จัตวา กลิ่นสุนทร : ย้อนเวลาเรียบเรียงความทรงจำ ยามย่ำแดนไกลในวัยหนุ่ม (11)

คณะเดินทางจากแดนไกลได้เวลาถึงเมืองดิ มอยน์ เมืองหลวงของรัฐไอโอวา (Des Moines-Iowa) ตามกำหนด

แต่ได้พักผ่อนเที่ยวเรียนรู้ในเมืองนี้ไม่มากเท่าไร เนื่องจากต้องออกเดินทางต่อไปยังรัฐอื่นๆ ตามที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้

เมืองดิ มอยน์ มิใช่ไม่มีอะไรน่าสนใจ เพียงแต่ว่าไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนไทยสักเท่าไร เนื่องจากอยู่กลางๆ ของประเทศ

แต่เป็นเมืองสำคัญทางการเกษตรกรรม มีแม่น้ำสายยาวอย่างมิสซิสซิปปี้ (Mississippi) ไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออก

ส่วนใกล้ตัวเมืองนั้นเป็นแม่น้ำดิ มอยน์ ตามชื่อเมือง เกษตรกรทำปศุสัตว์เลี้ยงหมูและแปรรูปเป็นอาหาร

มีไร่ข้าวโพดใหญ่โตสุดลูกหูลูกตาไม่ว่าจะผ่านไปทางทิศไหนของเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งริมแม่น้ำดิ มอยน์ และมิสซิสซิปปี้

เป็นเมืองเกษตรกรรมสำคัญ บ้านเราก็ต้องเรียกว่าเต็มไปด้วยเรือกสวนไร่นาและการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งย่อมต้องเป็นอาชีพไม่ร่ำรวยอะไร เพราะเหตุว่าเกษตรกรประเทศนี้ค่อนข้างยากไร้ ทั้งชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน และเลี้ยงสัตว์ เพราะบางครั้งยังต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศ

และในเรื่องของน้ำ เนื่องจากไม่มีการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งเรื่องของราคาซื้อขายไม่เหมือนคนอเมริกัน

หากถามเขาว่าพ่อแม่มีอาชีพอะไร ถ้าตอบว่าเกษตรกร เป็น Farmer ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนทำเกษตรกรรม แปลว่าจะต้องมี “ฐานะดี”

 

เมืองดิ มอยน์ ซึ่งมีสมญานามว่า Hawk Eyes มิได้มองไปทางไหนมีแต่ไร่ข้าวโพดและเกษตรกรรมอย่างเดียว เมืองนี้มี “ศูนย์ศิลปะดิ มอยน์” มีผลงานของศิลปินระดับชาติและนานาชาติจากช่วงศตวรรษที่ 19-21 มี “อุทยานประติมากรรม” รวมทั้ง “สวนพฤกษศาสตร์”

รวมทั้งมีอุปกรณ์สำหรับแทนแรงคนและสัตว์ในการทำเกษตรอันทันสมัย เช่น รถแทร็กเตอร์ประเภทต่างๆ มาก

ซึ่งในเวลาที่มีงานแฟร์ งานอันเกี่ยวกับเกษตรกรรมอะไรๆ ของเมืองแห่งนี้จะมีการโชว์ขบวนรถแทร็กเตอร์ และย่อมต้องมีโรงงานการผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์ประเภทเครื่องมือหนักๆ ซึ่งอาจหมายรวมไปถึงอาวุธ

เนื่องจากเมืองหลวงของรัฐไอโอวาแห่งนี้มีกองทหารตั้งอยู่ด้วย ซึ่งก็เป็นการสนับสนุนข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาว่าเคยมีทหารไทยไปเชื่อมความสัมพันธ์กับครอบครัวคนไทย+ลาว+เวียดนามเพื่อการซื้อขายบางสิ่งบางอย่างซึ่งอาจมีการเบียดบังฉ้อฉลงบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัดของบ้านเมืองของเรา

การเดินทางเข้าไปสู่เมืองนี้เกิดขึ้นนานหลายสิบปีในครั้งแรกดังที่เคยกล่าวแล้วว่าได้พาคุณแม่ของหุ้นส่วนชีวิตไปให้ได้พบกับสายเลือดของท่านซึ่งเราได้เข้าไปเกี่ยวดอง

ก่อนความสัมพันธ์จะมีอันขาดสะบั้นไม่คบหากันอีกต่อไปหลังจากได้รู้ได้เห็นวิธีการอันซับซ้อนลึกซึ้งจากหัวใจอันเค็มยิ่งด้วยการใช้ความรักความผูกพันของพี่สาว (บางคน) ซึ่งมีแต่ความจริงใจแต่ไร้ความเฉลียวอันอาจเกิดจากความตื้นเขินของสติปัญญาฉกฉวยมรดกในส่วนของเธอไปแปรเป็นเงินเปลี่ยนมือไปจนหมดสิ้น หลังจากพี่สาวของเขาเสียชีวิตไล่หลังคุณแม่ผู้ให้กำเนิด

เส้นทางชีวิตของเขาเดินมาอีกอย่างหนึ่ง ความรู้ความเข้าใจ และการศึกษาชอบพอไม่ตรงต้องกับคนเดินทางไกลอย่างเรา เพราะฉะนั้น ไม่ได้มีโอกาสได้ชมบางสิ่งบางอย่างอันเป็นสิ่งที่ดีๆ และยิ่งใหญ่ในเมืองดิ มอยน์

นอกจากเที่ยวไปเยี่ยมเยียนญาติข้างภรรยาชาวลาวอพยพ ซึ่งพยายามเหลือเกินที่จะโชว์ความเป็นผู้มีชาติตระกูลขณะเมื่อยังอยู่ในแผ่นดินเกิด มีญาติเยอะ ใครไปเรียกว่าเป็น “คนลาว” ไม่ได้

เขาเป็นอะไรที่สูงส่งกว่าลาว แต่จริงๆ เธอนั้นกลับมีเลือดผสมเวียดนาม

 

เมื่อพบกันในครั้งแรกได้ร่วมเดินทางไปกับญาติๆ ของเธอไปยังเมืองหนึ่ง ต้องขออภัยที่จำไม่ได้ และไม่ได้ค้นคว้าต่อเนื่องจากไม่สำคัญอะไรนัก ซึ่งได้รับการอธิบายว่าเป็นเมืองที่รัฐบาลสหรัฐพาเอา “ชาวม้ง” มาไว้ เหมือนกับที่เอาชาวลาวอพยพและเวียดนามมาไว้ยังเมืองดิ มอยน์ และใกล้เคียงนั่นเอง

เธอได้พยายามอธิบายเกี่ยวกับเรื่องของชาวม้งต่างๆ นานา โดยมีจุดประสงค์แค่ว่าผู้อพยพเหล่านี้เป็นชาติพันธุ์ เป็นชนชั้นที่ต่ำกว่าผู้อพยพกลุ่มของเธอ?

เก็บสิ่งเหล่านี้มาบอกเล่ามิได้หมายความผู้อพยพเหล่านั้นเป็นคนไม่ดี

เพราะคนเราไม่ว่าจะเป็นชนชาติพันธุ์ไหน บ้านแตกสาแหรกขาด ต่อสู้กันด้วยความรู้สึกนึกคิดเรื่องลัทธิต่างๆ

ระบอบการปกครองย่อมมีทั้งคนดีไม่ดีปะปนกันอยู่ ในประเทศที่ไม่ได้เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร ไม่มีการสู้รบอย่างของเรา ก็ย่อมต้องมีคนดีคนเลว คนคิดต่าง นิยมการปกครองที่แตกต่างรวมอยู่ด้วยกัน

ส่วนมากคนอพยพซึ่งเป็นชาวเอเชียนั้นเกิดขึ้นเพราะการสู้รบที่คิดต่างกันในเรื่องระบอบการปกครอง ซึ่งเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งสหรัฐกลัวมากจึงต่อต้านด้วยการทุ่มเทงบประมาณลงไปเหมือนกับจ้างให้มีการรบนอกบ้าน ทั้งทุ่มกำลังทหารลงไปทำสงครามดังที่ปรากฏในเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามีแต่ความพ่ายแพ้

และในที่สุดก็ต้องรับผิดชอบผู้อพยพชาวกัมพูชา ลาว เวียดนาม เฉพาะในเอเชียใต้ อย่างเช่นเอาชาวม้งไปไว้ยังเมืองหนึ่ง

ประเทศอื่นๆ ซึ่งเคยเป็นเจ้าอาณานิคมของเขมร+ลาว+ญวน ในประวัติศาสตร์คือฝรั่งเศส จึงหนีความรับผิดชอบนี้ไปไม่ได้

ฉะนั้น นอกจากในเมืองต่างๆ รัฐต่างๆ ของสหรัฐ ซึ่งมีผู้อพยพสอดแทรกอยู่ทั่วไป ยังมีกระจายไปยังฝรั่งเศสและยุโรปด้วย ที่สุดคนเอเชีย เขมร+ลาว+ญวน รวมทั้งไทยจึงได้พบเจอะเจอและจับคู่กันได้ง่ายกว่าจะไปคบกับฝรั่งมังค่า ที่พวกเขายังค่อนข้างทำท่ารังเกียจอยู่เป็นส่วนใหญ่

 

ไม่แตกต่างกับน้องชายของหุ้นส่วนชีวิตที่ซัดเซพเนจรจนกระทั่งได้พบรักกับสาวชาวลาวอพยพเลือดผสมเวียดนาม

และโคจรมาเกี่ยวดองจนกระทั่งสร้างปัญหาต่างๆ ในระยะหนึ่งก่อน ก่อนจะกอบโกยทรัพย์สมบัติของญาติพี่น้องแปรเป็นเงินแยกจากกันไปดังกล่าว

ญาติมิตรชาวลาวซึ่งเป็นผู้อพยพอีกหลายครอบครัว รวมทั้งคนเวียดนามซึ่งได้มาพบปะทำความรู้จักกัน กระทั่งได้เดินทางมาเมืองไทยในระยะหนึ่งเพื่อมาท่องเที่ยวและเยี่ยมเยียนบ้านเกิดด้วย

ซึ่งหลายคนออกจากประเทศไปแบบชนิดจำความได้เพียงเล็กน้อยเพราะยังอ่อนวัย

แน่นอนครอบครัวของเราเคยให้การต้อนรับอย่างเต็มศักยภาพที่มีอยู่

การกลับไปเยือนเมืองดิ มอยน์ ไอโอวา สหรัฐอีกครั้ง พวกเขาจึงได้มาช่วยพาเราไปเที่ยวหลายเมือง อย่างเช่น ชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ (Chicaco Illinois) ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 5 ชั่วโมงจากเมืองที่เราพักจึงได้พักค้างคืนในโรงแรมชั้นดีเป็นครั้งแรกในสหรัฐ ได้กินอาหารจีน ทั้งหมดต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อย

และเขาได้สัญญาว่าเมื่อเสร็จกิจธุระจากมหานครนิวยอร์กหากยังมีเวลาเหลือจะได้พาไปอีกหลายเมือง

 

ถึงเวลาเดินทางเป็นคณะใหญ่ 2 ครอบครัว 8 คนโดยบินสู่มหานครนิวยอร์ก New York City (NYC) เมืองใหญ่อันดับ 1 ของสหรัฐ โดยวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้าว่าจะเช่ารถขับต่อไปยังเป้าหมายคือ บอสตัน (Boston-Massachusetts) เมืองมหาวิทยาลัย

แต่ต้องแวะพักโมเต็ลอีกคืนหนึ่ง เพื่อพบปะกับญาติน้องสะใภ้ชาวลาวซึ่งได้สามีเป็นคนเวียดนามอยู่ในรัฐคอนเนกทิคัต (Connecticut) กันทั้งครอบครัว เป็นพลเมืองอเมริกันกันทั้งหมดแล้ว

โรงแรมที่คณะของเราพักในมหานครนิวยอร์กอยู่ใกล้กับตึกแฝดเดิม (World Trade Center) สัญลักษณ์คู่เมือง เพียงแต่วันที่ได้ไปถึงมหานครแห่งนี้พร้อมกันทั้งบ้านเมื่อปี พ.ศ.2545 นั้น เกิดขึ้นหลัง “เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ การก่อวินาศกรรมสหรัฐอเมริกา” โดยใช้เครื่องบินพุ่งเข้าชน “ตึกแฝด” เมื่อ “วันที่ 9 กันยายน 2544 (9/11/2001)” ประมาณปีเศษ ณ เวลานั้น บริเวณนั้นจึงถูกเรียกว่า “กราวด์ซีโร่” (Ground Zero) ไม่มี “ตึกแฝด” อีกต่อไป

2 วัน 2 คืนในมหานครใหญ่โต คณะของเราก็ไม่ได้แตกต่างไปกับนักเดินทางอื่นๆ ที่ได้เดินทางสู่เมืองแห่งนี้ โดยต้องไปเยือนตามสถานที่ยอดฮิตของนักท่องเที่ยวทั่วโลกนิยมไปกัน

อาทิ เทพีเสรีภาพ ตึกเอ็มไพร์สเตต (Empire State) ซึ่งสูงที่สุดขณะนั้น ก่อนจะเกิดตึก “วัน เวิร์ล เทรด เซ็นเตอร์” (One World Trade Center) ซึ่งมีความสูงถึง 541.3 เมตร

พร้อมเดินเที่ยวตามถนนเพื่อซื้อฮ็อตดอกจากรถเข็นกินตามคำบอกเล่าของเพื่อนพ้องว่าต้องทำอย่างนั้น เพราะมันอร่อย

ขึ้นรถไฟใต้ดิน (Sub Way) ซึ่งผู้รู้ที่เคยเดินทางมาแล้วเคยเตือนกันนักกันหนาว่าอย่าเผลอเข้าไปในบางเขตในเวลาค่ำคืนที่เต็มไปด้วยคนผิวสีมันน่ากลัวที่สุด ได้นั่งแท็กซี่สีเหลือง กินอาหารจีน เวียดนาม และไทย รวมทั้งต้องไปเดินยัง “เซ็นทรัล ปาร์ก” (Central Park) อันโด่งดัง และ ฯลฯ เพียงเท่านี้ก็หมดเงิน หมดเวลาแล้ว

ก่อนกลับเมืองไทยตั้งหน้าตั้งตาทำงานหาเงินมาเคลียร์หนี้ที่ใช้จ่ายไปล่วงหน้าอีกนานวัน