อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : PRELUDE สภาวะโหมโรงก่อนเข้าสู่ความมืดมนอนธการ ของการเมืองไทย (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

สิ่งที่น่าสนใจในนิทรรศการ PRELUDE ของวิทวัสก็คือ นอกจากมันจะประกอบไปด้วยผลงานจิตรกรรมเหมือนจริงราวภาพถ่าย (Photo Realism) อันเป็นแนวทางถนัดและเชี่ยวชาญของวิทวัสที่นำเสนอสัญลักษณ์ทางการเมืองอันหลากหลายแล้ว

ในนิทรรศการนี้ยังมีผลงานประติมากรรมเชิงทดลอง (Experimental Sculpture), วิดีโอจัดวาง (Video Installation) และศิลปะจัดวาง (Installation Art) ที่ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยทำมาก่อนเลยแม้แต่น้อย ซึ่งนับเป็นความกล้าหาญของศิลปินในการก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง

สาระสำคัญในผลงานของวิทวัสชุดนี้ จึงไม่ได้มีแค่เพียงความงามอย่างที่เขาเคยทำผ่านๆ มาอีกต่อไป หากแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความท้าทาย ทั้งยังสอดแทรกความคิดและประเด็นทางสังคมการเมืองเอาไว้อย่างเข้มข้นและคมคายอีกด้วย

Lavender Field (2018), ศิลปะจัดวางสื่อผสม (วางเรียงตัวอักษร)

ดังเช่นในผลงาน Lavender Field หรือทุ่งลาเวนเดอร์ (ซึ่งเป็นคำเปรียบเปรยถึงการมองโลกในแง่ดีอย่างน่าเหลือเชื่อ หรือที่เรียกในเชิงสัพยอกว่า “โลกสวย” นั่นแหละ) ศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วยแผ่นอะครีลิกใสขนาดใหญ่ 300 x 450 ซ.ม. วางเทินอยู่บนขาตั้งเหล็กสูงจนเกือบมิดศีรษะ ด้านบนของแผ่นอะครีลิกมีตัวอักษรพลาสติกสำเร็จรูปภาษาไทย (แบบเดียวกับที่ใช้ติดบอร์ดตามโรงแรมนั่นแหละ) จำนวนนับหมื่นตัว จัดวางเรียงจนเต็มพรืดไปทั่วแผ่น

ตัวอักษรส่วนใหญ่เรียงสะกดเป็นคำว่า “ชาติ” ผสมกับคำอื่นๆ อีกมากมายจนนับไม่หวาดไม่ไหว

ซึ่งผลงานชิ้นนี้เป็นงานศิลปะจัดวางชิ้นแรกที่วิทวัสเคยทำขึ้นมา

“อาจจะเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งที่เราเคยเอาตัวเข้าไปขลุกอยู่กับงานศิลปะสมัยเก่า ขอใช้คำนี้เลยก็แล้วกัน ไม่ใช่เฉพาะวิธีการ แต่เป็นวิธีคิดด้วย ตัวเราเองก็เคยเป็นแบบนั้นมาก่อน

Lavender Field (2018), ศิลปะจัดวางสื่อผสม (วางเรียงตัวอักษร)

วันหนึ่ง พอเราอ่านหนังสือมากขึ้น มีความรู้มากขึ้น เราเห็นอะไรมากขึ้น แล้วพอความคิดมันเปลี่ยน เนื้อหามันก็เปลี่ยนตาม

ตอนแรกๆ วิธีการเดิมมันยังพอตอบสนองได้อยู่ แต่พอทำไปสักพัก พอเริ่มจะวาดภาพ เราเริ่มสงสัยว่า จากวิธีการที่มีต้นแบบแล้ววาดภาพตาม ก็เริ่มรู้สึกว่าทำไมเราต้องวาดด้วย เพราะบางทีต้นแบบมันก็สวยอยู่แล้ว โดยตัวมันเองก็น่าจะโอเคอยู่แล้ว เราจะไปผลิตซ้ำมันเพื่ออะไร?

มันเริ่มมีคำถามนี้ขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกัน ตอนที่เรียน ก็มีกรอบหนึ่งกำหนดไว้เลยว่า ถ้าคุณกำหนดตั้งแต่แรกว่าคุณทำงานเพ้นติ้ง คุณจะต้องเพนต์ไปตลอด ซึ่งตลกมากๆ เพราะการที่คุณทำวิจัยเพื่อจะเริ่มหาวิธีการใหม่ๆ ซึ่งเป็นความคืบหน้า แต่เขากลับมาติดกับตรงเรื่องแค่ว่า ก็คุณเขียนว่าคุณจะทำเพ้นติ้ง คุณก็ต้องเพนต์น่ะ

แต่พอถึงจุดหนึ่ง ที่เราต้องพูดถึงประเด็นบางอย่าง การวาดภาพมันตอบโจทย์เราไม่ได้ อย่างการพูดถึงเรื่องเวลา เราเคยจะทำเรื่องนี้โดยการเพ้นต์ แต่โดยธรรมชาติ งานเพ้นติ้งมันคือการหยุดนิ่งน่ะ ถึงแม้เราจะวาดเป็นลำดับ จากเริ่มต้น ตรงกลาง แล้วก็ไปสู่จุดสุดท้าย

แต่เราก็ตั้งคำถาม ว่าทำไมจะต้องเพนต์ ในเมื่อมันมีวิธีอื่นที่อาจจะเหมาะกว่า

อย่างเช่นวิดีโอ ก็เลยเกิดเป็นงาน The Revelation งานวิดีโอจัดวาง ซึ่งเกิดจากการที่เราถามตัวเองว่าเราจะทำยังไงในการจะอธิบายสิ่งที่ค่อยๆ เคลื่อนจากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่ง ซึ่งเพ้นติ้งทำไม่ได้

The Revelation (2018), วิดีโอจัดวาง

แต่สุดท้ายเราก็ใช้ความเคยชินของตัวเองในการทำงานเพ้นติ้งออกมาเป็นเฟรมที่บิดเบี้ยว ให้เป็นฉากรองรับการฉายวิดีโอที่สื่อความคิดของเราแทน”

“หรืองานศิลปะจัดวาง Lavender Fields ซึ่งจริงๆ มันเกิดมาจากงานเพนติ้งชิ้นหนึ่ง ที่เราใช้แผงตัวอักษรพลาสติกนำมาแกะตัวอักษรออกแล้วมาประกอบเป็นชุดคำใหม่ เพื่อให้เกิดเป็นชุดคำที่เราต้องการ จากนั้นก็วาดให้ตัวอักษรเรียงซ้ำกันแบบไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนเป็นอนันต์ หายลึกเข้าไปสู่ความมืดเบื้องหลัง

แต่พอทำเสร็จ ก็มีคำเตือนจากคนรอบตัวที่ได้เห็นงานชิ้นนี้ว่า มันค่อนข้างสุ่มเสี่ยง มันมีความหมิ่นเหม่บางอย่าง ในการที่คนอื่นจะมาดูแล้วอาจเข้าใจผิด ตีความไปอีกทาง

เราก็เลยต้องหาวิธีการในการนำเสนอใหม่ ตอนแรกก็คิดว่าจะเอาภาพไปแสดงในห้องมืด แล้วก็ให้คนดูใช้แสงไฟจากมือถือส่องดูรูปเอา ซึ่งจะเห็นแค่บางส่วน แต่ไม่เห็นทั้งหมด มันก็อุปมาเหมือนกับความจริงในสังคมที่คุณไม่สามารถมองเห็นภาพรวมทั้งหมด

แต่มันก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะเราก็ไม่สามารถห้ามคนเข้าไปถ่ายรูป ซึ่งจริงๆ พอใช้แสงแฟลชก็จะเห็นทั้งหมดได้อยู่ดี แต่ยังไงก็ยังอยากแสดงอยู่ เราเลยตัดสินใจแสดงภาพนี้ด้วยวิธีการหันหน้าภาพวาดเข้าผนัง โชว์ด้านหลังแทน ซึ่งก็เหมือนกับเราเซ็นเซอร์ตัวเองในรูปแบบหนึ่ง แต่เป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อให้รู้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ถูกบังคับ

และเพ้นติ้งชิ้นนี้ก็เชื่อมโยงกับศิลปะจัดวางชุดตัวอักษร ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นต้นแบบของเพ้นติ้งนั่นแหละ แต่พอเราวาดเสร็จกลับมาดูอีกที เรารู้สึกว่า ลำพังตัวอักษรเองก็น่าจะสมบูรณ์ได้ด้วยตัวของมันเอง

เราเลยใช้ตัวอักษรพลาสติกทำออกมาเป็นงานศิลปะจัดวางอย่างที่เห็น โดยทำให้สูงถึง 170 ซ.ม. ซึ่งเป็นมาตรฐานความสูงของผู้ชายไทย หรืออีกนัยหนึ่งคือมาตรฐานของสังคมไทย คนที่มาดูก็ต้องชะเง้อ เขย่งดู ส่วนตัวอักษรถูกเรียงเป็นชุดคำว่า “ชาติ” ซึ่งหลังจากนั้นเขาจะไปตีความต่อยังไงก็แล้วแต่ เราไม่ได้บังคับ

แต่อย่างน้อยที่สุด คำคำนี้มันก็เป็นสิ่งที่เราถูกปลูกฝังกันมา เป็นสิ่งที่เราเห็นแล้วเกิดความเคลิบเคลิ้ม เหมือนอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์อะไรแบบนี้”

ผลงานอีกชุดที่น่าสนใจก็คือ ภาพวาดชุด Spectrum หรือแถบสีเจ็ดแถบเจ็ดภาพ อย่าง Yellow Hue, Crimson Red, Pure White, Deep Blue, Old Green, Blue and Pink และ Dark Black ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า “สี” นั้นมีบทบาทในเชิงสัญลักษณ์ในการเมืองไทยเป็นอย่างมาก

Yellow Hue (2018), สีน้ำมันบนผ้าลินิน

ที่น่าสนใจก็คือ หลายภาพในจำนวนนี้ วิทวัสวาดให้ออกมามีลักษณะสีที่หนาหนัก มีร่องรอยขูด รอยประทับ ปาดป้าย จนเนื้อสีนูนออกมาเป็นก้อน (โดยเฉพาะสีเขียว Old Green ที่ดูเหมือนถูกท็อปบู๊ตเหยียบมาหมาดๆ ส่วนสีขาวนั้นดูคล้ายกับโดนนกหวีดประทับยังไงก็ไม่รู้!) แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ กลับเป็นภาพวาดแบนราบเรียบไร้ร่องรอยฝีแปรง โดยที่ศิลปินใช้แสงเงาและน้ำหนักของสีลวงตาเราจนดูราวกับเนื้อสีนูนออกมาจริงๆ

Old Green (2018), สีน้ำมันบนผ้าลินิน

ซึ่งลักษณะที่ว่านี้ ดูๆ ไปก็คล้ายกับเป็นอุปมาถึงมายาคติเกี่ยวกับความจริงในสังคมไทย ว่าความเชื่อที่คุณยึดถือกันมา

เมื่อเข้าไปสำรวจดูใกล้ๆ ความเป็นจริงอาจจะไม่เป็นอย่างที่คุณคิดเอาไว้ตั้งแต่แรกก็เป็นได้

นอกจากนี้ ยังมีงานประติมากรรมเชิงทดลอง Durian and Pizza ที่วางล้อเรียงเคียงกับภาพวาด Durian and Pizza ที่เป็นภาพทุเรียนวางทับอยู่บนพิซซ่าอยู่ในกรอบหลุยส์ที่วาดเลียนแบบของจริง

Durian and Pizza (2016), สีน้ำมันบนผ้าลินิน

ที่น่าสนุกก็คือ เจ้าประติมากรรมที่ว่านี้เป็นทุเรียนและพิซซ่าของจริง กินได้จริงๆ ที่วางอยู่บนแท่น และมีฝาอะครีลิกใสครอบเอาไว้เพื่อกันกลิ่น โดยศิลปินตั้งใจว่าจะปล่อยทิ้งเอาไว้แบบนี้จนจบนิทรรศการ เพื่อดูปฏิกิริยาว่ามันจะเป็นยังไงในวันสุดท้ายของการแสดง

ยิ่งไปกว่านั้น บัตรเชิญของงานก็ยังทำออกมาเป็นรูปพิซซ่า (ซึ่งคอการเมืองบ้านเราน่าจะพอตีความออกว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของอะไร)

และในวันเปิดงานก็มีการแจกพิซซ่าให้กินกันจริงๆ อีกด้วย โดยเป็นพิซซ่าหน้าฮาวายเอี้ยน (ซึ่งศิลปินกล่าวว่ามีสับปะรดกับแฮมที่มีสีแดงกับสีเหลืองอยู่ด้วยกัน) ที่ศิลปินสั่งจากร้านพิซซ่าเดลิเวอรี่ (ที่คุณคงรู้ว่าร้านไหน) ในโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 จำนวน 14 ถาด (คำนวณกันเอาเองก็แล้วกันว่าได้กี่ชิ้น)

และเสิร์ฟพร้อมข้าวผัด, โอเลี้ยง, แตงโม, มะเขือเทศ, ฟักทอง และซ่าหริ่มน้ำกะทิ มากันพร้อมหน้าพร้อมตาบนโต๊ะที่ตั้งกลางหอศิลป์เป็นงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่ง

Durian and Pizza (2018), ประติมากรรมเชิงทดลอง จากทุเรียนและพิซซ่าของจริง

นอกจากนั้น วิทวัสยังร่วมกับหอศิลป์ทำเสื้อยืดเฉพาะกิจจำนวน 112 ตัวที่เขาออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อจำหน่ายในราคาตัวละ 211 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบเงินรายได้สมทบเข้ากองทุนช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองอีกด้วย

กับคำถามที่ว่า ศิลปินควรข้องแวะกับการเมืองหรือไม่ วิทวัสกล่าวว่า

“การเมืองอยู่รอบตัวเรา ทุกความสัมพันธ์ล้วนเป็นการต่อรองทางการเมืองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะระดับภายในบ้านไปจนถึงการต่อรองกับรัฐ ศิลปินแค่นำเสนอความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าทุกการกระทำย่อมกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกบันทึกลงไปในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่มายาคติฝังรากทำงานอย่างลึกซึ้ง ศิลปินผู้สร้างสรรค์ยิ่งควรต้องตั้งคำถามได้อย่างแหลมคมยิ่งกว่ายุคสมัยใด”

นิทรรศการ PRELUDE จัดแสดงที่ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ (Subhashok The Arts Centre – S.A.C.) ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2018

Spectrum (2018), สีน้ำมันบนผ้าลินิน

ในระหว่างนิทรรศการจะมีกิจกรรมเสวนา “หนทางอันหลากหลายในการดำเนินไปของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย” โดย รศ.ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ, ดร.สิทธิธรรม โรหิตะสุข, พิชญา ศุภวานิช, ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ และชล เจนประภาพันธ์ (ผู้ดำเนินรายการ) ในวันที่ 21 มิถุนายน 2018 เวลา 14.00 – 16.00 น. ที่ห้องแสดงนิทรรศการชั้น 1

ใครสนใจก็สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2662-0299 อีเมล [email protected] และเฟซบุ๊ก @sacbangkok

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากหอศิลป์ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์