บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” แนะทางแก้วิกฤต“การเมือง”ชาติ

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

หมายเหตุ : รายงานพิเศษเผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 เม.ย. 2549

เมื่อเวลา 17.42 น. วันที่ 25 เมษายน 2549

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่

และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่

ในการนี้ทรงมีพระบรมราโชวาทแก่คณะตุลาการ ทั้ง 2 คณะ เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขวิกฤตการเมืองของชาติ ที่เกิดขึ้นขณะนี้

พระบรมราโชวาท
ที่มีต่อตุลาการศาลปกครองสูงสุด

ก่อนหน้านี้ อาจมองหน้าที่ของศาลปกครองมีขอบข่ายไม่กว้างขวาง ความจริงกว้างขวาง

แต่เวลานี้ถ้าจะให้พูด

ศาลเองมีสิทธิ์ที่จะพูดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ได้คะแนนไม่ต้องร้อยละ 20 เลือกตั้งอยู่คนเดียว ซึ่งมีความสำคัญ

เพราะในที่สุดการเลือกตั้งไม่ครบจำนวน ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับท่านหรือเปล่า ความจริงน่าจะเกี่ยวข้อง เพราะถ้าไม่มีจำนวนผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งพอ การปกครองแบบประชาธิปไตยก็ดำเนินการไม่ได้

แล้วที่ท่านปฏิญาณว่าจะทำงานเพื่อประชาธิปไตยก็ทำไม่ได้ ท่านก็อาจต้องลาออก โดยไม่ได้แก้ปัญหาที่มี ต้องหาทางแก้ไขให้ได้ อาจไปปรึกษาศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกไม่ใช่เรื่อง บอกว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ ร่างเสร็จเเล้วไม่เกี่ยวข้อง

เลยขอร้องท่าน

อย่าทอดทิ้งการปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบที่จะทำให้บ้านเมืองดำเนินการไปได้

อีกข้อหนึ่ง ที่บอกมีการยุบสภาแล้ว ต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดถึง ไม่พูดกันเลย

ถ้าไม่พูดก็ต้องแก้ไข ว่าจะให้การเลือกตั้งนี้ เป็นโมฆะหรืออะไร ซึ่งท่านมีสิทธิ์จะบอกว่าอะไรที่ควร

ไม่ได้ว่ารัฐบาลไม่ดี

แต่เท่าที่ฟังดูมันเป็นไปไม่ได้ว่า การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย จะมีพรรคเดียวคนเดียว มีคนสมัครเลือกตั้งคนเดียว มันไม่เป็นประชาธิปไตย

ท่านต้องดูเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปกครองให้ดี ขอฝากอย่างดีที่สุดที่จะทำได้คือท่านลาออก ท่านเองไม่ใช่รัฐบาลลาออก ท่านเองท่านลาออก ทำไม่ได้ รับหน้าที่ไม่ได้ ตะกี้ที่ปฏิญาณไปดูดีๆ จะเป็นการไม่ได้ทำตามที่ปฏิญาณ

ฟังวิทยุเมื่อเช้านี้ กรณีที่ที่ กิ่ง อ.นบพิตำ ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ตรงนั้นไม่ใช่แห่งเดียวที่อื่นอีกหลายแห่งที่จะทำให้ บ้านเมืองล่มจม บ้านเมืองไม่สามารถที่จะรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ไม่ถูกต้อง

ก็ขอให้ท่านไปศึกษาว่าเกี่ยวข้องหรือไม่ ท่านเกี่ยวข้องหรือไม่

แต่ถ้าท่านไม่เกี่ยวข้องท่านลาออกดีกว่า ท่านผู้ที่ได้รับหน้าที่ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ ต้องทำให้บ้านเมืองดำเนินได้ หรือมิฉะนั้น ต้องไปปรึกษากับผู้พิพากษาที่จะเข้ามา ต้องมาประสานศาลฎีกา ท่านที่นี้ก็คงเกี่ยวข้องเหมือนกัน ก็ปรึกษากัน 4 คน ปรึกษาศาลฎีกาที่จะเข้ามาใหม่ ปรึกษากับท่านก็เป็นจำนวนหลายคนที่มีความรู้ ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตภักดีในหน้าที่ ที่จะทำให้บ้านเมืองมีขื่อมีแป

จึงขอฝาก และจะขอบใจมาก ตอนนี้ยุ่ง เพราะว่าถ้าไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีทางที่จะปกครองแบบประชาธิปไตย

 

ของเรามีศาลหลายชนิดมากมาย และมีสภาหลายแบบ ทุกแบบต้องเข้ากันปรองดองกันและคิดทางที่จะแก้ไขได้

ที่พูดอย่างนี้ ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย ที่ขอร้องอย่างนี้ ไม่งั้นเดี๋ยวเขาก็บอกว่าต้องทำมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอยืนยันว่ามาตรา 7 ไม่ได้หมายถึง มอบให้พระมหากษัตริย์ มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ

ไม่ใช่

มาตรา 7 พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่า ให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง

ถ้าทำเขาก็จะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่

ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยขอ

ไม่เคยทำเกินหน้าที่

ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย

เขาอ้างถึงเมื่อครั้งก่อนนี้ เมื่อสมัยรัฐบาลของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนนั้นไม่ได้ทำเกินอำนาจของพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นมีสภา ประธานสภา รองประธานสภา มีอยู่ แล้วก็รองประธานสภาทำหน้าที่ แล้วมีนายกฯ ที่สนองพระบรมราชโองการได้ ตามรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าที่ทำครั้งนั้นผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่

ตอนนั้นก็ไม่ใช่นายกฯ พระราชทาน นายกฯ พระราชทานหมายความว่า ตั้งนายกฯ โดยไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย ตอนนั้นมีกฎเกณฑ์

เมื่อครั้งอาจารย์สัญญา ได้รับตั้งเป็นนายกฯ เป็นนายกฯ ที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือรองประธานสภานิติบัญญัติ มีอะไรค้ำอยู่

เพราะงั้นไปทบทวนประวัติศาสตร์หน่อย ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ท่านก็ทราบว่า มีกฎเกณฑ์ที่รองรับ และก็งานอื่นๆ ก็มี แม้จะที่เรียกว่าสภาสนามม้า ก็หัวเราะกัน สภาสนามม้า แต่ไม่ผิด ไม่ผิดกฎหมาย เพราะว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองฯ นายกรัฐมนตรีคืออาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ รับสนองพระบรมราชโองการ ก็สบายใจว่าทำอะไรแบบถูกต้องตามครรลองของรัฐธรรมนูญ

แต่คราวนี้เขาจะให้ทำอะไรผิดรัฐธรรมนูญ

ใครเป็นคนบอกก็ไม่ทราบ แต่ว่าข้าพเจ้าเองรู้สึกว่าผิด

ฉะนั้น ขอให้ช่วยปฏิบัติอะไร คิดอะไร ไม่ให้ผิดกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ จะทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นอุปสรรคและมีความเจริญรุ่งเรือง

พระบรมราโชวาท
ที่มีต่อผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม

เวลานี้มีการเลือกตั้งเพื่อให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ถ้าไม่มีสภาที่ครบถ้วน ก็ไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย

ฉะนั้น ต้องขอให้ไปปรึกษากันผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่จะเป็นคนตัดสิน

เมื่อก่อนมี ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา เดี๋ยวนี้มีศาลหลายอย่าง เมื่อมีก็ต้องให้ดำเนินการให้

ฉะนั้น ขอให้ไปปรึกษากัน กับศาลอันอื่นด้วย จะทำให้บ้านเมืองปกครองแบบประชาธิปไตยไปได้

อย่าไปคอยที่จะให้ขอนายกฯ พระราชทาน

เพราะขอนายกฯ พระราชทานไม่ได้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย

ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะ อะไรก็ขอพระราชทาน นายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย

ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด

อ้างไม่ได้

มาตรา 7 มี 2 บรรทัด ว่าอะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณี หรือตามที่เคยทำมา ไม่มี

เขาอยากจะได้นายกฯ พระราชทาน จะขอนายกฯ พระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องของการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบขอโทษ พูดแบบมั่ว พูดแบบไม่มีเหตุมีผล

สำคัญอยู่ที่ท่านที่เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา มีสมองที่แจ่มใส ควรจะสามารถที่จะไปคิดวิธีที่จะปฏิบัติ คือ ปกครองต้องมี สภา สภาที่ครบถ้วน

ถ้าไม่ครบถ้วนเขาว่าไม่ได้

แต่อาจจะหาวิธี ที่จะตั้งสภาที่ไม่ครบถ้วนแต่ทำงานได้ ก็รู้สึกว่าจะมั่วอย่างที่ว่า แต่ขอโทษอีกทีนะที่ใช้คำว่ามั่ว ไม่ถูก ไม่ทราบใครจะทำมั่ว แต่ว่าปกครองประเทศมั่วไม่ได้ ที่จะคิดอะไรแบบว่าทำปัดๆ ไปให้เสร็จๆ ไป ถ้าไม่ได้ เขาก็โยนให้พระมหากษัตริย์ทำ ซึ่งยิ่งร้ายกว่าทำมั่วอย่างอื่น

พระมหากษัตริย์ไม่มีหน้าที่ที่จะไปมั่ว

ก็เลยจะต้องขอร้องฝ่ายศาลให้คิดให้ช่วยกันคิด

 

เดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไป เขาหวังในศาลโดยเฉพาะศาลฎีกาศาลอื่นๆ เขายังบอกว่าศาลขึ้นชื่อว่าเป็นศาลดี ยังมีความซื่อสัตย์สุจริต มีเหตุมีผลและมีความรู้ ท่านได้เรียนรู้กฎหมายมา และพิจารณาเรื่องกฎหมายที่จะต้องศึกษาดีๆ ประเทศจึงจะรอดพ้นได้

ถ้าไม่ทำตามหลักกฎหมายหลักของการปกครองที่ถูกต้อง ประเทศชาติไปไม่รอด

อย่างที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะว่าไม่มีสภา สมาชิกสภาถึง 500 คนทำงานไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาดูว่า จะทำอย่างไร สำหรับให้ทำงานได้

จะมาขอให้พระมหากษัติย์เป็นผู้ตัดสิน ก็อาจจะว่ารัฐธรรมนูญนี้พระมหากษัตริย์เป็นคนลงพระปรมาภิไธย ก็เดือดร้อน

แต่ว่าในมาตรา 7 นั้นไม่ได้บอกว่า พระมหาษัตริย์สั่งได้ไม่มี

ลองไปดูมาตรา 7 เขาเขียนว่า ไม่มีบทบัญญัติแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหาษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่ามีพระมหากษัตริย์ ที่จะมาสั่งการได้

แล้วก็ขอยืนยันว่า ไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติ ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายพระราชบัญญัติต่างๆ ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

อย่างที่เขาขอ ขอให้มีพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ไม่เคยมีข้อนี้

มีนายกฯ แบบมีการรับสนองพระบรมราชโองการ ตามที่ถูกต้องทุกครั้ง

มีคนเขาอาจจะมาบอกว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ทำตามใจชอบ ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ตั้งแต่เป็นมามีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แล้วก็ทำมาหลาย 10 ปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ

ถ้าทำไปตามใจชอบ ก็คงจะทำบ้านเมืองล่มจมไปนานแล้ว

แต่ตอนนี้เขาขอให้ทำตามใจชอบ แล้วถึงเวลาถ้าเขาจะทำตามที่เขาขอ เขาก็จะต้องด่าว่านินทาพระมหากษัตริย์ว่าทำตามใจชอบ

ซึ่งไม่ใช่กลัวถ้าต้องทำก็ต้องทำ แต่ว่ามันไม่ต้องทำ

 

ตอนนี้อยู่ที่ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นสำคัญที่จะบอกได้ ศาลอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลอะไรไม่มีความ ไม่มีข้อที่จะอ้างได้มากกว่าศาลฎีกาที่จะมีสิทธิ์ที่จะพูดที่จะตัดสิน

ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านได้พิจารณาไปปรึกษากับผู้พิพากษา ศาลอะไรอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าควรจะทำอะไรก็ต้องรีบทำ ไม่งั้นบ้านเมืองล่มจม

พอดีดูทีวีเรือหลายหมื่นตันโดนพายุจมลงไป 4 พันเมตรในทะเล เขายังต้องดูว่าเรือนั้นลงไปอย่างไร ลงไปจะจมลงไปลึกกว่า 4 พันเมตร กู้ไม่ได้กู้ไม่ขึ้น

ฉะนั้น ท่านเองก็จะต้องจมลงไป ประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ จะจมลงไปในมหาสมุทร

เดี๋ยวนี้เป็นเวลาที่วิกฤตที่สุดในโลก ฉะนั้น ท่านก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติปรึกษากับผู้ที่มีความรู้ เพื่อที่จะเขาเรียกกู้ชาติ

เดี๋ยวนี้เอะอะอะไรก็กู้ชาติ กู้ชาติ กู้ชาติ

ยังไม่ได้จม ทำไมถึงจะกู้ชาติ

แต่ว่าป้องกันไม่ให้จมลงไปแล้วเราจะต้องกู้ชาติจริงๆ แต่ถ้าจมแล้วกู้ชาติไม่ได้ จมไปแล้ว ฉะนั้น ต้องไปพิจารณาดูดีๆ ว่าเราจะทำอะไร

ถ้าทำได้ปรึกษาหารือกันได้จริงๆ ประชาชนทั้งประเทศ และประชาชนทั่วโลกก็จะอนุโมทนา แล้วจะเห็นว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาในเมืองไทย ยังมีเรียกว่า ยังมีน้ำยา เราเป็นคนที่มีความรู้และตั้งใจที่จะกู้ชาติจริงๆ

ถ้าถึงเวลาก็ขอขอบใจท่านที่ตั้งอกตั้งใจที่จะทำหน้าที่ แล้วก็ทำตามหน้าที่ที่ดี บ้านเมืองก็รอดพ้นไม่ต้องกู้ ก็ขอบใจที่ท่านพยายามปฏิบัติตัวดี และประชาชนจะอนุโมทนา ขอบใจแทนประชาชนทั่วทั้งประเทศ ที่มีผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เข้มแข็ง