที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี นำทีมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 5 กระทรวง โรดโชว์-ชักจูงนักลงทุนญี่ปุ่นลงทุนในประเทศไทย

4 รูปแบบการเจรจาที่ “ทีมสมคิด” ร่วมกับหัวเรี่ยวหัวแรงจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ชักแม่น้ำทั้งห้า-เชิญชวนนักลงทุน มีทั้งการหารืออย่างเป็นทางการ-ไม่เป็นทางการกับนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี โดยมีนายโยชิฮิเดะ สึกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แห่งพรรคเสรีประชาธิปไตย ที่นับเป็นเพื่อนสนิทกับ “สมคิด” เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ ร่วมจัดสัมมนากับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ปาฐกถาให้ข้อมูลประเทศไทย, เจรจาตัวต่อตัวเคาะประตูบริษัทยักษ์ใหญ่ และยุทธศาสตร์เจาะหัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญของประเทศญี่ปุ่น

3 แสนล้านบาทในปี 2561 คือเป้าหมายเม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่น ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

10,000 บริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย คือเป้าหมายที่ “สมคิด” จะไปให้ถึงในปีนี้

4.2 แสนล้านบาท คือตัวเลขลงทุนรถไฟไฮสปีดชินคันเซ็น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่ทีมไทยรับปากจะดันเข้า ครม. เดือนสิงหาคม

12 คือลำดับชาติสมาชิกแห่งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (CPTTP) ที่ญี่ปุ่นจะเป็นตัวตั้ง-ตัวตีดึงไทยเข้าร่วม

 

20 ปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทยสูงสุดต่อเนื่อง นักลงทุนระดับแกนนำยักษ์ใหญ่นับ 1,000 ราย ไม่เคยพลาดเข้าร่วมวง-รับฟังการโรดโชว์จากฝ่ายไทย

เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกถูกเผยโฉมขึ้น มีแผนการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์สูงถึง 1.5 ล้านล้าน ยิ่งยั่วให้นายทุนน้อย-ใหญ่จากญี่ปุ่นปักธงในพื้นที่แล้ว 1,016 บริษัท

ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนไทย-ญี่ปุ่นร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์-ลงพื้นที่ทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว 3 ครั้ง โดยเมื่อปลายปี 2560 นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นขนนักลงทุนกว่า 500 รายลงพื้นที่อีอีซี ต้นปี 2561 “ทีมสมคิด” โรดโชว์ที่จังหวัดฟูกูโอกะ ตามด้วยจังหวัดมิเอะ-ไอจิ ในช่วง 17-21 กรกฎาคมที่ผ่านมา

โรดโชว์เที่ยวล่าสุดนี้ “สมคิด” กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง Thailand as a Key Driver of Regional Economic Growth ที่เมืองนาโกยา มีนักลงทุนเข้าร่วมรับฟัง 800 คน ความตอนหนึ่งว่า

“ที่ผ่านมาประเทศไทยโชคไม่ดีมีความขัดแย้งทางความคิด เกิดความผันผวนทางการเมือง ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะงัก แต่ขณะนี้ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวปีนี้เพิ่มขึ้น 40 ล้านคน จาก 35 ล้านคนในปีที่ผ่านมา การลงทุนจากต่างประเทศ 5 เดือนแรก 600 โครงการ 1.9 แสนล้านบาท

ความเชื่อมั่นอยู่ในระดับดีมาก หากการเมืองไม่ผันผวน การปฏิรูปสำเร็จ โอกาสที่จีดีพีขยายตัว 4-5% จะไม่ใช่ข้อจำกัดอีกต่อไป อีกทั้งผลสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย โดยเจโทร กรุงเทพฯ พบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้น จากต้นปี 2560 อยู่ในระดับ 14 สู่ระดับ 34 ในปลายปีที่แล้ว เพิ่มเป็นระดับ 36 ในต้นปีนี้ ล่าสุดเพิ่มเป็นระดับ 40 การไต่อันดับเพิ่มขึ้นในอัตราเช่นนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน”

 

นายสมคิด-แจ้งให้นักลงทุนญี่ปุ่นทราบว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งมั่นปฏิรูป เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เกิดโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ในเขตอีอีซี รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณลงทุนทุกด้าน พร้อมมาตรการทางภาษี และการสร้างเมืองใหม่ (smart city)

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจประเทศไทยแจ้งดัชนีเศรษฐกิจล่าสุด-สะกดให้นักลงทุนญี่ปุ่นเงี่ยหูฟังว่า “ขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวโดยลำดับ จากเคยขยายตัว 0.9% เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพิ่มเป็น 3.9% ในปีที่ผ่านมา และในไตรมาส 1 ปีนี้โต 4.8% ที่น่าสนใจคือ ช่วง 2 เดือนของไตรมาส 2 ดัชนีเศรษฐกิจทุกตัวขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ การส่งออกสูงกว่า 13% ทั้งปีนี้จีดีพี 5% เป็นไปได้ดีแน่นอน”

เขาย้ำว่า “อยากเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นไปขยายการลงทุนในไทย ภายใต้ดัชนีทางเศรษฐกิจทุกตัวขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ เมื่อ 2 ปีก่อนที่รัฐบาลไทยเริ่มต้นทำเขตอีอีซี มีน้อยคนที่คิดว่าเราจะกล้าทำและทำได้สำเร็จ ตอนนี้มีมูลค่าการลงทุนสูงมากถึง 600,000 ล้านบาท ครึ่งแรกของปีนี้ตัวเลขการขอส่งเสริมการลงทุนได้เพิ่มทวีอย่างต่อเนื่อง”

“ทั้งหมดนี้ด้วยความช่วยเหลือของญี่ปุ่นผ่านองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และคงไม่มีช่วงใดที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นจะแน่นแฟ้นเท่าตอนนี้”

นายสมคิดกล่าวด้วยว่า “พัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยในรอบ 30 ปีนี้ก้าวไปไกลมาก แต่มันไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจากความร่วมมือและสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น และจากความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างนักธุรกิจญี่ปุ่นและไทย ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ไทยจะยกระดับตนเองให้ก้าวกระโดดไปอีกระดับหนึ่ง หากไทยสามารถขับเคลื่อนได้ตามเป้าหมาย ก้าวสู่จุดที่ดีกว่าและเหนือกว่าในอดีต”

“ผมในฐานะของรองนายกฯ ที่ดูแลเศรษฐกิจไทย ที่มีส่วนริเริ่มและร่วมกับญี่ปุ่นในการสร้าง JTEPA ดูแลนักลงทุนจากญี่ปุ่นกว่า 7,000 บริษัท ตลอดช่วงเวลาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมมาญี่ปุ่นตั้งใจมาที่นาโกยา จังหวัดไอจิอีกครั้ง ก็เพื่อมาให้ข้อมูลและรายงานสภาพการณ์ล่าสุดของพัฒนาการในประเทศไทย และมาเพื่อเชื้อเชิญท่านทั้งหลายให้ไปเยี่ยมเยียนอีอีซีอีกสักครั้ง”

หากนโยบายเจาะให้ 55 เมืองรองของประเทศไทย คือเข็มมุ่งฟื้นเศรษฐกิจฐานรากจากภายใน มาตรการเจาะเมืองท้องถิ่นในญี่ปุ่นคือยุทธวิธีในการเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินจากต่างประเทศ

“จากนี้ไปเราต้องการเจาะเมืองท้องถิ่น เน้นจุดที่มีพลังทางเศรษฐกิจสูง ต้นปีไปฟูกูโอกะ แล้วได้ผลมาก ขณะนี้มีจำนวนนักลงทุนเพิ่มขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในอีอีซี ครั้งนี้ที่นาโกยาซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 และจังหวัดมิเอะ มีจีดีพีโต 7.5% สูงที่สุดในญี่ปุ่น”

ปัจจุบันมีบริษัทของจังหวัดไอจิที่ลงทุนในไทยกว่า 300 บริษัท 440 สาขา มีมูลค่าลงทุน 1 ใน 3 ของมูลค่าลงทุนทั้งหมดของญี่ปุ่นในไทย

“ไทยจะกระชับความสัมพันธ์กับระดับท้องถิ่นของญี่ปุ่นซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากท้องถิ่นของญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีเอกลักษณ์ เพื่อเชิญชวนบริษัทขนาดใหญ่รวมทั้งธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพของจังหวัดไอจิ ในสาขาที่มีศักยภาพและสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อากาศยานและอวกาศไปลงทุนในอีอีซี”

 

ปลายนวมของการโรดโชว์เที่ยวล่าสุดคือ ความแนบแน่นระหว่างทีมของฝ่ายนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่มีทั้งระดับรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม, เลขาธิการคณะรัฐมนตรี, นายเอเค ซูซูกิ ผู้ว่าเมืองมิเอะ, ไอจิ ที่รับปากกับทีมนายสมคิด จะยกคณะนักลงทุนลงพื้นที่อีอีซีอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

“สมคิด” บอกว่า 1 ในปัจจัยความสำเร็จของ “ทีมอาเบะ” แห่งพรรคเสรีประชาธิปไตย คือมีนักการเมือง-นักบริหารอายุเฉลี่ย 40 ปี

เทียบกับทีมไทยที่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยใกล้เกษียณ