นงนุช สิงหเดชะ/ปฏิบัติการ ‘กู้ 13 ชีวิต’ ถ้ำหลวง ‘นิทรรศการ’ ทรัพยากร-ศักยภาพมนุษย์

บทความพิเศษ  / นงนุช สิงหเดชะ

 

ปฏิบัติการ ‘กู้ 13 ชีวิต’ ถ้ำหลวง

‘นิทรรศการ’ ทรัพยากร-ศักยภาพมนุษย์

 

กลายเป็นเหตุการณ์ที่โลกติดตามและจดจำได้มากที่สุดสำหรับปฏิบัติการช่วยทีมฟุตบอลเยาวชน 13 ชีวิต ซึ่งติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นเพียงไม่กี่เหตุการณ์ที่สื่อระดับโลกทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ซีเอ็นเอ็น บีบีซี ฯลฯ จะส่งนักข่าวมาทำข่าวเกือบ 1,000 คน และรายงานสดแบบเกาะติดอย่างต่อเนื่อง ตลอดปฏิบัติการกว่า 2 สัปดาห์

หลายคนเปรียบเทียบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายกับกรณีคนงานเหมืองชิลีติดอยู่ใต้เหมืองนาน 69 วัน ซึ่งคนทั้งโลกพากันลุ้นและภาวนาว่าจะมีวิธีใดช่วยพวกเขาออกมาให้ทันเวลา ไม่ต่างจากการดูภาพยนตร์ที่มีพล็อตชวนบีบหัวใจว่าตัวละครในเหตุการณ์นั้นจะได้รับการช่วยเหลือทันเวลาหรือไม่

เมื่อมาประจวบเหมาะกับช่วงแข่งขันฟุตบอลโลก การติดอยู่ในถ้ำของ 13 นักฟุตบอลเยาวชน จึงกลายเป็นกระแสที่ทั่วโลกสนใจพอๆ กับการติดตามชมการแข่งขันฟุตบอลที่รัสเซีย

กระทั่งนักฟุตบอลและสโมสรดังทั้งโลกต่างส่งข้อความเอาใจช่วย ไม่รวมคนดังทั่วโลกอีกมากมาย

ความยากและท้าทาย อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังยอมรับว่าไม่เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน ส่งผลให้ต้องมีการระดมขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหลายประเทศทั่วโลก

โดยเฉพาะนักดำน้ำในถ้ำชั้นยอดมาช่วยกันวางแผน

เป็นจุดดึงดูดสำคัญที่ทำให้สื่อต่างประเทศสนใจ และนำเสนอข่าวอย่างเกาะติดจนสามารถเรียกความสนใจอย่างกว้างขวางจากประชาคมโลก

ปรากฏการณ์ที่เป็นจุดเด่นของเหตุการณ์นี้ก็คือการสะท้อนให้เห็นถึง “มนุษยธรรม-ความรัก-ห่วงใย” ที่คนทั้งโลกมีให้กันโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนาหรือแม้กระทั่งอุดมการณ์ทางการเมือง

แม้ว่าอาจต้องเผชิญอันตรายถึงชีวิต แต่คนเหล่านั้น โดยเฉพาะนักดำน้ำก็ยังพร้อมที่จะช่วยเหลือชีวิตของคนกลุ่มเล็กๆ ในอีกประเทศหนึ่งที่เป็นคนแปลกหน้า

แน่นอนว่าความสำเร็จในปฏิบัติการเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งไทยและต่างชาติที่เป็นผู้เสียสละอย่างเต็มที่

 

อย่างไรก็ตาม สื่อต่างชาติอย่างสำนักข่าวเอบีซี นิวส์ ของสหรัฐ ระบุว่าความสำเร็จในครั้งนี้ส่วนหนึ่งต้องชื่นชมว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ของไทยไม่อายที่จะขอความช่วยเหลือจากนานาชาติเมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นเกินศักยภาพของตัวเอง

เราเปิดรับทุกความเห็น ทุกข้อชี้แนะ ทุกความช่วยเหลือจากผู้ที่มีความรู้ ไม่ได้มีวัฒนธรรมรักษาหน้าเหนือกว่าการรักษาชีวิตคน

ในแง่วิชาการ นี่เป็นเหตุการณ์ล้ำค่าที่จะเป็นบทเรียนให้นำไปปรับใช้กับเหตุการณ์ที่มีลักษณะคล้ายกันอีก ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มทักษะการแก้ปัญหาให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยในถ้ำขึ้นไปอีกระดับ

ในแง่ของคนทั่วไป อุบัติเหตุติดถ้ำในครั้งนี้คล้ายกับเป็นงาน “นิทรรศการ” ทางความรู้อันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้เราได้เห็นทรัพยากรและศักยภาพหลากหลายด้านของมนุษย์ในโลกนี้ที่เราอาจไม่เคยรู้หรือไม่เคยสนใจมาก่อน

ซึ่งในที่นี้อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่า นอกจากนักดำน้ำสุดยอดของทหารอย่างหน่วยซีลแล้ว ก็ยังมีนักดำน้ำที่เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำและกู้ภัยในถ้ำเป็นการเฉพาะอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ที่ขึ้นชื่อกระฉ่อนก็คือชาวอังกฤษ 2 คนที่เป็นผู้พบ 13 ชีวิตในถ้ำเป็นคนแรก จนคลิปวิดีโอการพบ 13 ชีวิตเป็นครั้งแรก

เป็นคลิปที่มีผู้ชมทั่วโลกมากที่สุดคลิปหนึ่ง

 

ในทางนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำให้เราได้เห็นมันสมองของมนุษย์ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยเหลือผู้ติดถ้ำที่มีน้ำท่วมสูงและพื้นที่คับแคบ ดังจะเห็นได้จากอีลอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัทเทสลา อิงก์, สเปซเอ็กซ์ ได้ประดิษฐ์แคปซูลจิ๋วหรือเรือดำน้ำจิ๋วส่งมาเพื่อใช้ในภารกิจนี้ โดยใช้เวลาประกอบทั้ง 13 ลำเพียง 8 ชั่วโมงและจัดส่งด้วยเครื่องบินส่วนตัวถึงถ้ำหลวงเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม คือพูดจริง ทำจริง และทำไวมาก

อีลอน มัสก์ เป็นหนึ่งในอัจฉริยะของโลกปัจจุบัน ได้รับการจัดอันดับจากฟอร์บส์ให้เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของโลก มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์

โปรเจ็กต์ที่ทำให้เขาเป็นดาวเด่นของโลก ก็อย่างเช่น การสร้างรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ไม่ใช้น้ำมัน และใช้ชิ้นส่วนในการประกอบน้อยกว่ารถยนต์ทั่วไปหลายเท่า ซึ่งเขย่าตลาดรถยนต์แบบดั้งเดิมจนสะเทือนไปทั้งโลก

นอกจากนี้ก็มีแนวคิดประดิษฐ์จรวดเพื่อให้คนไปท่องเที่ยวดาวอังคารได้ในราคาประหยัด

ตอนแรกนึกว่ามัสก์จะส่งเพียงวิศวกรมาพร้อมกับแคปซูลจิ๋ว เพราะในทวิตเตอร์ของเขาก็ไม่ได้เอ่ยว่าเขาจะมาเอง

แต่ที่ไหนได้ เขาบินมาถึงถ้ำหลวงด้วยตัวเอง ซึ่งทุกคนรู้หลังจากที่เขาโพสต์ในทวิตเตอร์แล้ว

เพียงเท่านี้ก็ทำให้เหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง โด่งดังมากขึ้นไปอีก

 

เฉพาะในไทยเอง เหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงทำให้เราได้รู้ว่าองค์กรเอกชนและรัฐวิสาหกิจมีทรัพยากรมนุษย์และอุปกรณ์ที่สามารถช่วยเหลือภารกิจในครั้งนี้ได้ เช่น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ส่งหุ่นยนต์ 3 ชนิดที่สามารถตรวจสอบใต้น้ำมาช่วยสำรวจหาจุดที่เด็กอยู่

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งนักประดาน้ำ 6 คนมาเสริมหน่วยซีลพร้อมกล้องส่องที่แคบ บริษัทเชฟรอนประเทศไทย ส่งท่อน้ำดัดงอได้ 2,000 เมตร ถังอัดอากาศ 200 ถัง ไฟฉายและชูชีพดำน้ำ พร้อมนักธรณีวิทยาและวิศวกรอีก 20 คนเข้าร่วมภารกิจ

บริษัท ช.การช่าง จัดส่งเครื่องปั่นไฟ 6 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำ 20 เครื่อง เครือเจริญโภคภัณฑ์จัดส่งโทรศัพท์สมาร์ตโฟน 4G เพื่อติดต่อสื่อสารพร้อมน้ำดื่มและอาหาร

นอกจากนี้ก็มีทีมพญานาค ของนายชลอ เกิดปั้น ชาว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ส่งเครื่องปั่นไฟและเครื่องสูบน้ำพญานาคมาช่วยงานแบบปิดทองหลังพระ เช่นเดียวกับทีมเก็บรังนกนางแอ่นจากเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ที่มาช่วยสำรวจปล่องถ้ำเพื่อดูว่าตรงไหนจะสามารถเจาะเข้าไปเพื่อช่วยเด็กออกมา

ที่กล่าวถึงเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งท่ามกลางผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกว่า 1,000 คนในปฏิบัติการครั้งนี้ ยังไม่รวมจิตอาสาที่อยู่แนวหลังอีกจำนวนมาก

 

อีกแง่มุมหนึ่งที่สื่อต่างชาติทึ่งและประทับใจก็คือน้ำใจของคนไทย ทั้งผู้ที่ปรุงอาหารมาแจกจ่ายฟรี แม้จะอยู่ในป่าแต่มีพิซซ่าให้กิน มีเครื่องชงกาแฟเอสเปรสโซ่ มีผู้รับซักผ้าให้ฟรี จัดรถรับส่งฟรี ฯลฯ

ปฏิบัติการที่ถ้ำหลวง ถูกยกย่องว่าเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่คนเก่งทั้งโลกถูกระดมมาช่วยกันทำภารกิจที่ยากและท้าทาย และน่าจะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์โลก

ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือความสามารถของคนไทยในการระดมทรัพยากรมนุษย์ที่เก่งกาจจากทุกมุมโลกมาไว้ในที่เดียวกันในยามจำเป็น ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการทำงานทุกระดับ ไม่ว่าจะในระดับชุมชน องค์กรหรือระดับชาติ

แต่ที่ต้องสดุดีอย่างสูงสุด ก็คือ จ่าเอกสมาน กุนัน อดีตซีล ที่ได้สละชีพตนเองเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่นในครั้งนี้