มุกดา สุวรรณชาติ : เพลงรณรงค์ 7 สิงหา ประชามติฯ บ่งชี้สถานการณ์ที่ยังมืดมัว

มุกดา สุวรรณชาติ

หลังจากที่ กกต. ปล่อยเพลงรณรงค์การลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ออกมา ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เนื้อหามีลักษณะลำเอียง เนื้อเพลงให้ความหมายที่ดูถูกคนภาคเหนือ และภาคอีสาน

ทีมวิเคราะห์ได้นำเนื้อหาของเพลงนี้มาดูแล้ว และลองย้อนกลับไปดูเพลง…

7 สิงหา สู้บนทางปืน…

เพลงปฏิวัติซึ่งแต่งขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคมช่วงที่นักศึกษาหนีเข้าป่าไปจับอาวุธสู้กับรัฐบาล จึงมีความเห็นว่าเพลง 7 สิงหาประชามติร่วมใจ ไม่ได้ผิดปกติอะไร เพลงนี้ไม่ได้ดูถูกคนภาคไหน เนื้อเพลงถูกแต่งตามสถานการณ์การเมือง

และถ้ามองย้อนหลังไปดูเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา จะพบว่าไม่ได้ดูผิดจริงๆ

เป็นธรรมดาของการเขียนเพลงการเมืองที่จะสะท้อนเหตุการณ์ตามช่วงเวลานั้นๆ อาจจะผ่านการวิเคราะห์การประเมินหรือการคาดคะเน

เพลง…7 สิงหาสู้บนทางปืน
บอกทั้งสถานการณ์
และแนวทางการต่อสู้ในยุคนั้น

เพลงนี้ไม่แน่ใจว่าถูกแต่งขึ้นในวันเวลาใด แต่เป็นช่วงที่นักศึกษาหนีเข้าป่า น่าจะอยู่ในระหว่างปี 2520 ถึง 2521 ได้ฟังครั้งแรกจากวิทยุคลื่นสั้น สถานีเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย ของ พ.ค.ท.

ผู้แต่งทำนองคือ จิ้น กรรมาชน

ผู้แต่งคำร้องคือ วิสา คัญทัพ ซึ่งขณะนั้นทั้งสองคนอยู่ในป่า

สภาพเหตุการณ์ที่เป็นจริงในขณะนั้นนักศึกษาซึ่งรวมทั้งผู้แต่งได้หลบหนีการสังหารหมู่ จากการรัฐประหารวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อหนีเข้าป่าไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย (พ.ค.ท.) ซึ่งได้ใช้แนวทางยึดอำนาจรัฐด้วยกำลังอาวุธ ใช้ยุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมือง

(ได้มีการปะทะครั้งแรกกับกำลังฝ่ายรัฐบาล ที่เรียกว่า วันเสียงปืนแตก คือวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ซึ่งช่วงเวลานั้น จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ออกจากคุกหลังจากถูกจับขังนาน 6 ปี และเข้าป่าจับอาวุธเข้าต่อสู้เช่นกัน เพลงที่ จิตร ภูมิศักดิ์ แต่ง จึงเป็นเพลงที่สอดคล้องกับสถานการณ์การปฏิวัติที่ใช้กำลังอาวุธและอยู่ในเขตป่าเขาเช่นเพลงภูพานปฏิวัติ )

ผ่านไป 10 ปี เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นักศึกษายุคที่ 2 หนีเข้าป่า จับอาวุธลุกขึ้นสู้ เพลงการเมืองก็ยังเป็นเพลงปฏิวัติที่บ่งชี้ถึงแนวทางการต่อสู้ตามสถานการณ์ขณะนั้น เนื้อเพลงบอกอย่างชัดแจ้ง ผู้เขียนลองเปิด youtube ฟังเพลงนี้ที่เล่นโดยวงซิมโฟนีออเคสตร้าซึ่งน่าจะแสดงในหอประชุมใหญ่ที่ไหนสักแห่ง…

ปัง…ปัง…คือเสียง เปรี้ยงปืนรัวร้อง ดังก้องป่า

ดังคำรามมา เป็นเพลง แห่งชัย ของประชา

…………………………………………………

7 สิงหาคม อุดมการณ์ของ ทหารป่า

อำนาจรัฐไทยนั้นจักได้มา นั้นด้วยปืน

ขอผองเราจง รวมกัน หยัดยืนสู้ทน

ก้าวสู่แห่งหน สู้บนทางปืน…

50 ปีผ่านไป หลังจากเสียงปืนแตกเมื่อ 7 สิงหาคม 2508 ปีนี้ 2559 เวลาที่ผ่านมาครึ่งศตวรรษทำให้แนวทางยึดอำนาจรัฐก็เปลี่ยนไปเช่นกัน คนที่ยังยึดแนวทางว่า อำนาจรัฐต้องมาจากปากกระบอกปืน ดูเหมือนจะไม่ใช่พวกที่ออกมาจากป่า ทำไมพวกเขาไม่อยากใช้ปืนยึดอำนาจรัฐอีกแล้ว อาจจะเป็นเพราะมีบทเรียน และมองเห็นความเสียหายที่เกิดจากการใช้กำลังอาวุธเข้าต่อสู้กันในสภาพเช่นนี้แนวทางการต่อสู้จึงกลับมาสู่ระบบรัฐสภา ในระบอบประชาธิปไตย

แน่นอนว่าโดยธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าไม่ถูกต้อนจนจนตรอกจริงๆ คงไม่มีใครคิดอยากจะเข่นฆ่ากันจนขยายเป็นสงครามตายเป็นหมื่นเป็นแสน การแสวงหาทางสันติ จึงได้รับการยอมรับมากขึ้น

แต่การต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตย มีกฎระเบียบ มีวัฒนธรรมการเมืองที่ต้องทำตาม ถ้าไม่ทำจะเกิดความยุ่งยาก มีความสับสนวุ่นวายและอาจย้อนกลับไปสู่การใช้กำลังอีกครั้งก็ได้

เพลง 7 สิงหา ประชามติร่วมใจ
บอกสถานการณ์ปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญที่บอกว่าเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นหลักของประชาธิปไตย ถูกร่างขึ้นมาเพื่อใช้ร่วมกันจนถึงวันนี้ การลงประชามติจึงถูกกำหนดให้เป็นขั้นตอนของการวัดระดับการยอมรับ ว่าจะผ่านหรือไม่

แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมิได้เริ่มต้นมาจากกระบวนการที่ถูกต้อง ในระบอบประชาธิปไตยคำว่าอำนาจเป็นของประชาชนโดยประชาชน ควรเริ่มต้นที่การร่างรัฐธรรมนูญ แบบมีกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีตัวแทนของประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมเพื่อสร้างกติกาที่จะใช้ร่วมกัน

แต่ที่ผ่านมามีคนกลุ่มหนึ่งมาจัดการร่าง รธน. ให้ วันนี้มาถึงขั้นที่รัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้ว อาจไม่ถูกใจหลายฝ่าย แต่บางคนก็สามารถตั้งคำถามพ่วงเข้าไปได้ กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญหวังว่าคนส่วนมากจะยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้

แต่ ของจริงไม่มีใครรู้ ว่าวันลงประชามติประชาชนจะยอมรับหรือไม่?

ถ้าดูจากเนื้อเพลง 7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ความเห็นของทีมวิเคราะห์ คิดว่าเนื้อเพลงได้สะท้อนสถานการณ์สะท้อนความวิตกกังวล ที่จะเกิดขึ้น

คือกลัวว่าประชาชนภาคเหนือ ภาคอีสาน จะไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง โดยคิดว่าจะมีคนมาชักจูงชี้นำให้ออกซ้าย ออกขวาไปไม่ตรงทาง

แต่ดูแล้วคนที่จะมีสิทธิ์ออกไปชี้แจงชาวบ้าน มีแต่ ครู ก. ข. ค.

ส่วนประชาชนภาคใต้ ก็ถูกมองว่าจะลงประชามติยอมรับค่อนข้างแน่ โดยเชื่อฝีมือของแกนนำ ว่าทำได้เพราะสามารถนำมวลชนชุมนุมประท้วงเรื่องราคายางในขณะที่มีราคา 80 บาทต่อกิโลและยังมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลต่อในปลายปี 2556 จนถึงต้นปี 2557

ดังนั้น จึงคาดคะเนว่าเสียงจากภาคใต้น่าจะอยู่ในอวย สามารถถูกควบคุมโดยผู้นำที่เห็นด้วยและสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยางราคาไม่ดี จะคุมได้แค่ไหน เพราะเพลงก็บอกว่าคนใต้รักความเสรี

ความกังวล
ที่สะท้อนออกมาในเพลง มีเหตุผล

ทําไมคนภาคเหนือ ภาคอีสาน จึงถูกมองว่าอาจจะเดินเอียงซ้าย เบี่ยงขวาไม่ตรงทางเพราะ

1. บทเรียนการลงประชามติ รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 พบว่าคะแนนเสียงภาคอีสานไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ 2550 มากที่สุดแม้ขณะนั้นหลายจังหวัดจะใช้กฎอัยการศึก เสียงไม่ยอมรับถัดมาก็คือภาคเหนือ ส่วนภาคใต้ยอมรับมากที่สุด

ภาคอีสาน ยอมรับ 3,050,182 คน (37.20%) ไม่ยอมรับ 5,149,957 คน (62.80%)

ภาคกลาง ยอมรับ 5,714,973 คน (66.53%) ไม่ยอมรับ 2,874,674 คน (33.47%)

ภาคใต้ ยอมรับ 3,214,506 คน (88.30%) ไม่ยอมรับ 425,883 คน (11.70%)

ภาคเหนือ ยอมรับ 2,747,645 คน (54.47%) ไม่ยอมรับ 2,296,927 คน (45.53%)

มีคนลงประชามติยอมรับ รธน. 50 ประมาณ 14,700,000 เสียง หรือคิดเป็น 57.8% มีมติไม่รับร่าง รธน. ประมาณ 10,700,000 เสียง 41.3% การออกเสียงประชามติ 2550 มีผู้มีสิทธิประมาณ 45,100000 คน ผู้มาใช้สิทธิประมาณ 26 ล้านคน คิดเป็น 57.% ทำบัตรเสียประมาณ 5 แสนใบ

มีผู้ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญสูงถึง 24 จังหวัด แบ่งเป็นภาคเหนือ 7 จากทั้งหมด 15 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จากทั้งหมด 19 จังหวัด ที่มีผู้เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญมากที่สุด คือ จ.ชุมพร 197,717 เสียง คิดเป็นร้อยละ 93.20 และ จ.นครพนม เห็นชอบน้อยจำนวน 60,372 เสียงคิดเป็นร้อยละ 22.41

2. บทเรียนการเลือกตั้ง ปี 2550

ก่อนการเลือกตั้ง สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ ปชป. ขณะนั้น ประเมินว่าโอกาสที่กลุ่มไทยรักไทย จะได้ ส.ส.เขตถึง 130 ที่นั่ง จากทั้หมด 400 เขต ก็มีอยู่สูง เมื่อรวมกับจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โอกาสที่อดีต ส.ส. กลุ่มไทยรักไทยจะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ถึง 20 จาก 80 คน

เมื่อรวมแล้ว อดีต ส.ส. กลุ่มไทยรักไทยอาจได้ ส.ส. ทั้งสองแบบสูงถึง 150 ที่นั่งจาก ส.ส. 480 ที่นั่ง อาจเป็นพรรคที่ได้จำนวน ส.ส. สูงที่สุดเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้งทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ประชาธิปัตย์ ชาติไทย ฯลฯ

ผลการเลือกตั้งธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชน ซึ่งแปลงกายมาจากไทยรักไทย ได้ ส.ส เขต 199 บัญชีรายชื่อ 34 รวม 233 คน มากที่สุด

อย่าลืมว่าวันนั้น ยังไม่มีม็อบพันธมิตรฯ ปิดสนามบิน ไม่มีคนเสื้อแดง ยังไม่เกิดการล้อมปราบ ปี 2553 ยังไม่มีคนตายคนเจ็บ ความแตกแยกและความแค้นยังไม่ขยายไปมากทั้งด้านกว้างและลงลึก

3. การเลือกตั้งปี 2554 หลังการลงประชามติ 4 ปี คนภาคอีสานและภาคเหนือก็ยังคงเลือกพรรคเพื่อไทยมากที่สุด แม้แต่ในภาคกลางก็มากขึ้นอย่างผิดคาด ทั้งๆ ที่วันเปิดรับสมัคร ทุกคนเพิ่งเคยได้ยินชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คะแนนที่ได้จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นคะแนนพรรค และนโยบาย ผลก็คือ

ปี 2554 ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกมาใช้สิทธิ์ทั้งสิ้น 75.03% เลือกพรรคเพื่อไทย 15,744,190 คะแนน และ พรรคประชาธิปัตย์ 11,433,501 พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง 265 ที่ ปชป. ได้ 159 ที่

4. ปัจจุบันการสื่อสารที่ไม่สามารถควบคุมได้

สมัยก่อนหรือสมัยนี้การสื่อสารงานประชาสัมพันธ์ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ ในยุคที่ต่อสู้ด้วยอาวุธ พ.ค.ท. สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย เป็นตัวเชื่อมทั้งความคิดและการให้กำลังใจ เมื่อประเทศจีนเปลี่ยนนโยบายไม่สนับสนุน พ.ค.ท. สั่งปิดสถานีวิทยุคลื่นสั้นที่อยู่ในจีน สภาพของ พ.ค.ท. ก็เหมือนคนใบ้แต่การติดต่อสื่อสารสัมพันธ์ในปัจจุบันของประชาชนทั้งแบบที่เป็นแบบชาวบ้านธรรมดาเป็นอิสระหรือมีการจัดตั้งธรรมชาติแบบเพื่อนฝูง แบบไลน์ แบบเฟซบุ๊ก เดี๋ยวนี้สามารถสื่อสารกันได้ทุกเวลานาที ความเห็นของผู้คนถูกเผยแพร่ทั้งพอใจไม่พอใจ เห็นด้วยไม่เห็นด้วย

ดังนั้น การจำกัดความคิดของคนหรือชักจูงให้ไปตามทิศทางที่ต้องการ ไม่ใช่เรื่องง่าย

สถานการณ์แบบนี้
คนลงประชามติ 75% ก็สุดยอดแล้ว

เดือนหน้าหน่วยประชาสัมพันธ์ ครู ก.ข.ค. จะทำหน้าที่ได้แค่ไหนไม่รู้ เพราะมีความจำกัดที่เนื้อหารัฐธรรมนูญซึ่งทำให้ไม่สามารถโฆษณาได้เต็มปาก อีกทั้งยังมีระเบียบควบคุมจาก พ.ร.บ.ประชามติ คนไปลงประชามติจึงไม่น่าจะมีเกิน 75 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีสิทธิ์ โดยเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งในปี 2554 ซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างหนัก มีการโฆษณาหาเสียง มีงบประชาสัมพันธ์ บุคลากรที่เกี่ยวข้องหลายพันคนที่จะได้ผลประโยชน์โดยตรง สื่อต่างๆ มีอิสรเสรีอย่างเต็มที่ มีการใช้วิธีต่างๆ ที่จะฉุดลาก จูงใจช่วยคนออกไปลงคะแนนยังสามารถทำได้เพียง 75%

แต่ครั้งนี้มีข้อจำกัดหลายอย่าง ทำการโฆษณาได้แบบต้องระมัดระวังคนที่จะได้ผลประโยชน์โดยตรงที่จะได้เป็น ส.ส. หรือผู้แทนก็ไม่มี ดังนั้นต้องอาศัยความตื่นตัวของประชาชน และความทันสมัยของระบบสื่อสารที่จะช่วยกระตุ้นถ้าหากครั้งนี้มีคนออกไปลงประชามติถึง 70% ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของ กกต. มากแล้ว ถ้าถึง 75% ต้องถามว่าทำได้ยังไง ถ้ามีเขตที่มีคนออกไปลงประชามติมากเกินกว่า 80% จะต้องมีลักษณะพิเศษจริงๆ และจะต้องศึกษาดูว่าเกิดอะไรขึ้นที่เขตนั้น

เพื่อจะได้ใช้เป็นตัวแบบ

ที่บอกว่าสถานการณ์มืดมัว เพราะยังไม่รู้ผล และถ้าคนเขาไม่รับ จะใช้อะไรมาแทน เพื่อไปประกอบการเลือกตั้ง

ในทางสิทธิเสรีภาพคนที่จะแสดงความคิดเห็น หรือตรวจสอบก็ต้องระวังสุดๆ ตั้งแต่การพูดจนถึงการร้องการเต้น ในทางเศรษฐกิจยุคดอกเบี้ยเงินฝากเกือบ 0% แต่หาเงินกู้ยากมาก ชาวบ้านกำลังคิดว่า วันนี้และพรุ่งนี้จะทำมาหากินอย่างไร

ถ้าโทษทักษิณไม่ได้ จะโทษใครดี