สรุปข่าวในประเทศ : “บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะถกพรรคการเมือง ปิดทาง “ธนาธร” ขอไลฟ์สด / ยึดทรัพย์อดีตปลัด พม.

สรุปข่าวในประเทศ

“บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะถกพรรคการเมือง สิ้นเดือน มิ.ย. ปิดทาง “ธนาธร” ขอไลฟ์สด

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึงการเชิญพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาหารือการจัดการเลือกตั้งว่า พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายให้ตนเป็นประธานในการประชุมครั้งแรก ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ โดยเบื้องต้นจะดูว่าปลดล็อกอะไรก่อน แต่ยังไม่ปลดล็อกทั้งหมด จะเน้นการเปิดให้หาสมาชิกพรรคการเมืองได้ ส่วนการหาเสียงเลือกตั้งยังไม่อนุญาต เพราะต้องรอกฎหมายลูกเรียบร้อยก่อน ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ออกมาระบุว่า หากในที่ประชุมไม่ให้ไลฟ์สด จะไม่เข้าร่วมด้วย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ก็แล้วแต่ อยากมาก็มา ถ้าไม่อยากมาก็ไม่ต้องมา แต่จะไม่ให้ไลฟ์สด เพราะต้องพูดคุยกันก่อน จะมาไลฟ์สดอะไร ผมเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาทั้งพรรคการเมืองใหม่และพรรคการเมืองเก่า ปัญหาระดับโลกเขายังแก้ไขกันได้ ของเราเรื่องแค่นี้”

ปปง.ยึดทรัพย์อดีตปลัด พม.กับพวก 88 ล้าน ทุจริตโกงเงินคนไร้ที่พึ่ง

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการธุรกรรม มีมติเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ปปง. ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินของกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ทุจริตการยักยอกเงินช่วยเหลือคนยากไร้ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปปง. ประกอบด้วย นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายณรงค์ คงคา อดีตรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายธีรพงษ์ ศรีสุคนธ์ อดีตผู้ตรวจราชการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมพวก ประมาณ 12 ราย จึงให้ยึดที่ดิน ห้องชุด รถยนต์หรู เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร และหลักทรัพย์ต่างๆ รวม 41 รายการ มูลค่าประมาณ 88 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการทุจริตในหน้าที่

ครม.ตีกลับบำเหน็จ 2 ขั้น จนท.คสช. 600 คน “ประวิตร” ปลอบให้แน่-แต่ขอดูความเหมาะสม

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.นครสวรรค์ ตีกลับข้อเสนอขึ้นบำเหน็จให้เจ้าหน้าที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2 ขั้น จำนวน 600 คนนั้น ให้ดูความเหมาะสมอีกครั้ง

กรณีดังกล่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า ครม.ให้ตนกลับมาดูความเหมาะสมอีกครั้ง โดยมองว่าจำนวน 600 คนที่ได้มีจำนวนมากไปนิดหน่อยแต่ขอดูรายละเอียดก่อนว่าพิจารณาตามความเหมาะสมแค่ไหน เนื่องจากมีบำเหน็จปกติอยู่แล้ว

“การอนุมัติหลักการให้ได้อยู่แล้ว แต่ต้องดูจำนวนคนว่ามากเกินหรือน้อยเกินไป ส่วนที่ปีก่อนได้มีการให้บำเหน็จเจ้าหน้าที่ คสช.ไปจำนวน 1,000 คน และปีนี้ลดเหลือ 600 คนนั้น เนื่องจากปีนี้คนที่มาช่วยงาน คสช. ลดน้อยลง” พล.อ.ประวิตรกล่าว

คสช.ปรับองค์ประกอบใหม่ กรรมการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2561 เรื่อง การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) มีใจความว่า ตามที่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2557 เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินการในเรื่องของการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง คสช.จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ให้แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติขึ้นภายในคณะรักษาความสงบแห่งชาติใหม่ ประกอบด้วย (1) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ (2) รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ (3) หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นกรรมการ (4) ผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย จำนวนไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ (5) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้ง จำนวนไม่เกินเก้าคน เป็นกรรมการ (6) เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เป็นกรรมการและเลขานุการ (7) ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ (8) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ให้คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (1) จัดทำแนวทางและมาตรการในการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างและประสานความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป (2) ประสาน เร่งรัด ติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมายกฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และอยู่ภายใต้กรอบธรรมาภิบาล เป็นต้น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป

อนึ่ง ที่ผ่านมา คตช.ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าไร้ประสิทธิภาพ และที่ผ่านมีการประชุมนับครั้งได้ จึงไม่มีผลงานปรากฏ และทำให้การทุจริตถูกมองว่าเพิ่มมากขึ้น