ในประเทศ : ‘ครูบาบุญชุ่ม’ แม่นราวกับตาเห็น ประตูถ้ำเปิดพา 13 ชีวิตกลับบ้าน

นาทีนี้ชื่อของ “ครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร” แห่งวัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง รัฐฉาน ได้รับการขนานนามอย่างทั่วหน้าในฐานะของ “พระเกจิอาจารย์” อีกรูปหนึ่งในสังคมไทยที่มีความเชื่อในเรื่องราวของ “ปาฏิหาริย์” กันอยู่ ทันทีที่เวลา 21.38 น. วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2561 เมื่อเจ้าหน้าที่ได้พบ 13 ชีวิตทีมหมูป่า

เพราะเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 30 มิถุนายนนั้น ครูบาบุญชุ่มได้เดินทางมาทำพิธีเปิดตาและแผ่เมตตา ก่อนจะทำพิธีภายในถ้ำหลวง โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กและโค้ช 13 ชีวิตเดินทางเข้าไปด้วย

ก่อนหน้านั้นเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 29 มิถุนายน ครูบาบุญชุ่มได้เดินทางมาทำพิธีถอนขึดบริเวณปากทางเข้าถ้ำ โดยนำไก่และกระต่ายสีขาวมาทำพิธีเปิดทางแลกกับทั้ง 13 ชีวิต ให้เจอทางออกจากถ้ำหลวงตามความเชื่อของคนในท้องถิ่น

โดยมีครอบครัวญาติพี่น้องทั้ง 13 ชีวิต ชาวบ้านทั้งไทย เมียนมาที่ศรัทธาครูบาบุญชุ่มมาร่วมพิธี พร้อมกับแผ่เมตตาให้เจ้าแม่นางนอนที่เชื่อว่าสิงสถิตอยู่ที่ถ้ำหลวงแห่งนี้

โดยหลังทำพิธีทั้ง 2 วันนั้น ครูบาบุญชุ่มได้กล่าวไว้ว่า “เด็กๆ ยังมีชีวิตอยู่ อีก 2-3 วันจะได้เจอ”

แล้วค่ำคืนของวันที่ 2 กรกฎาคม พลันเกิด “ปาฏิหาริย์” เมื่อพบทั้ง 13 ชีวิตยังดำรงอยู่

แต่ก่อนหน้าจะพบเจอทั้ง 13 ชีวิต เมื่อครั้งที่ครูบาบุญชุ่มได้ทำพิธีในครั้งแรก ก่อนทำพิธีได้เกิดฝนตกอย่างหนัก แต่เมื่อครูบาบุญชุ่มเริ่มทำพิธี ฝนที่ตกหนักได้หยุดลงช่วงหนึ่ง สร้างความตกตะลึงให้เจ้าหน้าที่และชาวบ้านมาแล้ว

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือการเดินทางมาทำพิธีของครูบาบุญชุ่มนั้น เพราะมีเรื่องเล่าขานถึงความเกี่ยวพันระหว่างท่านกับถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แห่งนี้

เมื่อคุณนัฏนุช ประเสริฐทอง ได้ฝันว่าเจ้านางดอยนางนอน ชื่อว่า เจ้านางปิ่นคำ อยากให้ครูบาบุญชุ่มมาโปรดนาง โดยรอมากว่า 300 ปี ที่สอดรับกับเรื่องราวจากคำบอกเล่าของลูกศิษย์ครูบาบุญชุ่มว่า

ชาติที่แล้วครูบาเกิดเป็นคนเลี้ยงม้า

ตามตำนานเล่าขานอันเป็นที่มาของชื่อถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน หรือดอยนางนอน ว่า มีเจ้าหญิงเมืองเชียงรุ้ง สิบสองปันนา ประเทศเมียนมา พบรักกับคนเลี้ยงม้า ซึ่งเป็นคนละฐานะกัน จึงพากันหนีมาอยู่ที่นี่ซึ่งเป็นป่า

คนเลี้ยงม้าบอกจะออกจากถ้ำไปหาน้ำ แต่ทหารของเจ้าหญิงมาเจอจึงฆ่าคนเลี้ยงม้าตาย

เมื่อเจ้าหญิงทราบจึงใช้ปิ่นปักผมแทงไปที่ขมับตัวเองจนเลือดไหลออกมาเป็นสาย

กลายเป็นแม่น้ำแม่สายในทุกวันนี้

และพระวรกายของพระองค์ที่นอนเหยียดยาวจากทิศใต้จรดทิศเหนือ ก็กลายเป็นดอยนางนอนจนทุกวันนี้

โดยส่วนของพระอุทร (ท้อง) ก็เป็นดอยตุง

กล่าวสำหรับปูมหลังครูบาบุญชุ่ม มีชื่อเดิมว่าบุญชุ่ม ทาแกง เกิดเมื่อวันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ.2508 เวลา 09.00 น. ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 4 ที่บ้านแม่คำหนองบัว ต.แม่คำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย เป็นบุตรของพ่อคำหล้า ทาแกง และแม่แสงหล้า ทาแกง

แต่ก่อนแม่แสงหล้าจะตั้งครรภ์ครูบาบุญชุ่มนั้น ได้ฝันว่าได้ขึ้นภูเขาไปไหว้พระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่เหลืองอร่ามงามมากนัก

ได้บวชเรียนตามปณิธานที่ตั้งไว้แต่วัยเยาว์ โดยบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2519 ณ วัดศรีบุญยืน ต.ศรีดอยมูล (ป่าถ่อน) อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มีพระครูหิรัญเขตคณารักษ์ เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง และเจ้าคณะอำเภอเชียงแสน เป็นพระอุปัชฌาย์

ขณะเป็นสามเณรได้จำพรรษายังวัดต่างๆ ทั้งในไทย พม่า และเนปาล

โดยพรรษาที่ 1-2 ได้จำพรรษาที่วัดบ้านด้ายธรรมประสิทธิ์ ต.ป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

พรรษาที่ 3 จำพรรษาที่วัดพระธาตุดอยเวียงแก้ว ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

พรรษาที่ 4 จำพรรษาที่วัดทุ่งหลวง ต.แม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

พรรษาที่ 5-6 จำพรรษาที่วัดจอมแจ้งบ้านกวดขี้เหล็ก ต.จอมแจ้ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

พรรษาที่ 7 จำพรรษาที่วัดเมืองหนอมป่าหมากหน่อ บ้านห้วยน้ำราก อ.แม่จัน จ.เชียงราย

พรรษาที่ 8-9 จำพรรษาที่วัดพระธาตุจอมศรีดับเภมุงเมือง วัดพระนอนเมืองพง พม่า

พรรษาที่ 10 จำพรรษาที่วัดอนันทกุฎีวิหาร กรุกัฏมันฑุ ประเทศเนปาล

บรรพชาเป็นสามเณร 10 พรรษา

ในปี พ.ศ.2529 หลังอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วได้จำพรรษาที่วัดพระธาตุจอมศรีดับเภมุงเมือง วัดพระนอน เมืองพง พม่า

พ.ศ.2530-2532 จำพรรษาที่วัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง พม่า

พ.ศ.2533 จำพรรษาที่สวนพุทธอุทยานใกล้พระธาตุดอยเรือง

พ.ศ.2534 จำพรรษาที่ห้วยดอนเรือง ใกล้พระธาตุดอนเรือง

พ.ศ.2535 จำพรรษาที่ดอยป่าไม้เปา ใกล้พระธาตุดอนเรือง

พ.ศ.2536-2538 จำพรรษาที่ถ้ำห้วยรัง บ้านมู่เซอ จ่ากู่

พ.ศ.2539-2540 จำพรรษาที่ถ้ำพระพุทธบาทผาช้าง ระหว่างเมืองแฮะ-เมืองขัน เขตว้าแดง

พ.ศ.2541 จำพรรษาที่ถ้ำผาจุติง ประเทศภูฏาน

พ.ศ.2542 จำพรรษาที่ถ้ำพระพุทธบาทผาช้าง

พ.ศ.2543-2544 จำพรรษาที่ถ้ำน้ำตก เมืองแสนหวี สีป้อชายแดนพม่า-จีน

พ.ศ.2545 จำพรรษาที่ถ้ำผาจุติง ประเทศภูฏาน

พ.ศ.2546-2547 จำพรรษาที่กองร้อยทหารตระเวนชายแดน เมืองปูนาคา

ด้วยครูบาบุญชุ่มได้รับความเคารพนับถือทั้งจากชาวไทยใหญ่ ชาวพม่า ชาวลาว ชาวเขา และบริเวณชายแดนจีนและลาว

ทำให้รัฐบาลทหารพม่าไม่พอใจ เห็นว่าครูบาบุญชุ่มเป็นภัยต่อความมั่นคงพม่า โดยทำให้ชาวไทใหญ่ไม่นับถือพระพม่า และยังฝักใฝ่ประเทศไทย จึงพยายามกีดกันขัดขวางไม่ให้ครูบาบุญชุ่มปฏิบัติศาสนกิจ ครูบาบุญชุ่มจึงได้เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2547

มาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์บ้านแม่ลัว ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย

พ.ศ.2548 จำพรรษาที่ถ้ำผาแดง ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

ต่อมาได้มาจำพรรษาที่วัดถ้ำราชคฤห์ ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง โดยในปี พ.ศ.2553 ครูบาบุญชุ่มได้ตั้งสัจจะจะถือศีลบำเพ็ญเพียรในถ้ำ 3 ปี 3 เดือน 3 วัน 3 ชั่วโมง 33 นาที ไม่มีการปลงผม ไม่ฉันอาหารใดๆ ฉันเพียงผลไม้ที่ลูกศิษย์หาได้ตามป่านำมาถวาย และไม่รับกิจนิมนต์ใดตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน

และได้ออกมาจากถ้ำเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2556 เพื่อร่วมงานอาสาฬหบูชา เทศนาสั่งสอนรวม 3 วัน และกลับเข้าสู่กรรมฐานต่อเป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงเข้าพรรษาตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม

ก่อนออกจากถ้ำเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา ในสภาพผมยาวรุงรังและหนวดเคราที่งอกยาว

ต่อมาในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 ครูบาบุญชุ่มได้เดินทางไปยังวัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง จ.เชียงตุง เพื่อโปรดญาติโยม โดยไม่มีกำหนดเดินทางกลับเมืองไทย

โดยครั้งนี้ทางการพม่าได้ออกบัตรประจำตัวพระภิกษุถวายแก่ครูบาบุญชุ่ม ทำให้สามารถเดินทางเข้า-ออกพม่าได้อย่างสะดวก

ครั้งนั้นเมื่อเดินทางถึงท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศพม่า มีประชาชนชาวไทยใหญ่ พม่า ออกมาแห่ต้อนรับกันอย่างแน่นหนาเต็มท้องถนน

ด้วยครูบาบุญชุ่มเดินทางออกจากพม่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 และเพิ่งมีโอกาสได้กลับไป

นับแต่บรรพชาเป็นสามเณรจนกระทั่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วนั้น ครูบาบุญชุ่มได้ก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ ทั้งในไทย พม่า และลาว ไม่ต่างไปจาก “ครูบาศรีวิชัย” ที่ได้เคยทำไว้ในอดีต

และด้วยเหตุที่ครูบาบุญชุ่มมีวัตรปฏิบัติด้านวิปัสสนากรรมฐาน เข้านิโรธกรรมบำเพ็ญเพียรในถ้ำเป็นกิจ จึงได้รับการยกย่องเป็น “ครูบา” ซึ่งเป็นคำยกย่องพระภิกษุจากประชาชนตามประเพณีของชาว “ยวน” แบบชาวเหนือ

และด้วยวัตรปฏิบัติของครูบาบุญชุ่มเป็นที่ศรัทธาของชาวไทยทางภาคเหนือ ชาวฉาน ชาวเขาบางเผ่า ตลอดจนชาวลื้อ ชาวเขิน ล้วนเชื่อว่าครูบาบุญชุ่มเป็น “ตนบุญ” อย่างที่มีความศรัทธาต่อครูบาศรีวิชัยในอดีต

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวไว้ในบทความ “ตัวใครตัวมันทางศาสนา” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับวันที่ 24-30 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 ถึง “ตนบุญ” ไว้ว่า

“ความหมายของ “ตนบุญ” นั้นย่อให้ถึงแก่นคือพระโพธิสัตว์ ซึ่งจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต”

คลิกอ่านบทความ อ.นิธิ ฉบับเต็ม

“กิจกรรมของพระโพธิสัตว์ในเชิงรูปธรรมที่มองเห็นได้ก็คือ การลงมาช่วยให้ชาวบ้านร้านช่องได้ “บุญ” ด้วยการเป็นแกนระดมกำลังในการก่อสร้างหรือบูรณะแหล่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา เช่น พระธาตุ (พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ), วัดเก่าที่ร้างหรือเสื่อมโทรม และอาจมีสาธารณูปโภคที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วย”

“ขอให้สังเกตว่า “ตนบุญ” หรือพระโพธิสัตว์ในประเพณีพุทธศาสนาแบบ “ยวน” แตกต่างจากพระอรหันต์ ซึ่งได้บำเพ็ญเพียรจนตนเองพ้นทุกข์ แต่ไม่ได้เป็นสะพานเชื่อมโยงให้ชาวบ้านเข้าถึง “บุญ” ไม่ได้ฟื้นฟูพระศาสนาที่เสื่อมโทรมให้กลับมาดีเหมือนเก่า”

ศรัทธาที่มีต่อครูบาบุญชุ่มไม่ได้เพิ่งมีเกิดขึ้นหลังทำพิธีที่ถ้ำหลวงแล้วพบ 13 ชีวิตทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำถึง 9 วันยังรอดปลอดภัยดี แต่เกิดขึ้นมายาวนานแล้ว และไม่เพียงชาวบ้านธรรมดาเท่านั้น

เพราะเมื่อต้นปี พ.ศ.2561 ครูบาบุญชุ่มยังไปเยี่ยมให้กำลังใจพลเอกอาวุโส หม่อง เอ วัย 81 ปี ซึ่งวางมือจากการเมืองพร้อมพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย

อีกทั้งเมื่อทำพิธีเปิดถ้ำช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่าเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2561 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะเดินทางกลับ ครูบาบุญชุ่มยังได้กล่าวท่ามกลางสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ และประชาชนที่เดินทางมาส่งที่รถว่า

“ต้องทำข่าวให้ดีนะ ทำข่าวให้เรียบร้อย ให้กำลังใจทุกคน ให้ทุกคนโชคดี มีความสามัคคี ขอให้ประเทศไทยได้เลือกตั้งเร็วๆ เหมือนประเทศพม่า สาธุ”