จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ ตอนที่ 29 “ปมการเมืองฮั่นยุคหลัง”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยหลังกับเงื่อนปมใหม่ทางการเมือง (ต่อ) 

ภารกิจที่ว่ายังคงปรากฏตรงชายแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้ อันเป็นพื้นที่ของชนชาติอ้ายลาวที่พูดภาษาไทที่มีที่ตั้งอยู่ตรงชายแดนอวิ๋นหนัน (ยูนนาน) ในปัจจุบัน

โดยใน ค.ศ.51 กษัตริย์อ้ายลาวต้องยอมแพ้กับการรุกรานของจีน จากนั้นจีนก็ส่งชนชาติฮั่นของตนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนของอ้ายลาว 2,770 ครัวเรือน จำนวนสมาชิกครัวเรือน 17,659 คน พอปี ค.ศ.69 ก็ส่งเข้าไปอีก 51,890 ครัวเรือน จำนวนสมาชิก 553,711 คน

ความพ่ายแพ้ของอ้ายลาวจนส่งผลดังกล่าวถือเป็นการบุกเบิกเส้นทางการค้าที่รู้จักกันต่อมาว่า “เส้นทางสายพม่า” (Burma Road)

แต่การค้าในความหมายของฮั่นสมัยหลังกลับเป็นการค้าภายใต้ระบบบรรณาการ ซึ่งให้ผลประโยชน์แก่จีนมากกว่าการค้าภาคเอกชน และก็ด้วยเหตุที่การค้าระบบบรรณาการมีที่มาในเชิงบังคับด้วยกำลังและการครอบงำ นโยบายต่ออ้ายลาวจึงถือเป็นนโยบายที่ผิดพลาดเช่นกัน

เพราะถึงที่สุดแล้วจีนก็มิอาจควบคุมชนชาตินี้ได้อย่างเด็ดขาด การต่อต้านแข็งขืนยังคงเกิดขึ้นโดยตลอด แม้แต่ในสมัยหลังๆ ต่อมาก็ตาม

แต่ที่น่าสนใจก็คือว่า ข้อมูลตรงนี้ได้บอกให้เรารู้ว่า ชนชาติอ้ายลาวที่พูดภาษาไทนั้น ดำรงความเป็นรัฐมาตั้งแต่เมื่อราวสองพันปีก่อนแล้ว และคงเป็นรัฐที่มาก่อนหน้านี้แล้วด้วย ครั้นจีนเข้ามารุกรานและยึดครองแล้วก็เกิดการผสมผสานทางชาติพันธุ์กันขึ้น

ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการผสมผสานนี้คงรวมเอาประเด็นวัฒนธรรมเข้าไปด้วย จนน่าคิดว่า ชนชาติอ้ายลาวหรือที่ปัจจุบันคือชนชาติไทนั้น แท้จริงแล้วมีวัฒนธรรมจีนเข้ามากลมกลืนมากน้อยเพียงใด?

 

ชนชาติถัดมาคือชนชาติที่อยู่ในภูมิภาคตะวันตก (the Western Regions) ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่จีนตั้งใจขยายดินแดนไปให้ถึง ชนชาติที่อาศัยในดินแดนแถบนี้ส่วนหนึ่งคือซย์งหนูที่เป็นปฏิปักษ์กับจีน ดังนั้น เมื่อจีนทำศึกกับซย์งหนู ชนชาติอื่นในแถบนี้จึงเข้ามาเกี่ยวพันกับจีนไปด้วย

ชนชาติอื่นที่ว่านี้มีหลายชนชาติ และหนึ่งในชนชาติเหล่านี้ก็คือ โหลวหลันและอูซุน

คำว่าโหลวหลันเป็นคำเรียกของจีน (1) ในขณะที่ชนชาตินี้ยังมีชื่ออื่นที่เรียกต่างกันตามแต่ละยุคแต่ละสมัยอยู่อีก เช่น ซั่นซั่น (จีน) ลอบนอร์ (Lob Nor, Lob Nur) หรือเชอร์เชน (Cherchen, จีนเรียกว่า เฉี่ยม่อ) เป็นต้น

ทั้งโหลวหลันและอูซุนมีถิ่นฐานอยู่ที่ที่ราบทาริม (Tarim Basin) ซึ่งก็คือซินเจียงในปัจจุบัน ถิ่นฐานนี้มีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นของซย์งหนู และด้วยเหตุที่ซย์งหนูมีอิทธิพลสูงกว่า สองชนชาตินี้จึงเป็นกำลังสำคัญของซย์งหนูจนเป็นเสมือน “มือขวา” ในบางครั้ง

จากเหตุนี้ ปฏิสัมพันธ์ที่จีนมีกับรัฐต่างๆ ในภูมิภาคตะวันตกจึงมิอาจแยกซย์งหนูฝ่ายเหนือออกไปได้

 

เช่นเดียวกับชนชาติอื่นที่กล่าวมา ที่ชนชาติในภูมิภาคตะวันตกเหล่านี้ก็มีชะตากรรมไม่ต่างกันเมื่อต้องสัมพันธ์กับจีน โดยบันทึกของฝ่ายจีนเล่าว่า ในช่วงแรกของฮั่นสมัยหลังภูมิภาคนี้ได้ตกอยู่ใต้อาณัติของจีน แต่ฐานะที่ว่านี้กลับไม่ต้องส่งบรรณาการหรือตัวประกันให้แก่จีน

สิ่งที่ต้องทำเมื่อถึงวาระที่ต้องส่งบรรณาการคือ ผู้นำของชนชาติในภูมิภาคนี้จะต้องคุกเข่าหันหน้าไปทางตะวันออก แล้วแสดงความคารวะต่อโอรสแห่งสวรรค์ที่ประทับอยู่ตรงทิศทางนั้น

หลังจากนั้นก็จะได้รับเงินทองของกำนัลและตราประทับจากราชสำนัก ตามมาด้วยที่ดินทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ ที่ดินนี้มีทางหลวงตัดผ่านและมีสถานีตั้งอยู่ตลอดเส้นทาง จนการเดินทางของคนเดินสาร (messengers) และล่าม (interpreters) ไม่มีทางชะงักได้ ชนป่าเถื่อนที่เป็นนายวาณิชและพ่อค้าเร่มักมายังชายแดนนี้ทุกวี่วัน

แม้จะเป็นระบบบรรณาการที่แปลก แต่ด้วยเหตุที่ดินแดนนี้มีซย์งหนูฝ่ายเหนือที่เป็นปฏิปักษ์กับจีนอาศัยอยู่ด้วย ดังนั้น ถ้าจีนจะทำศึกกับซย์งหนูแล้ว ศึกนั้นย่อมกระทบต่อรัฐในภูมิภาคตะวันตกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปด้วย

จากเหตุดังกล่าว ความสัมพันธ์ภายใต้ระบบบรรณาการที่ภูมิภาคตะวันตกมีกับจีนจึงมาสะดุดใน ค.ศ.77 เมื่อซย์งหนูฝ่ายเหนือและรัฐบริวารได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือรัฐในภูมิภาคนี้ และให้รัฐในภูมิภาคนี้ยุติระบบบรรณาการกับจีน จีนปล่อยให้เวลาผ่านไปสิบปีเศษจนถึง ค.ศ.89 จึงได้ส่งทัพมาทำศึกกับซย์งหนูตรงบริเวณมองโกเลียนอก (Outer Mongolia) ในปัจจุบัน

บันทึกฮั่นสมัยหลังรายงานว่า ฝ่ายซย์งหนูถูกฆ่าไป 13,000 คน อนุชนชาติซย์งหนู 81 ชนชาติที่รวมแล้ว 200,000 คนยอมแพ้แก่ทัพจีน

แต่กระนั้น ศึกที่มีกับซย์งหนูฝ่ายเหนือก็หาได้ยุติลงอย่างเด็ดขาดไม่ และกว่าจะยุติลงได้เวลาก็ล่วงเลยไปถึงศตวรรษที่ 2 แล้ว ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ฮั่นสมัยหลังได้เข้าควบคุมรัฐในภูมิภาคตะวันตกได้โดยพื้นฐาน และเป็นระยะแรกๆ ที่รัฐในภูมิภาคตะวันตกถูกปฏิบัติเยี่ยงอาณานิคม โดยที่หลังจากควบคุมได้อีกไม่กี่สิบปี ฮั่นสมัยหลังก็ถึงแก่กาลล่มสลาย

ถึงเวลานั้นภูมิภาคตะวันตกก็เป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง

 

ชาติ (รัฐ) หรือชนชาติตามที่กล่าวมานี้ ทำให้เห็นถึงปัญหาที่มีกับจีนในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าก่อนหน้านี้ประการหนึ่ง นั่นคือ การแย่งชิงทรัพยากรและที่ทำกิน

ปัญหานี้แม้จะเคยเกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้านี้ แต่ก็มิได้ลึกซึ้งเท่าในยุคนี้ ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในยุคนี้จีนได้ก้าวสู่การเป็นจักรวรรดิที่สมบูรณ์แล้ว ฐานะนี้สะท้อนผ่านการวางหลักการเมืองการปกครองที่แน่นอนผ่านลัทธิขงจื่อ การบริหารจัดการที่เป็นระบบมากขึ้น และวิทยาการที่ก้าวหน้ามากขึ้นจนมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เป็นต้น

แต่ในเมื่อปัญหาดังกล่าวได้เกิดขึ้นมา พร้อมกันนั้นในราชสำนักฮั่นสมัยหลังก็มีความขัดแย้งทางการเมืองภายในอย่างลึกซึ้ง วิกฤตจึงค่อยๆ ปรากฏขึ้น และวิกฤตเฉพาะประเด็นที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ก็คือความยากจนของราษฎร

ช่วงปลายศตวรรษแรกในรัชสมัยฮั่นเหอตี้นั้นได้เกิดกีฏภัยในเวลาที่ใกล้กันสองครั้ง ครั้งแรกเกิดระหว่าง ค.ศ.92-93 ครั้งที่สองเกิดระหว่าง ค.ศ.96-97 เมื่อมีฝูงตั๊กแตนจำนวนมหาศาลเข้ารุมกินพืชผลของราษฎรจนพังพินาศ

พอถึง ค.ศ.98 และ ค.ศ.100 ก็เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้นมาอีก และในระหว่าง ค.ศ.100-103 ก็เกิดปัญหากับราษฎรในท้องถิ่นทางตะวันตกเฉียงเหนือและเวียดนามขึ้น

มิไยที่ราชสำนักจะใช้มาตรการผ่อนปรนทางภาษีหรืออื่นๆ อย่างไร ก็มิอาจเยียวยาราษฎรที่ประสบปัญหาเหล่านี้ได้ เวลาผ่านไปอีกไม่กี่สิบปีจนถึง ค.ศ.153 ก็เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่จากแม่น้ำเหลืองและภัยจากตั๊กแตนขึ้นมาอีก คราวนี้มีราษฎรที่อดอยากจนต้องเร่ร่อนนับหลายแสนคน แต่ปัญหาที่หนักเช่นนี้กลับถูกทางการแก้ด้วยวิธีกลบเกลื่อนความพินาศ

โดยในท้องถิ่นได้มีการสั่งการให้ช่วยบรรเทาและช่วยเหลือแก่ผู้อดอยาก แต่กลับมิได้จัดหาสิ่งจำเป็นตามที่ผู้ประสบภัยต้องการ ตราบจน ค.ศ.155 เมื่อความอดอยากขยายวงกว้างยิ่งขึ้น รัฐในส่วนกลางกลับสั่งการให้รัฐในท้องถิ่นเรียกเอาธัญพืชร้อยละ 30 จากใครก็ได้ที่จะให้ได้เพื่อใช้บรรเทาทุกข์ดังกล่าว

ถ้าเช่นนั้นราษฎรที่จนตรอกและอดอยากจะทำอย่างไรเมื่อรัฐบาลใช้วิธีแก้ปัญหาเช่นนี้?

 

ความจริงก็คือว่า ราษฎรหรือที่แท้ก็คือชาวนาที่อยู่ในถิ่นเกิดหรือเร่ร่อนไปตายเอาดาบหน้านั้น ต่างก็ตกอยู่ใต้เงาของเจ้าที่ดินขนาดใหญ่ บันทึกชิ้นหนึ่งที่คาดว่าน่าจะเขียนขึ้นใน ค.ศ.150 เล่าจนชวนให้หดหู่ว่า…

“ชาวนารายย่อยจำต้องละทิ้งท้องไร่ท้องนาที่ดีของตน ที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเสมือนทองคำในห้วงคำนึง ผลของการละทิ้งครั้งนี้ยังรวมถึงเงินทองที่สั่งสมมาที่แทบจะไม่เหลือ ดังนั้น ชาวนาเหล่านี้หากไม่ไปเป็นสมุนติดอาวุธให้กับผู้ปกครองในพื้นที่ก็จะตั้งตนเป็นกองกำลังติดอาวุธเสียเอง

ในขณะที่จุดจบอีกสถานหนึ่งคือ การที่บุรุษจำต้องขายภรรยาและบุตรของตนเพื่อเอาตัวรอดจากเงินที่ได้มา”

——————————————————————————————————-
(1)ใครที่เคยดูซีรี่ส์ละครย้อนยุคของจีนที่เกี่ยวกับตำนานของมู่หลันซึ่งเป็นหญิงที่ปลอมตัวเป็นชายแล้วไปเป็นทหาร หรือเรื่องอื่นๆ ที่มีชนชาติในจีนเข้ามาเกี่ยวข้องนั้นอาจจะคุ้นหูชื่อชนชาติโหลวหลันนี้