อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ซานไห่ เก้าคนหลังฉาก ในประวัติศาสตร์ผลัดใบ (27)

“…นอกจากหนังสือพิมพ์ต้ากงเป้าแล้ว ข้าพเจ้ายังชอบอ่านหนังสือพิมพ์ “สือสื้อซินเป้า” และ “สือเป้า” ของเซี่ยงไฮ้ด้วย

บทวิจารณ์กีฬาของ เจี่ยง เชียง ชิง บรรณาธิการหน้ากีฬาของหนังสือพิมพ์สือสื้อซินเป้า และของซีซูอี นักข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์สือเป้า ได้สร้างแบบฉบับใหม่ของการรายงานข่าวกีฬาและภาพยนตร์ เป็นส่วนที่ข้าพเจ้าสนใจเป็นพิเศษ

นิตยสาร “เชิงฮว๋โจวคาน” (ชีวิตรายสัปดาห์) ซึ่งเป็นที่นิยมของคนหนุ่มสาวทั้งในและนอกประเทศในสมัยนั้นก็เป็นหนังสือที่ข้าพเจ้าขาดไม่ได้

คอลัมน์ “ปริทัศน์” และ “จดหมายจากผู้อ่าน” ก็มีอิทธิพลต่อข้าพเจ้ามาก

หนังสือพิมพ์ของฮ่องกงและของเมืองกวางตุ้งในยุคนั้น มีเนื้อหาคร่ำครึมาก

ขณะที่หนังสือพิมพ์ซานเป้า และซิงฮว๋ารื่อเป้าของเมืองซัวเถา กลับจะทันสมัยกว่า

ส่วนในกลุ่มของหนังสือพิมพ์จีนในดินแดนอุษาคเนย์นั้น ที่โดดเด่นที่สุดคือ หนังสือพิมพ์ซิงโจว รื่อเป้า ของสิงคโปร์ มีเนื้อหาและรูปแบบใกล้เคียงกับหนังสือพิมพ์ใหญ่ภายในประเทศ รองลงมาคือ หนังสือพิมพ์ซินเป้า และเทียนเซิงรื่อเป้าของปัตตาเวียในชวา ระดับของหนังสือพิมพ์จีนในดินแดนอื่นๆ ก็ไม่แตกต่างจากในสยามเท่าไรนัก บางทีอาจล้าหลังกว่าด้วยซ้ำไป

สมัยนั้นแม้หนังสือพิมพ์ภาษาจีนในกรุงเทพฯ จะมีประวัติความเป็นมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่เนื้อหาและรูปแบบยังหยุดอยู่แค่ยุคเริ่มต้นเท่านั้น

แต่ละวัน แม้จะพิมพ์ 5-6 แผ่น แต่โฆษณาครอบครองเนื้อที่ส่วนใหญ่ โฆษณาบางชิ้น ใช้เนื้อที่ใหญ่ แต่ขาดเนื้อหาสาระ การจัดหน้าของหนังสือพิมพ์ยุคนั้นก็ไม่สวยงามแม้แต่น้อยเนื่องจากแต่ละหน้ามีเพียง 6 คอลัมน์ ขนาดตัวพิมพ์ก็มีเพียงเบอร์ 2 เบอร์ 4 เบอร์ 5 เท่านั้น ถ้าผู้อ่านปัจจุบัน เอาหนังสือพิมพ์จีนเมื่อต้นทศวรรษ 1930 มาอ่านคงจะรู้สึกว่าน่าขบขันมากทีเดียว”

จากบูรพาสู่อุษาคเนย์ อู๋ จี เยียะ เขียน เรืองชัย รักศรีอักษร แปล

ข้อความเหล่านั้นเป็นบันทึกของ อู๋ จี เยียะ ที่เล่าถึงสภาพหนังสือพิมพ์จีนในไทยและในเอเชีย

ตัวเขาเองนั้นทำงานในหนังสือพิมพ์ฮว๋าเฉียวรื่อเป้า ในกรุงเทพฯ ช่วงต้นทศวรรษที่ 30 หนังสือพิมพ์ฮว๋าเฉียวรื่อเป้านั้นเป็นหนึ่งในสี่หนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ขายนักอ่านชาวจีนในสมัยนั้น ซึ่งมี กว๋อหมินรื่อเป้า เป็นอันดับหนึ่ง ส่วนที่เหลือนั้นมี จงฮว๋าหมินเป้า เฉินจงรื่อเป้า และ ฮว๋าเฉียวรื่อเป้า

ตัว อู๋ จี เยียะ นั้นแม้จะทำงานที่ฮว๋าเฉียวรื่อเป้า แต่เขามีความสนใจในหนังสือพิมพ์จีนแทบทุกฉบับที่ตีพิมพ์ในเอเชีย

อาจเป็นเพราะว่าการที่เขาเคยพำนักในจาการ์ตามาก่อน เขาได้นำเอาประสบการณ์การอ่านหนังสือพิมพ์จีนที่หลากหลายนี้มาปรับปรุงการเขียนข่าวของตนเอง

และส่งผลให้เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทยที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง

บันทึกที่ว่านี้แสดงให้เห็นว่า หนังสือพิมพ์ที่โด่งดังในจีนไม่ว่าในปักกิ่ง ซัวเถา หรือแม้แต่ซานไห่ ล้วนแพร่หลายในไทยด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ข่าวสารคดีสำคัญในจีนจึงประหนึ่งเป็นละครหรืออุปรากรหรือภาพยนตร์ที่เดินทางไกลนอกพื้นที่ของตนเองไปยังชาวจีนทั่วโลก คดีสำคัญเหล่านี้ได้สร้างการเชื่อมโยงคนจีนในทุกดินแดนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องค่านิยมดั้งเดิมที่ได้รับจากขงจื๊อ เม่งจื๊อ และการปะทะกับโลกสมัยใหม่ที่พวกเขากำลังเผชิญ

ชุมชนของชาวจีนโพ้นทะเลนั้นกินอาณาเขตกว้างขวางผ่านคาบสมุทรมาลายูไปจนถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ด้านตะวันออกไปถึงแคลิฟอร์เนีย ยาวไปจนถึงนิวยอร์ก ในลอนดอน ในอัมสเตอร์ดัม และอีกหลายที่ พวกเขาเหล่านี้เชื่อมโยงกันด้วยข่าวสารที่ผ่านทางถึงหนังสือพิมพ์เป็นหลัก

สาเหตุหนึ่งนั้นคือการที่จีนมีภาษาพูดจำนวนมากมาย ทั้งแต้จิ๋ว จีนกลาง กวางตุ้ง ฯลฯ หากแต่มีภาษาเขียนแบบเดียวที่ใช้สื่อสารกันได้ เข้าใจกันง่ายดายกว่า

ดังนั้น คดีสำคัญในยุคนั้นจะถูกเผยเเพร่อย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในคดีที่จำเลยเป็นผู้หญิง นอกจากคดีฆาตกรรมของ ชิ เฉียน เฉียว คดีหลบหนีออกจากบ้านของ หวง ฮุย หลู แล้ว คดีของ หลิว จิง กุ้ย-Liu Jinggui ก็เป็นคดีสำคัญมากเช่นกัน

เช้าวันที่ 16 มีนาคม 1935 หลิว จิง กุ้ย สาวน้อยนักศึกษาวัย 24 ปีแห่งวิทยาลัยศิลปะภาคเหนือของจีนได้เดินเข้าไปในหอพักหญิงซือเจิ้งในปักกิ่ง ที่นั่นมี เตง ชวง-Teng Shuang หญิงสาวที่เป็นคู่แข่งด้านความรักของเธอพำนักอยู่

เธอหลอกยามที่เฝ้าหอพักนั้นว่าเธอเป็นมารดาของ เตง ชวง หลังจากนั้น หลิง จิง กุ้ย เข้าไปถึงห้องของ เตง ชวง ก่อนจะใช้ปืนพกบราวนิ่งที่นำติดตัวมาด้วยยิง เตง ชวง เป็นจำนวนถึงเจ็ดนัด เตง ชวง ผู้มีวัย 29 ปีเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ

เสร็จสิ้นการสังหาร หลิว จิง กุ้ย วิ่งออกมาที่ถนนและหลบหนีเข้าไปในตรอกเล็กๆ บริเวณนั้น

ยามของหอพักที่ได้ยินเสียงปืนและแลเห็น หลิว จิง กุ้ย วิ่งหลบหนีออกมาได้วิ่งตามเธอไปและจับเธอได้ที่ตรอกเฟิงเชิง

เธอถูกกุมตัวก่อนที่จะนำตัวขึ้นพิจารณาคดีเป็นครั้งแรกในวันที่ 23 เมษายน ในปี 1935

คดีของเธอดำเนินไปถึงสองปีก่อนที่จะมีคำพิพากษาในวันที่ 5 พฤษภาคน 1937 ให้เธอต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต

หลิว จิง กุ้ย สังหาร เตง ชวง ด้วยสาเหตุจากความหึงหวง

ทั้งคู่มีคนรักคนเดียวกันเป็นชายหนุ่มนาม หลู่ หมิง-Lu Ming

หลิว จิง กุ้ย และ หลู่ หมิง เกิดในเมืองเดียวกันคือซวนหัวในมณฑลเหอเป่ย วันที่ 11 เมษายน ปี 1933 สองปีก่อนการสังหารทั้งคู่ได้เข้าพิธีหมั้นกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่กี่เดือนภายหลัง หลู่ หมิง ได้พบกับ เตง ชวง ในงานกีฬาแห่งหนึ่ง หลู่ หมิง ตกหลุมรัก เตง ชวง ในทันที เขาเข้าพิธีแต่งงานกับเธอในเดือนพฤศจิกายน ปีนั้น

ทั้งคู่ขอร้องให้ หลิว จิง กุ้ย รับเงินชดเชยหกร้อยหยวนสำหรับการยกเลิกพิธีหมั้นหมายที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นระหว่างเธอกับ หลู่ หมิง

การต่อรองลงเอยในเดือนกุมภาพันธ์ หลิว จิง กุ้ย ยอมรับเงินจำนวนนั้นและยอมถอนหมั้นจาก หลู่ หมิง

ทว่า เมื่อถึงเดือนมีนาคม หลู่ หมิง และ หลิว จิง กุ้ย กลับมีจดหมายรักติดต่อกันอีกครั้ง ก่อนที่ทั้งคู่จะไปค้างคืนที่โรงแรมนอกเมืองปักกิ่งด้วยกันถึงห้าวัน

หลิว จิง กุ้ย สารภาพในศาลว่าเวลาช่วงนั้นเองที่เธอตระหนักว่า เตง ชวง คือคู่แข่งด้านความรักที่เธอต้องขจัดให้พ้นทางไป

มีความพ้องเคียงกันระหว่างคดีของ ชิ เฉียน เฉียว กับคดีของ หลิว จิง กุ้ย คือการแก้แค้นเพื่อธำรงไว้เพื่อศักดิ์ศรีตามจารีต

ชิ เฉียน เฉียว สังหาร ซุน ชุง จาง เพื่อแก้แค้นแทนบิดาของเธอและสืบทอดภารกิจรักษาศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูลที่ไม่อาจปล่อยให้ใครดูหมิ่นได้

ในขณะที่ หลิว จิง กุ้ย สังหาร เตง ชวง เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของการถูกทรยศของความรักจากการถูกแก่งแย่งความรักของเธอไป การต้องถอนหมั้นเพื่อผละไปแต่งงานกับหญิงคนใหม่นั้นนำความเสื่อมเสียสู่วงศ์ตระกูลของเธออย่างยิ่ง

และทางเดียวที่จะกู้ศักดิ์ศรีมาได้คือการขจัดบุคคลผู้ที่หยามหมิ่นนั้นไป

สิ่งที่แตกต่างออกไปในคดีทั้งสองคือความเห็นใจจากสาธารณชนโดยเฉพาะจากสื่อมวลชนที่มีผลต่อการชี้นำอารมณ์และเหตุผลของสาธารณชนอย่างยิ่ง

ในขณะที่ในคดีของ ชิ เฉียน เฉียว สื่อมวลชนเห็นอกเห็นใจและเห็นดีเห็นงามกับการกระทำของเธอ

ในกรณีของ หลิว จิง กุ้ย มีคำคัดค้านจำนวนมากจากสื่อโดยเฉพาะต่อกลุ่มสิทธิสตรีที่พยายามเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการกระทำของ หลิว จิง กุ้ย โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้วตามจารีตของสังคมจีน

บทความชื่อว่า “การวิพากษ์คดีฆาตกรรมของ หลิว จิง กุ้ย” คอลัมนิสต์ชื่อดังในวารสาร “ดู้ลี่ปิงหลุน” นั้นถึงกับแนะนำว่าการสนับสนุนการกระทำของ หลิว จิง กุ้ย จะส่งผลเสียมหาศาลในอนาคตต่อสถาบันครอบครัวยุคใหม่รวมถึงสถานภาพของผู้หญิงจีนที่กำลังก้าวเข้าสู่ความทันสมัยด้วย

“อะไรจะเกิดขึ้น หากชุมชนสตรีในจีนจะอ้างจารีตเรื่องศักดิ์ศรีมาสนับสนุนการกระทำของ หลิว จิง กุ้ย และใช้ความเป็นสตรีนิยมปกป้องเธอ อะไรจะเกิดขึ้น หากข้ออ้างดังว่าเป็นที่ยอมรับ นี่เราไม่ได้สนใจการต้องสูญเสียชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งเป็นที่ตั้งแล้วหรือ”

คอลัมนิสต์คนหนึ่งนาม จุน จื้อ ในหนังสือพิมพ์ เป่ผิงเชนเป่า ได้เขียนบทความชื่อ “การเทียบเคียงของสองโศกนาฏกรรม”

โดยยกเอาเหตุการณ์กระทำอัตวินิบาตกรรมของ หยวน หลิง อี้ ดาราหญิงผู้โด่งดัง กับคดีของ หลิว จิง กุ้ย

เขาได้ให้แง่คิดว่าการที่สตรียุคใหม่ยังคงยึดมั่นในจารีตแบบเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงนั้น ผลสุดท้ายแรงปะทะของสังคมยุคใหม่จะก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น

โดย จุน จื้อ ได้ยกตัวอย่างความผิดในบุคคลทั้งสาม หลู่ หมิง ผิดที่นอกใจ หลิว จิง กุ้ย ส่วน เตง ชวง ผิดที่ไปหลงรักผู้ชายเช่นนั้น

ในขณะที่ หลิว จิง กุ้ย ผิดที่ระบายความโกรธแค้นด้วยการสังหาร เตง ชวง

“เธอควรใช้พลังานของความโกรธแค้นที่ว่าไปในการสร้างอนาคตของตนเองที่จะเป็นผลดีแก่ประเทศชาติมากกว่า กรณีที่ว่านี้แสดงให้เห็นถึงการยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้และเป็นสิ่งที่ควรถูกแนะนำไม่ให้หญิงสาวคนอื่นกระทำเป็นเยี่ยงอย่างในหนทางที่ผิดพลาดเช่นนี้”

ในกรณีของ หยวน หลิง อี้ นั้น จุน จื้อ ได้กล่าวโทษสื่อมวลชนที่พยายามขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัวของเธออย่างไม่ลดละ โดยเฉพาะในเรื่องราวที่เป็นบาดแผลของเธอในอดีต

จนในที่สุด หยวน หลิง อี้ ที่แม้จะกลายเป็นดาราที่มีชื่อเสียงโด่งดังแต่กลับต้องแลกกับความไม่มีโลกส่วนตัวเลย

การหย่าร้างของเธอถูกนำไปเป็นข่าวที่ถูกประโคมจนเกินจริงรวมถึงเรื่องราวที่ถูกแต่งขึ้นเกี่ยวกับเบื้องหลังการหย่าร้างครั้งนี้เพื่อให้ยอดขายของหนังสือพิมพ์ขายได้ในปริมาณที่มากขึ้น

จุน จื้อ กล่าวว่าแรงขับภายใจจากความเชื่อในเรื่องของจารีตที่ผู้หญิงไม่ควรกระทำตัวเสื่อมเสีย

ในความคิดของ หยวน หลิง อี้ และแรงโหมของข่าวสารจากสื่อมวลชนนั่นเองคือ ฆาตกรที่แท้จริง ไม่ใช่ตัวของ หยวน หลิง อี้ เองแม้แต่น้อย