ณ วันนี้… AI ได้ปกคลุมทุกหย่อมหญ้าในสังคมจีน

แฮชแท็กที่เราได้เห็นบ่อยที่สุดในสังคมจีนวันนี้ก็คือ #

อ่านว่า เหรินกงจื้อเหนิง แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า สมองกลปัญญาประดิษฐ์ แต่คนไทยกลับรู้จักมันในชื่อ “เอไอ” ซึ่งมาจากคำว่า AI (Artificial Intelligence)

พัฒนาการของยุคข้อมูลข่าวสาร (Infomation Age) ถูกปฏิวัติครั้งใหญ่ เมื่ออำนาจของการสร้างข้อมูลถูกกระจายให้กับทุกคนด้วยคอนเซ็ปต์ของ “เว็บ 2.0” ที่ว่า “ใครๆ ก็เป็นผู้สร้างเนื้อหาได้ (Users Generated Contents)”

ซึ่งผู้ที่หยิบเอาแนวคิดนี้ไปใช้เมื่อ 14 ปีก่อน ก็คือ “เฟซบุ๊ก” และผลลัพธ์ที่ปรากฏขึ้นในหนึ่งทศวรรษให้หลังก็ประจักษ์แล้วว่าการมอบ “เสรีภาพ” ให้กับ “ทุกๆ คน” (ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเพศใด วัยใด) ในการเป็น “สื่อ” ที่สามารถผลิต แก้ไข ทำซ้ำ และกระจายเนื้อหามัลติมีเดียได้ “แบบเรียลไทม์” นั้น เป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่เกินไป ที่คนธรรมดาๆ จะรับผิดชอบได้กับบทบาทนี้!

เพราะอดีตเกิดแล้ว และโลกไม่เคยชะลอ…

ข้อมูลที่ทุกคนบนโลกมันก็ถูกสร้างขึ้นมาอย่างมหาศาล (Big Data)…

มากเสียจน “คน” จัดการไม่ไหว

จึงต้องฝากความหวังไว้ที่ “คนเหนือคน” อย่าง “สมองกล”

ตามข้อมูลของคอร์สออนไลน์ “The element of AI” ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “เอไอ” มี 2 แนวคิดหลักประกอบกัน นั่นคือ

1. Autonomy ที่หมายถึง อิสรภาพในการจัดทำงานต่างๆ ที่มีความซับซ้อนได้โดยไม่ต้องให้คนมาชี้แนะ และ

2. Adaptivity ที่หมายถึง ยิ่งมีประสบการณ์การเรียนรู้มากเท่าไหร่ ตัวของมันก็จะยิ่งฉลาดที่จะปรับตัวตามสภาพแวดล้อมต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น หลายๆ คนจึงเปรียบเทียบอย่างง่ายๆ ว่า “เอไอ” เหมือนกับ “เด็ก” ที่ยิ่งรู้ข้อมูลมากเท่าไหร่ สมองก็ยิ่งเรียนรู้ไวมากขึ้นเท่านั้น

และที่ไหนกันเล่าบนโลกนี้ที่จะมีข้อมูลมากที่สุด เพื่อให้เอไอได้โชว์ความอัจฉริยะ?

คำตอบก็คือ ที่ที่มีคนมากที่สุดในโลก (ที่พร้อมสร้างข้อมูลอยู่ตลอดเวลา)

และที่แห่งนั้นจะเป็นที่อื่นใดไม่ได้ นอกเสียจาก “จีนแผ่นดินใหญ่” นั่นเอง

ปัจจุบันทุกประเทศ ทุกอุตสาหกรรม ทุกภาคธุรกิจ ต่างประกาศตัวว่าพร้อมลุยพัฒนาเอไอ

แต่ก็มีไม่กี่ประเทศที่มีกรณีศึกษาในการประยุกต์ใช้เอไอจนได้ผลจริงอย่างที่เมืองจีน โดยนำมันไปใช้กับทุกหย่อมหญ้า ซึ่งก็ส่งผลชัดเจนทั้งในแง่บวกและลบต่อผู้คนกว่าพันล้านคนทั่วประเทศ

ภาคเอกชน : BAT โชว์เคสเอไอให้โลกได้อึ้ง!

“BAT” ซึ่งหมายถึง 3 บริษัทผู้นำเทคโนโลยีแห่งแผ่นดินจีน ได้แก่ B-Baidu (ไป๋ตู้) A-Alibaba (อาลีบาบา) และ T-Tencent หรือเถิงชุ่น โดยโอกาสนี้จะขอยก 2 กรณีศึกษาเด่นๆ จากไป๋ตู้และอาลีบาบามาให้คุณรู้จักก่อน

โดยทางไป๋ตู้ได้เปิดตัวบริษัท “เฉี่ยวฉงโป๋ว่าง” ที่เน้นใช้เอไออัพเกรดธุรกิจในเครือไป๋ตู้ ไม่ว่าจะเป็นระบบโฆษณาบนมือถือ ระบบค้นหาข้อมูล การทำรถยนต์ไร้คนขับ รวมถึงระบบปฏิบัติการในรถยนต์ที่ช่วยจับใบหน้าคนขับตลอดเวลา เพื่อดูว่าเมื่อไหร่ที่ง่วงและหาว ระบบจะรีบส่งเสียงและข้อความเตือนที่จอว่าคุณดูอ่อนล้า จากนั้นก็เปิดเพลงกระตุ้น และแนะนำเส้นทางไปยังปั๊มที่ใกล้ที่สุด

ส่วนอาลีบาบา ผู้นำด้านการค้าออนไลน์ ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของตนอัพเกรดธุรกิจอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหุ่นยนต์ “ลู่ปัน ()” ในการสร้างแบนเนอร์โฆษณาโดยอัตโนมัติ 8,000 ชิ้นใน 1 วินาที และเวลาเพียง 2 ปีผ่านไป ระบบใหม่อย่าง “อลีวู้ด (Aliwood)” ก็ได้เกิดขึ้น

คอนเซ็ปต์คล้ายกับลู่ปัน แต่แทนที่จะสร้างแค่ภาพแบนเนอร์ดุ๊กดิ๊กไปมา ระบบอาลีวู้ดสามารถสร้างเป็นคลิปวิดีโอโฆษณาสินค้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งใช้การดึงข้อมูลจากระบบจดจำภาพสินค้า ชื่อสินค้า คุณสมบัติของสินค้า รวมถึงคำรีวิวของผู้ซื้อ มามิกซ์เข้ากับเพลงในท่อนที่เพราะๆ และมีความยาวพอดีกับคลิปนั่นเอง

โดยล่าสุดชื่อของการเป็นผู้นำด้านเอไอของอาลีบาบาก็ยิ่งกระฉ่อนโลกเข้าไปอีกเมื่อประกาศว่าบริษัท Damo Academy ของตนได้ลงทุนกว่าหมื่นล้านบาทกับบริษัทผู้นำด้านเอไอจากฮ่องกงอย่าง SenseTime ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญด้านระบบจดจำภาพ (Face Recognition) ที่วันนี้เคลมว่าสามารถตรวจจับใบหน้าคนเทียบกับบัตรประชาชนของจีนที่มีความแม่นยำถึง 96%

ภาครัฐ : จับคนผิด แบบไม่ผิดตัว!

รัฐบาลจีนประกาศชัดเรื่องการลงทุนด้านเอไอ วางแผนอัดงบพัฒนาลงทุนกับวงการนี้ถึงเกือบ 5 ล้านล้านบาท! และจะต้องสำเร็จผลภายในปี 2030 และถึงแม้จะเหลือเวลาพัฒนาอีกทศวรรษกว่า แต่วันนี้จีนได้มีสิทธิบัตรเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเอไอแล้วถึง 15,000 ฉบับ! และตอนนี้ระบบเอไอขั้นพื้นฐานที่สุดที่รัฐบาลนำมาใช้ก็คือ “ระบบจดจำใบหน้า (Face Recognition)” ที่ผสานอยู่ในกล้องวงจรปิดที่ใช้เลนส์คมชัดสูง!

เรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่สัมผัสได้ถึงความทรงพลังของเทคโนโลยีเอไอในจีน เกิดขึ้นเมื่อครั้งไปตระเวนคุยกับโรงงานในเมืองตงก่วน (ขึ้นชื่อว่าเป็นฐานผลิตแกดเจ็ตแบบ OEM ที่ใหญ่ที่สุดในโลก)

คนขับรถได้แจ้งกับผู้เขียนอย่างจริงจังว่ามีเวลาคุยงานถึง 4 โมงครึ่งเท่านั้น เพราะหากจะกลับเข้าเสิ่นเจิ้นต้องใช้เวลาขับรถอีกชั่วโมงกว่าๆ เพราะหากหลัง 6 โมงเย็นรถของเขาจะขับเข้าเสิ่นเจิ้นไม่ได้!

หากคุณฟังเผินๆ ก็คงคิดว่าโชเฟอร์คนนี้ขี้กลัวซะจริงๆ เราคงไม่โชคร้ายโดนตำรวจจับหรอก รถราก็มากมายขนาดนี้

แต่สิ่งที่เขากลัวไม่ได้เป็นตำรวจในคราบคน แต่เขากลัว “กล้องวงจรปิด” ที่ทำหน้าที่สแกนตัวเลขของป้ายทะเบียนรถต่างหาก ซึ่งสามารถสแกนได้อย่างแม่นยำในเวลาเสี้ยววินาที

และวันนี้ปีนี้ ระบบนี้ก็พัฒนาไปไกลกว่าแค่การตรวจจับตัวเลขบนทะเบียนรถ แต่กล้องความคมชัดสูงสามารถเห็นไปถึงใบหน้าคนขับ เมื่อเทียบกับระบบจดจำใบหน้าก็จะทำให้รู้ว่าเป็นใคร ซึ่งก็จะปรากฏชื่อ เบอร์โทร. และบัญชีวีแชต (WeChat) ของเขาขึ้นมา ทำให้ส่งข้อความไปสั่งให้จ่ายค่าปรับผ่านมือถือได้ทันที!

ขณะนี้เราคงเคยได้ยินข่าวเป็นระยะๆ ว่าในเมืองจีนวันนี้ เทคโนโลยี “ระบบจดจำใบหน้า” ถึงจุดเบ่งบานเต็มที่ (ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่แค่ใบหน้าที่รู้ว่าเป็นเพศอะไร อายุเท่าไหร่ แต่ยังสามารถบอกได้ว่าคนนั้นใส่เสื้อผ้าสีอะไร แขนสั้นหรือแขนยาวได้อีกด้วย) และถูกนำมาใช้ในพื้นที่สาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน ไม่ว่าจะเป็น…

การติดกล้องวงจรปิดที่สี่แยกไฟแดง เพื่อตรวจจับหาคนที่ชอบข้ามถนนโดยไม่รอไฟเขียว

การติดกล้องวงจรปิดที่ทางเข้าคอนเสิร์ต เพื่อหาคนที่มีประวัติอาชญากรรม

การติดกล้องวงจรปิดในห้องเรียน เพื่อดูความตั้งใจ

จึงอาจกล่าวโดยสรุปแบบสั้นๆ แต่ฟังดูแล้วเลือดเย็นได้ว่า บริษัทผู้ซึ่งจัดทำเทคโนโลยีเหล่านี้ให้กับรัฐบาล ได้มีฐานข้อมูลใบหน้าคนจีนแทบทุกคน เพื่อไว้ให้หน่วยงานรักษาความปลอดภัยของรัฐนำไปอ้างอิงและใช้งานต่อได้ในอนาคต

ถึงตอนนี้ หากอ้างอิงจากกรณีศึกษาทั้งหมดนี้ทำให้คุณเชื่อว่า “คลื่นลูกใหม่” ของยุคคอมพิวเตอร์ จะมี “เอไอ” เป็นผู้นำ ก็ต้องทำใจยอมรับไปด้วยว่า “จีน” คือผู้นำเทคโนโลยีของโลกคนใหม่

หรือพูดแบบเฉพาะเจาะจงลงไปก็คือ จีนได้ชื่อว่าเป็น “ผู้นำแห่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเอไอ” ได้อย่างเต็มตัว เพราะเมื่อเทียบกับ “หุ่นยนต์เล่นเกมโกะ” อย่าง “AlphaGo” จากกูเกิลนั้นมันก็คนละชั้นเลยจริงๆ