มุกดา สุวรรณชาติ : รัฐบาลส.ว.หนุนตามรธน. ‘อ.มีชัย’ จะอยู่นานกี่วัน? เราจะแก้ความขัดแย้งแบบ ‘อังกฤษ’ หรือ ‘ตุรกี’

มุกดา สุวรรณชาติ

การรัฐประหารทั่วโลก คือการชิงอำนาจด้วยกำลัง ไม่สนใจว่าประชาชนจะมีความเห็นอย่างไร ผลที่ตามมาคนส่วนใหญ่จะเดือดร้อน แต่ผู้มีอำนาจและพวกพ้อง จะร่ำรวย

ความขัดแย้งในการชิงอำนาจแบบนี้ อาจจบลงด้วยความตายแบบพฤษภาทมิฬ 2535 หรือสู้กันแล้วติดคุกและตายไปเรื่อยๆ แบบรัฐประหาร 2549 ต่อด้วยการชุมนุมปี 2551 ปี 2553 ปี 2556-2557

หรืออาจจะเป็นแบบตุรกี คือเริ่มก็ตายเป็นร้อย บาดเจ็บเป็นพัน และจะติดตามมาด้วยการประหารชีวิตอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งคนบงการ คนสมคบคิด ใครแค่ติดคุก ถูกปลดต้องถือว่าโชคดี

ที่นี่แก้ปัญหาแบบแตกหักไปเลย แต่แบบไทยๆ ในอดีต มักจะอดทนไปก่อน ยอมรับไปก่อน สุดท้ายทนไม่ไหวค่อยลุกขึ้นมาต่อต้าน และจบด้วยความตาย

ผลงาน อ.มีชัย รธน. ปี 2521

ในปี 2520 หลังการรัฐประหาร โค่นรัฐบาล 6 ตุลา 2519 ของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ตั้ง มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และให้เป็นเลขานุการของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และร่างเสร็จในเดือนมิถุนายน 2521 ผ่าน สนช. วันที่ 18 ธันวาคม 2521 ไม่มีการลงประชามติ ประกาศใช้วันที่ 22 ธันวาคม

มีสาระที่จะทำให้การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร พล.อ.เกรียงศักดิ์ ดำเนินต่อไป คือ

1. รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา เป็นผู้ยื่นชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อรอการโปรดเกล้าฯ ส่วนประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองประธานรัฐสภา

2. ส.ว. มาจากการแต่งตั้งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร มีวาระคราวละ 6 ปี เมื่อครบ 2 ปี ให้สมาชิกออกจากตำแหน่งเป็นจำนวน 1 ใน 3 โดยวิธีจับสลาก และทำดังนี้จนครบ 6 ปี ส.ว. เป็นข้าราชการประจำได้

ส.ว. มีอำนาจหน้าที่เท่ากับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

3. นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.

แม้ไม่เป็นที่พอใจของนักการเมืองและประชาชน ถือว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ผู้มีอำนาจก็ให้ประชาชนได้แค่นี้ และ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี สมใจ แต่อยู่ได้เพียง 9 เดือน ก็ถูกบีบให้ลาออก

แต่ อ.มีชัยได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยนายกฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ระหว่าง พ.ศ.2523-2531 และยังต่อไปถึงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ระหว่าง พ.ศ.2531-2533

ผลงาน อ.มีชัย รธน. 2534
ตัวแบบที่ใกล้เคียงในสถานการณ์ปัจจุบัน

23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะทหารชื่อ รสช. ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากนายกฯ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยการที่จับตัวนายกฯ บนเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง เป็นความร่วมมือของทัพบกกับทัพอากาศ จากนั้นก็ตั้งข้อกล่าวหากับรัฐบาลนายกฯ ชาติชายซึ่งมาจากการเลือกตั้ง มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สิน หรือ คตส. มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่คณะรัฐประหาร รสช. ไม่กล้ามาเป็นนายกฯ เองจึงได้ตั้ง นายอานันท์ ปันยาชุน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ได้เป็นรองนายกฯ ดูแลฝ่ายกฎหมายและเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่มที่กล้าออกมาค้านคณะ รสช. ในครั้งนั้นก็คือนักศึกษาซึ่งในยุคนั้นนำโดย สนนท.

มีชัยสามารถร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างรวดเร็ว กำหนดเสร็จใน 6 เดือน

พอถึงเดือนพฤศจิกายน 2534 นักศึกษาก็เริ่มรณรงค์ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นแนวรัฐธรรมนูญซึ่งมีชัยเคยเขียนตั้งแต่ปี 2521 จากนั้นกลุ่มพรรคการเมืองก็เข้าผสมโรงคัดค้าน กระแสการต่อต้านเริ่มแรงขึ้น มีการทำพิธีเผาทิ้งร่างรัฐธรรมนูญเพราะตอนนั้นมีกระแสข่าวว่า รสช. จะตั้งวุฒิสมาชิกถึง 360 คนเท่ากับจำนวน ส.ส.

20 พฤศจิกายน กระแสการต่อต้านรัฐธรรมนูญเผด็จการทำให้มีคนไปชุมนุมที่สนามหลวงเกินกว่า 5 หมื่นคน งานนี้แม้เป็นการรวมกันของนักศึกษาและพรรคการเมือง แต่บทบาทเด่นอยู่ที่พรรคการเมือง เช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จากความหวังใหม่ สมัคร สุนทรเวช จากประชากรไทย ชวน หลีกภัย จากประชาธิปัตย์ และ จำลอง ศรีเมือง จากพลังธรรม นอกจากนั้น ยังมี คุณอุทัย พิมพ์ใจชน ประเทศมหาอำนาจก็ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญแบบนี้

26 พฤศจิกายน สุดท้ายก็มีการตัดบทเฉพาะกาลทำให้พลังของฝ่ายต้านเริ่มเสียงแตก ในสภานิติบัญญัติฯ ก็มีการแก้รัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว. ไม่ให้เลือกนายกฯ แต่ยังอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ และ รสช. ยังแต่งตั้งวุฒิสมาชิกได้ 270 คน แต่พรรคการเมืองยังไม่ยอม การต่อต้านยังดำเนินต่อไป

8 ธันวาคม รัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 ได้ประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2534 ไม่มีประชามติ

รธน. 2534 มีสาระสำคัญดังนี้

1.รัฐสภา ประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองประธานรัฐสภา (หลังพฤษภาทมิฬ มีการแก้ไขให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา)

2. วุฒิสภา แต่งตั้ง มีจำนวน 270 คน มีวาระละ 6 ปี เมื่อครบ 3 ปี ให้จับสลากออกครึ่งหนึ่ง และจะมีการแต่งตั้งสมาชิกจำนวนเท่าที่ออกไปเข้ามาแทนที่ทุกๆ 3 ปี

3. สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 360 คน พรรคการเมืองต้องส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 120 คน และในแต่ละเขตเลือกตั้ง เลือกแบบพวงใหญ่

4. วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน มีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี

5. คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 48 คน (หลังพฤษภาทมิฬ มีการแก้ไขให้ยกเลิกความในมาตรา 159 แก้เป็น นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร)

มีการเคลื่อนไหวแย่งชิงกันเป็น ส.ว. ใครที่มีเส้นสายใน รสช. พยายามส่งรายชื่อตนเองเข้าไป ส่วน ส.ว. ก็เป็นทหารส่วนใหญ่ ตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้คณะ รสช. จะหมดอำนาจในเที่ยงคืนวันเลือกตั้ง

ผลการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 เสียงแตกกระจาย ไม่มีพรรคไหนได้ ส.ส. ถึง 100 เสียง พรรคสามัคคีธรรมได้มากที่สุด 79 เสียง พรรคชาติไทย 74 พรรคความหวังใหม่ 72 พรรคประชาธิปัตย์ 44 พรรคพลังธรรม 41 พรรคกิจสังคม 31

มีการฟอร์มรัฐบาลผสม ภายใต้การนำของพรรคสามัคคีธรรมซึ่งมี นายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้า แต่ ณรงค์ วงศ์วรรณ ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด พล.อ.สุจินดา คราประยูร จึงถูกส่งเข้ามานั่งตำแหน่งนายกฯ คนกลางแทน โดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง

รัฐบาลนายกฯ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ถูกต่อต้าน อยู่ได้เดือนกว่า ก็เกิดพฤษภาทมิฬ 2535 มีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ถูกจับไปกว่า 3,000 คน นายกฯ พล.อ.สุจินดา ต้องลาออก อ.มีชัยจึงต้องรักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ 22 วัน

หลังจากนั้นไม่กี่วัน นายมีชัยก็มาดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา เมื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน กลับมาเป็นนายกฯ ชั่วคราว และเป็นต่อเนื่องไปจนมีการเลือกตั้งใหม่ได้นายกฯ ชวน หลีกภัย จนนายกฯ ชวนถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเลือกตั้งใหม่ได้นายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกฯ บรรหารยุบสภาเลือกตั้งใหม่ได้นายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกฯ พล.อ.ชวลิต ลาออก นายชวน หลีกภัย กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง นายมีชัยคนเดียวสามารถเป็นประธานวุฒิสภา คู่กับ 5 นายกฯ จนกระทั่งหมดสมัยในปี 2543

หลังรัฐประหารล้มนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ปี 2549 เมื่อตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายมีชัยจึงได้รับเลือกเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจนมีการเลือกตั้งใหม่

ร่าง รธน. 2559 ผลงานล่าสุดของ อ.มีชัย
ถ้าผ่านประชามติ รัฐบาลจะอยู่ได้นานเท่าใด?

การรัฐประหารปี 2557 เมื่อได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ประธาน กรธ. รัฐธรรมนูญ 2559 ก็ยังใช้กระบวนท่าเดิม ในการร่าง รธน.

1. ต้องมี ส.ว.แต่งตั้ง แต่ปีนี้ลดลง (ปี 2521 ส.ว. มี 3/4 ของ ส.ส. ปี 2534 ส.ว. มี 2/3 ของ ส.ส.) ปี 2559 ส.ว. มี 1/2 ของ ส.ส. การให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ มีชัย และ กรธ. ไม่ได้เสนอ แต่ สนช. และ สปท. อยากได้

2. เปิดทางให้มีนายกฯ ที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง

3. การเลือก ส.ส. เป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม พรรค ส.ว. จะมากที่สุด จะต้องตั้งรัฐบาลผสมแน่ๆ

4. คสช. ยังมีอำนาจไปจนถึงตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว

(แต่คราวนี้ ร่าง รธน. ต้องมีการลงประชามติ)

ถ้ารัฐธรรมนูญแบบนี้ผ่านไป ส.ว. แต่งตั้งจะได้ประโยชน์ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร อยู่กินเงินเดือนได้อีกนาน

แต่ผู้สืบทอดอำนาจ จะอยู่ได้นานเท่าไร?

บทเรียนที่ผ่านมานายกฯ พล.อ.เกรียงศักดิ์ โดย รธน. 2521 อยู่ได้ไม่ถึง 9 เดือน

นายกฯ พล.อ.สุจินดา โดย รธน. 2534 อยู่ได้ 5 สัปดาห์

นายกฯ ที่มาจาก รธน. 2559 แบบมี ส.ว. หนุน จะอยู่ได้นานเท่าไร…ถ้ามาจากฐานการเลือกของประชาชน แต่ไม่มี ส.ว. หนุน จะเกิดได้หรือไม่ ชาวบ้านและคนค้าขาย จะทนอยู่ได้นานเท่าไร? เราจะตัดสินความขัดแย้งแบบอังกฤษหรือตุรกี