ศาลยุติธรรมพัฒนาระบบยื่นฟ้องออนไลน์แล้ว 15 ศาล เล็งอนาคตเสนออัยการ-ตำรวจใช้ด้วย

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมสำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 12 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม จัดแถลงข่าวความคืบหน้าของระบบยื่นฟ้องและส่งคำคู่ความ (e-Filing Version 2) ซึ่งได้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภายหลังจากที่ได้เปิดใช้ระบบยื่นฟ้องและส่งคำคู่ความอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2560 เพื่อให้หน่วยงานศาลยุติธรึรมสามารถให้บริการคู่ความในการยื่นคำฟ้องทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ ทนายความและประชาชนสามารถประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาล

ระยะแรกได้ให้บริการในคดีผู้บริโภคที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ จำนวน 6 ประเภทคดี ได้แก่ คดีซื้อขาย เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ค้ำประกัน จำนอง จำนำ กู้ยืมเงิน และบัตรเครดิต และรองรับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตและบัตรเครดิต โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมให้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ปัจจุบันมีผู้ยื่นฟ้องผ่านระบบดังกล่าวจากศาลในโครงการ 15 ศาล รวมจำนวนทั้งสิ้น 784 คดี คิดเป็นจำนวนทุนทรัพย์ในคดีทั้งสิ้น 391,769,069.52 บาท

นายสราวุธ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงระบบการยื่นฟ้องและส่งคำคู่ความใหม่เรียกว่า e-Filing Version 2 เพื่อรองรับคดีใหม่เพิ่มเติมมากกว่าเดิม มีคดีร้องขอจัดการมรดก ร้องขอให้เป็นบุคคลสาบสูญ คดีผู้บริโภค รวมถึงคดีมโนสาเร่หรือคดีขับไล่ ไม่มีข้อยุ่งยาก และเพิ่มศาลที่ใช้ระบบนี้จากเดิม 6 ศาลเป็น 15 ศาล ประกอบด้วยศาลแพ่ง ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลแขวงธนบุรี ศาลแขวงนนทบุรี ศาลแขวงพัทยา ศาลแขวงเชียงใหม่ ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลจังหวัดตลิ่งชัน ศาลจังหวัดพระโขนง ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลจังหวัดธัญบุรี ศาลจังหวัดเชียงใหม่ และศาลแขวงดอนเมือง (เฉพาะคดีผู้บริโภค) ซึ่งในอนาคตจะเปิดอีก 3 ศาลคือ ศาลจังหวัดสมุย ศาลจังหวัดราชบุรี และศาลจังหวัดฝาง ก่อนจะเปิดใช้กับศาลทั่วประเทศในที่สุด

นายสราวุธกล่าวถึงขั้นตอนว่า วิธีการใช้ระบบนี้เช่นการยื่นฟ้อง เมื่อยื่นผ่านระบบ e-Filing แล้ว การชำระเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ ก็ใช้ผ่านอินเตอร์เน็ตแบ็งค์กิ้ง ทางเคาน์เตอร์สาขาและเอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย ที่ฟรีค่าธรรมเนียมถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งประชาชนที่เป็นตัวความต้องบอกทนายความ เพื่อให้ทนายยื่นแทน จะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายทางคดี เกิดความสะดวก รวดเร็ว ที่สำคัญ ในส่วนของกฎหมายสบัญญัติหรือวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ได้มีการออกกฎหมายรองรับไปแล้วว่าการยื่นคำคู่ความทาง e-Filing สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนได้แล้ว

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวด้วยว่า แม้ว่าระบบนี้จะเป็นทางเลือก แต่ในภาครัฐได้มีการประสานงานกับอัยการสูงสุดไปแล้วว่า ในกรณีอัยการเป็นทนายให้คณะกรรมการผู้บริโภค ที่เป็นตัวแทนผู้บริโภคฟ้องคดี ซึ่งจะนำระบบนี้ใช้กับอัยการด้วย และยังมีความคิดว่า ในอนาคตจะมีคดีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกวันนี้มีการฟ้องคดีที่ศาลปีละ 1.8 ล้านคดี มีคดีอยู่ 7 แสนคดีเป็นคดีอาญา ที่ส่วนใหญ่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ในคดีอาญาแทนรัฐนั้น ก็จะนำระบบ e-Filing มาใช้ในกระบวนพิจารณาคดีอาญาด้วย เพื่อความปลอดภัย ลดขั้นตอนเวลา คุ้มครองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน และจะมีการนำเสนอใช้กับชั้นพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกด้วย