หนังสือลับในจินดามณี – ไทยหลง

หนังสือลับในจินดามณี (๓)

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้เพียงสั้นๆ ว่า

ไทยหลง น. วิธีเขียนหนังสือลับของโบราณอย่างหนึ่ง.

วิธีการก็คือใช้ตัวอักษรแทนกัน ผู้อ่านจะอ่านได้ก็ต่อเมื่อรู้จักสูตรการแทนตัวอักษร ดังนี้

ก = ง ข = ค ฃ = ฅ ฆ = ฌ

จ = ย ฉ = ช ซ = ฒ ญ = ฑ

ฎ = ฐ ฎ = ณ ด = ถ ต = น

ท = บ ธ = ฝ ป = ม ผ = พ

ฟ = ฮ ภ = ฬ ร = ล ว = ส

ห = อ

สูตรนี้คือสูตรที่ หลวงธรรมาภิมณฑ์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ประชุมลำนำ ว่า พระปิฏกโกสล (อ่วม) เป็นผู้คิดขึ้น การแทนอักษรจะแทนเฉพาะพยัญชนะเท่านั้น สระคงไว้ตามเดิม

ตัวอย่าง ไทยหลง ใน จินดามณี ฉบับกรมศิลปากร (๒๕๖๑) มีดังนี้

ดสาจงลสลทาบต้หป งฦวถาร

โหตห่หตนลีรางลาต งลาทเงร้า

ผุบขุตหถุรจมาต วลลเผฉ

มงอ่ปล่ปเงวเฉ้า ข่ำเผี้จลติยงาร

ถอดความได้ว่า

ถวายกรวรบาทน้อม กฦสดาล

โอนอ่อนตรีลากราน กราบเกล้า

พุทคุนอดุลยปาน สรรเพช

ปกห่มร่มเกสเช้า ค่ำเพี้ยรนิจกาล

หังวลสลวาลวล้หจ วีวสวัถิ

สติถาตาลีลันต แน่กไส้

จุทรงรโขรกผลัถ เผี้จตฉื่ห

ขืหไบอรกพยกใอ้ หายห้ากเมตผล

ถอดความได้ว่า

อักสรวรสารสร้อย สีสวัดิ

วนิดานารีรัตน แต่งไว้

ยุบลกลโคลงพรัด เพี้ยนชื่อ

คือไทหลงผจงให้ อาจอ้างเปนพร

ในบทโคลงข้างต้น มีคำที่เขียนต่างจากที่เก็บไว้ในพจนานุกรม เช่น กฦสดาล (กฤษฎาญ) พุทคุน (พุทธคุณ) สรรเพช (สรรเพชญ) อักสร (อักษร) สี (ศรี) สวัดิ (สวัสดิ์)

คราวหน้าเราจะมาดู ฤๅษีแปลงสาร กัน