หนุ่มเมืองจันท์ : กว่าจะ “เข้าใจ”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ผมเพิ่งกลับจากเมืองจันท์มาครับ

ช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงที่กลับไปบ้านเกิดบ่อยมาก

เมื่อเดือนที่แล้วก็ไปกับพี่น้อง “พี่ต่อ-เต้ย”

เดือนนี้ก็ไปกับ “ฟ้าใส” คนที่ชอบเรียกผมว่า “พ่อ”

เป้าหมายคือ “สวน” ครับ

สวนผลไม้ที่ผมและพี่น้องคุ้นเคยมาตั้งแต่เกิด

“ป๋า” เป็นชาวสวน บุกเบิกที่ดินแถวคลองขวางตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ

ปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง สละ ขนุน มะไฟ ฯลฯ

อะไรที่เรียกว่า “ผลไม้”

“ป๋า” ไม่พลาด

เวลาใครกินผลไม้อะไรก็ตาม “ป๋า” จะสั่งเลยว่าห้ามทิ้งเมล็ดเด็ดขาด

เขาจะเอาไปปลูก

หน้าบ้านเก่า จะเต็มไปด้วยทุเรียนที่เพาะเมล็ด และทาบกิ่งเป็น 100 ต้น

สมัยเด็ก พี่น้องแต่ละคนต้องสลับกันไปสวนในวันเสาร์-อาทิตย์

เป็นภารกิจที่น่าเบื่อหน่ายอย่างยิ่งสำหรับเด็ก

เพราะถนนก็เป็นลูกรัง

เราจะต้องนั่งท้ายรถ 6 ล้อฝ่าฝุ่นลูกรังเข้าสวน

งานที่สวน คือ การช่วยลากสายยางให้น้ำต้นเงาะ ทุเรียน

หรือบางช่วง “ป๋า” อยากใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ว่างอยู่

เลือกปลูกมันสำปะหลังเพราะไม่ต้องให้น้ำเลย

เราก็ต้องเอากิ่งมันสำปะหลังที่หั่นเป็นท่อนๆ ไปปักเป็นแนว

พอถึงเวลาก็ขุดมันไปขาย

ช่วงเก็บผลไม้ก็เข้าสวนไปช่วยเก็บ ช่วยขาย

แม้เวลาผ่านไปนานหลายสิบปี แต่นึกย้อนกลับไปภาพแห่งความทรงจำก็ยังชัดเจน

“ป๋า” รักสวนแห่งนี้มาก

อยากให้ลูกเรียนด้านเกษตร เพื่อมาดูแลสวน

แต่ไม่มีลูกคนไหนเรียนด้านนี้เลย

“ป๋า” บ่นนิดหน่อย แต่ก็ให้อิสระในการตัดสินใจกับลูกทุกคน

แล้วก็ทำสวนต่อไป

“ป๋า” เลือกสร้างฮวงซุ้ยที่สวนแห่งนี้อยู่กับแม่

แม้ว่า “ป๋า” จะชอบ “ทุเรียน”

แต่เขาเลือกสร้างฮวงซุ้ยที่คู่กับแม่หันไปหาแปลงที่ปลูกเงาะ

เพราะ “แม่” ชอบ “เงาะ”

“ฮวงซุ้ย” แห่งนี้จึงเหมือน “ทัชมาฮาล” แห่งความรักเล็กๆ

บอกว่า “ป๋า” รัก “แม่”

และ “ป๋า” รักสวนแห่งนี้มาก

ที่สำคัญเป็นการส่งสัญญาณบอกลูกว่า “พ่อแม่อยู่ที่นี่นะ”

สวนนี้…ห้ามขาย!!

หลังจาก “ป๋า” จากไป เราก็ปล่อยให้สวนแห่งนี้ได้ผจญภัยตามธรรมชาติ

“จอย” น้องสาวคนเล็กที่อยู่เมืองจันท์รับภาระดูแลต่อตามเวลาที่ว่าง

ตอนแรกมีคนสวนอยู่ 3 คน

ตอนนี้เหลือ 1 คน

คิดดูสิครับ คนสวน 1 คนต่อสวนผลไม้ 60 ไร่

จะไหวหรือครับ

จนเมื่อปีที่แล้ว พี่น้องก็ตกลงแบ่งสวนกันคนละ 10 ไร่

ตอนแรกทุกคนก็ปล่อยไปเหมือนเดิม

จน “พี่ต่อ” เกิดไอเดียอยากลงมาทำสวนอย่างจริงจัง

พี่น้องคนอื่นจึงเริ่มสนุก

ต่างคนเริ่มหาข้อมูล

อาศัยพื้นฐานที่พอมีกันอยู่บ้างก็เริ่มปะติดปะต่อได้ไม่ยาก

“พี่-เพื่อน-น้อง” ที่ทำสวนก็มีเยอะพอสมควร

เราเตรียมเพิ่มคนสวนอีก 2-3 คน และเตรียมลงทุนเพิ่มอีกหลายอย่าง

เพียงแค่เดือนเดียว สวนที่รกเรื้อก็เปลี่ยนไปจาก “หลังมือ” เป็น “หน้ามือ”

เราระดมรถไถ รถตัดหญ้า มาลุยเต็มที่

พอสวนโล่ง เราก็เห็นต้นไม้ชัด

เข้าไปดูแล้วสงสารเลยครับ

ยังกะเด็กเอธิโอเปีย

ผอมแห้งขาดสารอาหารชัดมาก

ที่เคยสงสัยว่าทำไมให้ผลน้อยจัง

พอเห็นสภาพต้นเงาะ ทุเรียน แล้วเข้าใจเลยครับ

มันคงอยากบอกเราเต็มที

แค่ออกลูกให้ก็บุญแล้ว

แปลงของผมมีทุเรียน มังคุด และขนุน

ที่น่าสงสารที่สุดคือ “ขนุน”

มี “ขนุน” ทิ้งเน่าคาต้นอยู่ 2-3 ต้น

วัชพืชเลื้อยพันตามต้นแบบไม่เกรงใจต้นไม้ใหญ่เลย

ทุเรียนก็โทรมสุดๆ ใบเล็กๆ เขียวอ่อนจนเหลือง

มังคุดไม่มีปัญหา เพราะเป็นพืชที่ทนแล้งเป็นอย่างดี

ผมเดินดูต้นไม้แต่ละต้นช้าๆ

เริ่มต้นด้วยคำขอบคุณ

ขอบคุณที่ยังไม่ตาย

สัญญากับเขาว่าจะรีบให้ปุ๋ยเร็วที่สุด

ทุกอย่างต้องดีขึ้นกว่าเดิม

แดดในสวนแม้จะร้อน แต่ก็ไม่แรง

เหงื่อเต็มตัว แต่ไม่เหนื่อย

ไม่น่าเชื่อว่าผมจะเดินดูสวนได้นานหลายชั่วโมง

อย่างมี “ความสุข”

ผมนึกถึง “ป๋า” ตอนที่เข้าสวน

เขาเดินดูสวนได้เรื่อยๆ

มีกรรไกรเล็กๆ อันหนึ่งติดมือ

เจอกิ่งไหนที่ต้องตัดแต่งก็ตัดเลย

สมัยเด็ก เราจะรบเร้าให้ “ป๋า” กลับบ้านเสียที

สวนน่าเบื่อมาก

แต่ “ป๋า” ก็จะยื้อไปเรื่อยๆ

กว่าจะกลับก็เย็นทุกครั้ง

วันนี้ ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไม “ป๋า” ถึงอยู่กับสวนได้นาน

มันไม่ใช่เรื่องธุรกิจ

ไม่ใช่ตัวเลขกำไร-ขาดทุน

แต่มันเป็นเรื่องความสุขทางใจ

วันนี้ “ป๋า” คงดีใจที่เห็นพี่น้องคุยกันเรื่องสวน

แต่คงคิดในใจ

ทำไมเพิ่งมาคุยกันวันนี้

ตอนอยู่ทำไมไม่คุย