อุบัติเหตุเรือท่องเที่ยวจีน กับองค์รวมการท่องเที่ยวไทย

เหตุการณ์หนึ่งๆ สามารถก่อให้เกิดทัศนะต่อเหตุการณ์นั้นๆ ได้ในหลากหลายแง่มุมมาก ทั้งในแง่ของบริบทปลีกย่อยและในแง่ขององค์รวม บางเหตุการณ์เหล่านั้นสามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่องที่เราคาดคิดไปไม่ถึงก็มี

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนมาก ก็คือรายงานข่าวตามหลังเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่จังหวัดภูเก็ตของสุนิล จักเทียนี กับณัฐนิชา ชูวิรัช ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตอนที่ทั้งประเทศและอาจจะเป็นทั่วทั้งโลกกำลังลุ้นระทึกอยู่กับหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตที่ถ้ำหลวงอยู่นั่นแหละครับ

แน่นอน ที่ชัดเจนประการหนึ่งเกี่ยวกับอุบัติเหตุน่าสลดดังกล่าวก็คือ ประเด็นปัญหาด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยว

หรืออีกบางคนอาจพานคิดไปถึงธุรกิจมืดที่รู้จักกันในชื่อ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ซึ่งไม่กังวลกับอื่นใดนอกเหนือจากการทำเงิน ทำรายได้ให้มากที่สุดเท่านั้น

แต่บลูมเบิร์กมองไกลไปกว่านั้น ตั้งคำถามที่แหลมคมอย่างมากเอาไว้ผ่านข้อเขียนชิ้นนี้ว่า หรือนั่นคือ “อาการ” อีกอย่างที่สะท้อนออกมาให้เห็นว่าประเทศไทยเรากำลังใกล้ถึงขีดจำกัดของตัวเองในการรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติแล้ว?

 

เหมือนเช่นกรณีที่รัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬาอย่างวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ยืนอวดซองบะหมี่สำเร็จรูปที่เป็นส่วนหนึ่งของพลาสติก 8 กิโลกรัมที่เอาออกมาจากซากวาฬ ที่ตายเพราะกินพลาสติกเหล่านี้แทนอาหารจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ก็เชื่อว่าเป็นอาการอีกอย่าง ซึ่งแสดงให้เห็นสภาพ “เต็มกลืน” ของการท่องเที่ยวไทย

เช่นเดียวกับกรณีของเกาะพีพีและอ่าวมาหยา ที่โด่งดังจาก “เดอะบีช” และดาราดัง “ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ” สุดท้ายก็จำเป็นต้อง “ปิดสนิท” งดรับนักท่องเที่ยวเด็ดขาดเป็นเวลา 4 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้ธรรมชาติฟื้นฟู

ฟื้นฟูจากสารพัดปัญหา ตั้งแต่สภาพแวดล้อมเสื่อมทราม ปะการังได้รับความเสียหายจากสมอเรือ เรื่อยไปจนถึงขยะมหาศาลบนหาดอันเนื่องมาจากการหลั่งไหลเข้ามาไม่หยุดหย่อนของนักท่องเที่ยว

บลูมเบิร์กมองว่าปัญหาเรือล่มดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์การท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวจีน “อย่างมีนัยสำคัญ” นัก แต่สะท้อนให้เห็นถึงการ “ขาดมาตรฐานความปลอดภัย” สืบเนื่องจาก “นักท่องเที่ยวจากต่างแดนจำนวนมากมุ่งหน้ามากรุงเทพฯ, แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นชายหาดระดับฮอตสปอตต่างๆ เหมือนเช่นกรณีภูเก็ต หรือไม่ก็จังหวัดดังทางเหนืออย่างเชียงใหม่ ทำให้ทรัพยากรทั้งหลายในท้องถิ่นไม่เพียงพอ”

 

ไอเก้ โชนิจ ผู้อำนวยการและหัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำกลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล “คอร์ซี” บอกกับบลูมเบิร์กว่า การไหลทะลักเข้ามายังประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นส่งผลกระทบอย่างมากและเห็นได้ชัดเจนอย่างยิ่งทั้งต่อท้องทะเลและชายฝั่งแล้ว และให้ความเห็นเพิ่มเติมเอาไว้ว่า

“ที่ผ่านมา มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีประวัติการบริหารจัดการการท่องเที่ยวระดับแมสส์อย่างนี้ได้ดี”

ประเด็นที่ชวนให้ต้องคิดต่อกันอีกมากก็คือ การท่องเที่ยวในเวลานี้คือองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งของเศรษฐกิจไทย คิดเป็นสัดส่วนให้เห็นภาพกันคร่าวๆ ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด

ประเด็นถัดมาก็คือ เมื่อถึงปีหน้าจำนวนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยจะเพิ่มมากขึ้นไปอีกเป็น 40 ล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ

โดยคาดว่าจะทำรายได้ให้กับประเทศกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2 ล้านล้านบาท

 

น่าสนใจอย่างมากตรงที่ เมื่อบลูมเบิร์กถามคำถามนี้ รัฐมนตรีวีระศักดิ์ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ศักยภาพรองรับการท่องเที่ยวของไทยกำลังใกล้ถึงขีดจำกัดแล้ว สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่เพียงทำให้เกิดการกระจุกตัวในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมทั้งหลายเท่านั้น ยังทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ซึ่งเป็นความท้าทายมากพอๆ กับการพยายามรักษาวัฒนธรรมและบุคลิกของชุมชนท้องถิ่น กับโบราณสถานที่เป็นมรดกของชาติไว้ในขณะที่เพิ่มขีดความสามารถในการดูดซับกระแสนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหลาย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพูดถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง, การเตรียมการขยายความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด, การเตรียมแผนจะใช้ระบบควบคุมการท่องเที่ยวโดยให้ผ่านการจองเพียงอย่างเดียวเพื่อควบคุมนักท่องเที่ยวในบริเวณหาดต่างๆ เรื่อยไปจนถึงเรื่องของการกำหนดให้ทำประกันภัยการเดินทาง

รวมถึงการศึกษาและนำเอาข้อดีของการบริหารจัดการทราฟฟิกการท่องเที่ยวเพื่อกระจายนักท่องเที่ยวจำนวนมากของประเทศอย่างฝรั่งเศสและอิตาลีเพื่อมาประยุกต์ใช้

แต่ถึงที่สุดแล้วท่านรัฐมนตรียืนยันว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งภายในและจากต่างประเทศ จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบ

ไม่เพียงแค่รับผิดชอบต่อศิลปวัฒนธรรม แต่ยังต้องรับผิดชอบต่อสภาวะแวดล้อมทั้งหมดอีกด้วย