วิรัตน์ แสงทองคำ : จุดเปลี่ยนสังคม (ธุรกิจ) ไทย ตอนที่ 2

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

จุดเปลี่ยนสังคมไทยครั้งล่าสุดโหมกระหน่ำรุนแรง ณ ศูนย์กลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

หากว่าตามช่วงเวลาปะทุ ถือเป็นช่วงครบรอบ 21 ปีพอดี นับเนื่องจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 2 กรกฎาคม 2540 เมื่อรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และเข้าโปรแกรมความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF)

ตามแนวคิด “สังคมไทยได้เผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาแล้ว 4 ครั้ง ในทุกๆ ช่วงประมาณ 20 ปี ผ่านระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ 3-5 ปี”

หากเป็นไปตามสมมุติฐานข้างต้น นั่นคือสถานการณ์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อช่วงที่ 3 (2520-2540) กับช่วงที่ 4 (2540-2560) เป็นปรากฏการณ์ยุคสมัยที่สำคัญมากๆ ก่อนจะมาถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจากการล่มสลายเป็นระลอก

ฐานธุรกิจอันมั่นคงในสังคมเมืองหลวงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง แรงกระเพื่อมได้ขยายวง เป็นระลอกคลื่นต่อเนื่องยาวนาน ผลพวงอาจยังหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันก็ว่าได้

ปลายช่วงที่ 3 ฐานอันมั่นคงธุรกิจดั้งเดิม (2539-2540) จนถึงระยะแรกช่วงที่ 4 แรงปะทะโครงสร้างเก่า (2540-2549) เกิดขึ้นในยุครัฐบาลมาจากระบบการเลือกตั้งต่อเนื่องกัน 3 ชุด นายกรัฐมนตรี 3 คน–พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (25 พฤศจิกายน 2539 – 9 พฤศจิกายน 2540) ชวน หลีกภัย (9 พฤศจิกายน 2540 – 9 กุมภาพันธ์ 2544) และทักษิณ ชินวัตร (ครั้งแรกอยู่ครบวาระ 9 กุมภาพันธ์ 2544 – 11 มีนาคม 2548 และครั้งที่สอง 11 มีนาคม 2548 – 19 กันยายน 2549)

ช่วงเวลาดังกล่าว (2539-2549) มีเหตุการณ์สำคัญ นับเป็นทศวรรษแห่งช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสังคมไทยอย่างแท้จริง

 

ดัชนีกับวิกฤตตลาดหุ้น-ค่าเงินบาท

ดัชนีนี้สำคัญเสมอ เป็นการส่งสัญญาณการมาถึงเหตุการณ์และวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เมื่อมองย้อนกลับไป ดัชนีและสัญญาณดังกล่าว กรณีเชื่อมโยงการก่อเกิดวิกฤตการณ์ปี 2540 มิใช่ครั้งแรกเสียทีเดียว และคงมิใช่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ ครั้งสุดท้าย

จากช่วงเวลาสังคมธุรกิจไทยเติบโตอย่างน่าทึ่ง ตั้งแต่ปลายปี 2529 ช่วงเริ่มต้นยุคใหม่ตลาดหุ้น-ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดัชนีราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากประมาณ 400 จุด ไต่ระดับถึงสูงสุดใช้เวลาพอสมควรทีเดียวอยู่ที่ 1,753 จุด (เมื่อ 4 มกราคม 2537) ถือว่าอยู่ในระดับสูงที่สุดก่อนวิกฤตการณ์มาถึง

หลังจากนั้นไม่นาน ดัชนีได้ส่งสัญญาณถึงความเปราะบางและผันผวน ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2537 จนถึงกลางปี 2539 ดัชนีมีการเคลื่อนไหวช่วงกว้างมากๆ ขึ้นลงระหว่าง 1,200-1,500 จุด

จนมาชัดเจนในครึ่งหลังของปี 2539 ดัชนีลดลงอย่างรุนแรงต่อเนื่องตลอดปี 2540 รวมทั้งในช่วงปี 2541 ด้วย

ความตกต่ำของดัชนีราคาหุ้นเป็นเหตุและผลโดยตรงกับเหตุการณ์เมื่อกลางปี 2540 เมื่อรัฐบาลไทยจำเป็นต้องลดค่าเงินบาท ค่าเงินลดค่าลงทันทีจากระดับ 24 บาท ลงไปช่วงต่ำสุดถึง 55 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยมีอิทธิพลลุกลามไปในระดับภูมิภาคและระดับโลกในเวลาต่อมาด้วย

จากนั้นดัชนีตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะซบเซา คงอยู่ในระดับต่ำมากๆ เฉลี่ยประมาณ 400 จุด ต่อเนื่องติดต่อมา 4 ปีเต็ม (ช่วงปี 2542 จนถึงสิ้นปี 2545)

ถือเป็นภาวะตกต่ำของตลาดหุ้นไทยช่วงยาวนานทีเดียว ภายใต้สถานการณ์มองผ่านดัชนีราคาหุ้นและค่าเงินบาท

สะท้อนและสัมพันธ์กับเหตุการณ์ การเปลี่ยนแปลงพลิกผันเกิดขึ้นอย่างมากมาย จากปรากฏการณ์ในตลาดหุ้น ขยายวงสู่สังคมวงกว้าง

ภาพใหญ่กว่านั้น สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่เปราะบางและอ่อนแอที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ พิจารณาจากตัวเลขหรือดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ–ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ติดลบครั้งแรก จาก -2.8 (ปี 2540) และ -7.6 (ปี 2541) เท่าที่มีการจัดระบบข้อมูล

(ข้อมูลเปิดเผยจากธนาคารแห่งประเทศไทย มีย้อนหลังถึงปี 2533)

 

วิกฤตสถาบันการเงิน

สถาบันการเงินเป็นหน้าด่านสำคัญเสมอ เช่นกันที่ได้รับผลกระทบในทันที ผลกระทบรุนแรงเป็นระลอกคลื่น

คลื่นลูกแรก – ปลายปี 2540 กระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการสถาบันการเงินจำนวนมาก เป็นบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ถึง 58 แห่ง ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหุ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นต้องเพิกถอนกิจการนี้ออกจากตลาดหุ้น (25 ธันวาคม 2540) ด้วย

ต่อมาในปี 2542 มีควบรวมกิจการสถาบันการเงินอีกจำนวนหนึ่ง มีผลทำให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อีก 5 แห่งถูกปิดกิจการและเพิกถอนออกจากตลาดหุ้น ส่วนใหญ่เป็นกิจการในเครือธนาคารใหญ่ๆ ของไทย ธนาคารซึ่งเผชิญวิกฤตการณ์อย่างหนักเช่นกัน แต่สามารถดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขจำกัด มีความจำเป็นต้องตัดทิ้งสถาบันการเงินชั้นรองในเครือข่าย

คลื่นลูกที่สอง – ในปี 2541 เป็นครั้งแรกแรงกระทบระบบธนาคารอย่างรวดเร็ว ธนาคารสำคัญหลายแห่งมีอันเป็นไป ส่วนใหญ่เป็นธนาคารขนาดกลางและเล็ก มีบางแห่งถูกปิดกิจการ มีบางแห่งงถูกควบรวมกับธนาคารรัฐขนาดใหญ่ บางแห่งควบรวมกับสถาบันการเงินชั้นรอง ก่อตั้งเป็นธนาคารใหม่

มีบางแห่งขายกิจการให้ธนาคารต่างชาติ

 

ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง

ช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์เปิดฉากขึ้น ในที่สุดก็มาถึงแกนกลางสังคมธุรกิจไทย ภาพที่ชัดเจน ภาพที่ผู้คนมองเห็น ได้โฟกัสมายังการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ถือว่าส่งผลกระทบเชิงทำลายรากฐานธุรกิจเดิมอย่างรุนแรง

จากนั้นโฉมหน้าธนาคารในประเทศไทยได้พลิกโฉมเปลี่ยนแปลงไปอย่างแท้จริง เป็นภาพสะท้อนเบื้องต้น โครงสร้างใหม่ทางเศรษฐกิจและสังคมธุรกิจไทย

นั่นคือเหตุการณ์ต่อเนื่อง เป็นภาพที่ชัดเจนในช่วงปี 2541-2549

จากเดิมธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารโดยคนไทยมากกว่า 10 แห่ง ในยุคธนาคารไทยมีบทบาทอย่างมากๆ ผมมักให้ความสำคัญ ถือว่าเป็น “แกนกลาง” สังคมธุรกิจไทย จะมักมองว่ามีกลไกและระบบพิเศษที่เรียกว่า “ธนาคารระบบครอบครัว” จนในที่สุดเหลือไม่กี่แห่ง

ผมเคยแบ่งกลุ่มธนาคารในประเทศไทยไว้อย่างคร่าวๆ

กลุ่มแรก-ตามความหมายธนาคารดั้งเดิมเหลือเพียงธนาคาร 4-5 แห่ง ในฐานะธนาคารดั้งเดิมก่อตั้งมาก่อนปี 2500 ซึ่งสามารถอยู่รอด มีความต่อเนื่องโครงสร้างการบริหาร แม้ว่าโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เปลี่ยนแปลงไปบ้าง และแม้ว่าต้องปรับตัวอย่างมาก บางธนาคารได้โอกาสที่เปิดช่องกับระยะผ่านช่วงหนึ่งด้วยมาตรการพิเศษของรัฐ ในจำนวนนี้มีธนาคารบางแห่งเป็นธนาคารของรัฐ ผ่านการปรับโครงสร้างหลายครั้ง มีทั้งการรวมกิจการกับธนาคารอื่นๆ บางธนาคารมีผู้ถือหุ้นต่างชาติข้างน้อยอยู่ด้วย

อีกกลุ่ม มี 5 แห่งคือธนาคารพาณิชย์ ถือหุ้นใหญ่โดยธนาคารต่างชาติ เป็นปรากฏการณ์ระลอกคลื่นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 เป็นจุดเริ่มต้นธนาคารต่างชาติเข้ามามีบทบาทโดยตรง เข้ามาอยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอย่างเต็มตัว หากว่าตามประวัติศาสตร์ ธนาคารต่างชาติเข้ามามีบทบาทสำคัญในสังคมไทยก่อนหน้านั้น ย้อนกลับไปถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือราวครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

แต่มีอีกปรากฏการณ์ใหม่ๆ สะท้อนการปรับตัวสังคมธุรกิจไทย เหตุการณ์หนึ่งที่ควรบันทึกไว้ นั่นคือการเปิดโอกาสให้มีธนาคารใหม่ เป็นโอกาสเปิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดขึ้นอย่างจำกัดในรอบกึ่งศตวรรษ ธนาคารเกิดใหม่ในปี 2547 มีจำนวน 6 แห่ง ว่าไปแล้วเป็นช่วงแห่งการปรับตัวธนาคารพาณิชย์ไทยดำเนินไปด้วย ในที่สุดบางรายมีพันธมิตรกับเครือข่ายธนาคารระดับโลก ขณะที่ระยะต่อมาบางธนาคารได้กลายเป็นเครือข่ายธนาคารต่างประเทศ

การปรากฏตัวธนาคารใหม่กับเจ้าของธนาคารใหม่ สะท้อนโครงสร้างสังคมธุรกิจไทยซึ่งเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว เป็นการผสมผสานผู้ประกอบการยุคต่างๆ บางรายเกิดและเติบโตต่อเนื่องอย่างเงียบๆ มาจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง บางรายเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรงในยุคสงครามเวียดนาม และในบางมิติสะท้อนบทบาทใหม่ของมืออาชีพซึ่งเติบโตในยุคโลกาภิวัตน์ กลายเป็นเจ้าของธนาคาร

 

อีกปรากฏการณ์เป็นไปอย่างเงียบๆ มีพลวัตและซับซ้อน นั่นคือบทบาทธุรกิจต่างชาติที่มีมากขึ้นในกลไกตลาดหุ้นไทย เป็นโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปครั้งใหญ่ครั้งแรกเช่นเดียวกัน ตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว

ภาพและปรากฏการณ์ข้างต้น ย่อมสะท้อนความเป็นไปอย่างเชื่อมโยงกัน จากภาพใหญ่สู่ภาพย่อย ในกรณีนี้จากธุรกิจการเงินมายังเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นชิ้นส่วนประวัติศาสตร์สังคมธุรกิจไทย ซึ่งมีรากเหง้าธุรกิจครอบครัว สู่ตระกูลธุรกิจอันทรงอิทธิพล ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ไม่เพียงจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้อิทธิพลถูกบั่นทอนไปมาก ยังเป็นช่วงผ่านช่วงเวลาการปรับเปลี่ยนรุ่น (Generation) อีกด้วย

สถานการณ์สังคมธุรกิจไทยช่วงที่ 4 (2540-2560) ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น ยังมีฉากต่อเนื่อง หากเป็นภาพดูค่อนข้างคลุมเครือ ดำเนินไปท่ามกลางสถานการณ์ทางสังคม ถือเป็นทศวรรษแห่งความสับสนวุ่นวาย