จิตต์สุภา ฉิน : เครื่องสร้างโลกเสมือน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

จู่ๆ ซู่ชิงก็เกิดนึกขึ้นมาว่ามีสิ่งประดิษฐ์หลายชิ้นที่ถือกำเนิดขึ้นมาแล้วในโลกใบนี้โดยที่มีความคิดพื้นฐานหรือฟังก์ชั่นการทำงานคล้ายคลึงกับพล็อตการ์ตูนโดราเอมอนที่เราคุ้นเคยกันในวัยเด็ก

ไม่ว่าจะเป็นวุ้นแปลภาษาที่ช่วยให้แปลภาษาได้ทันใจโดยไม่ต้องพากเพียรเรียนภาษากันจนหัวหมุน

ซึ่งมีความใกล้เคียงกับกูเกิลแปลภาษา

กล้องย้อนเวลาที่ช่วยให้โนบิตะและโดราเอมอนหากระเป๋าสตางค์ของพ่อที่หายไป

ซึ่งจะว่าไปก็น่าจะใกล้เคียงกับกล้องวงจรปิดที่เราติดตั้งกันทุกหัวระแหง

ไปจนถึงยูเอฟโอบังคับ ที่น่าจะไม่แตกต่างจากโดรนในปัจจุบันสักเท่าไหร่

แต่นึกยังไงก็นึกไม่ออกว่าในการ์ตูนเรื่องนี้ ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ ผู้เขียนโดราเอมอน เคยได้จินตนาการถึงของวิเศษที่ใช้คอนเซ็ปต์เดียวกับเทคโนโลยีเออาร์ หรือ Augmented Reality ที่เอาโลกเสมือนมาซ้อนเข้ากับโลกจริงหรือเปล่า

แน่นอนว่าจากการ์ตูนเป็นร้อยเป็นพันตอนที่เขาวาดมาทั้งหมด มันต้องมีสักชิ้นแหละน่าที่เข้าข่ายใกล้เคียงเออาร์ที่เราใช้กันในปัจจุบัน

จากนั้นก็นึกต่อไปเพลินๆ ว่า ถ้าโดราเอมอนหยิบแว่นตาเออาร์จากกระเป๋าวิเศษออกมาให้โนบิตะ โนบิตะน่าจะกลายเป็นคนที่มีความสามารถรอบด้านขึ้นมาทันตาเห็น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแว่นเออาร์จะช่วยให้เขาสามารถทำข้อสอบได้คะแนนดีขึ้น และทักษะต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่โนบิตะขาด

แว่นเออาร์ก็จะช่วยสร้างภาพเสมือนขึ้นมาลอยเด่นอยู่ตรงหน้าให้โนบิตะทำตามได้ง่ายและคล่องแคล่วราวกับเขาฝึกฝนทักษะเหล่านั้นมาจนชำนาญ

 

ข้อดีของเทคโนโลยีเออาร์ที่มีเหนือเทคโนโลยีวีอาร์คือความสามารถในการดำรงชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงโดยไม่ต้องตัดขาดสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัวเหมือนกับการใช้วีอาร์ที่ต้องสวมอุปกรณ์ปิดคลุมการมองเห็นไปเลยทั้งหมด เออาร์สามารถสร้างโลกทั้งใบขึ้นมาซ้อนทับโลกจริงไว้และทำให้โลกจริงของเรารอบด้านกว่าเดิมได้

ยกตัวอย่างสถานการณ์ในชีวิตประจำวันกันดูนะคะ เวลาที่เรานำรถที่เสียไปเข้าอู่ ช่างที่ประจำอยู่ตามอู่ต่างๆ ก็จะเป็นช่างที่ผ่านการฝึกฝนเรียนรู้เทคนิคการซ่อมรถยนต์และผ่านการซ่อมรถยนต์มาแล้วหลากหลายรูปแบบ

แต่ในบางครั้งช่างเหล่านั้นก็จะเจอกับปัญหาที่สลับซับซ้อนกว่าปกติ จนอาจจะต้องเกาหัวแกรกๆ เพราะไม่แน่ใจว่าจะซ่อมยังไงดี

โดยปกติแล้วช่างเหล่านี้ก็จะต้องหันไปขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญที่ประจำสำนักงานใหญ่ หรืออาจจะต้องติดต่อบริษัทแม่ในต่างประเทศเพื่อขอคำแนะนำ

ปัญหาที่อาจจะตามมาคือการทุลักทุเลในการสื่อสารให้เข้าใจตรงกันเนื่องจากไม่ได้อยู่หน้างานด้วยกัน

ล่าสุด ปอร์เช่กำลังทดสอบระบบเออาร์ที่จะช่วยให้กระบวนการนี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยระบบที่ชื่อว่า เทก ไลฟ์ ลุคนี้ จะเป็นการวิดีโอคอลล์ระหว่างช่างจากตัวแทนศูนย์ซ่อมและผู้เชี่ยวชาญที่ประจำอยู่ที่สำนักงานของปอร์เช่ในแอตแลนต้า โดยทำผ่านแว่นที่ติดตั้งกล้องระดับเอชดี และจอแสดงภาพเอาไว้ คล้ายๆ กับกูเกิล กลาส ผสมกับเพาเวอร์พอยต์อะไรทำนองนั้น

ประโยชน์ของระบบนี้คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่ช่างประจำศูนย์ซ่อมต้องการความช่วยเหลือ ก็จะสวมแว่นดังกล่าวและวิดีโอคอลล์ไปหาผู้เชี่ยวชาญที่แอตแลนต้า

ผู้เชี่ยวชาญที่แอตแลนต้าจะมองเห็นทุกอย่างที่ช่างมองเห็นผ่านทางกล้องที่ติดตั้งอยู่ในแว่น ช่างทั้งสองคนจะสามารถมองเห็นสิ่งเดียวกันไปพร้อมๆ กันได้

จากนั้นผู้เชี่ยวชาญก็จะใช้ภาพที่เห็นมาวิเคราะห์ว่าอาการที่เกิดขึ้นน่าจะแก้ไขยังไงบ้าง จดโน้ตเป็นขั้นๆ ส่งกลับไปให้ช่างที่อยู่หน้างานเพื่อให้ซ้อนเป็นภาพทับลงไปบนเลนส์ของแว่นราวกับทั้งสองคนกำลังซ่อมรถคันนี้ไปพร้อมๆ กัน

เทคโนโลยีช่วยลดกระบวนการยุ่งยากของการต้องโทรศัพท์ ถ่ายภาพ ส่งอีเมลไปกลับหลายต่อหลายครั้งกว่าจะวินิจฉัยและแก้ปัญหากันได้สำเร็จ

ยิ่งปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนสูงก็ยิ่งต้องโทร.คุยกับส่งอีเมลไปกลับกันไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ ลูกค้าก็รอไปไม่ได้รถคืนมาใช้งานสักที

แต่ถ้าหากใช้ระบบนี้มาช่วย ปอร์เช่คาดประมาณว่าจะลดเวลาการซ่อมรถไปได้มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

 

เออาร์กำลังถูกนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม แม้จะนำไปใช้ในหลากหลายรูปแบบแต่จุดประสงค์หลักมักจะเป็นการทำให้คนที่มีอยู่ “เก่ง” ขึ้นกว่าเดิมโดยไม่ต้องเสียต้นทุนการฝึกฝนเพิ่ม

อย่างเช่น การที่บริษัทดีเอชแอลใช้แว่นตาแบบเดียวกันนี้ในการช่วยให้พนักงานหยิบของในโกดังอันกว้างใหญ่ตามที่ลูกค้าสั่งได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วทั้งที่อาจจะเป็นพนักงานใหม่ ไม่ชินกับโครงสร้างของโกดังมาก่อน ด้วยการซ้อนภาพเสมือนเข้าไปเพื่อนำทางไปยังชั้นวางของที่ต้องการ แม้กระทั่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็กำลังสนุกสนานไปกับการใช้เออาร์มาเพิ่มอรรถรสในการเที่ยว

อย่างเช่น การจำลองภาพสิ่งก่อสร้างที่ตอนนี้เป็นซากปรักหักพังหรือสูญสลายไปแล้วให้กลับมาตั้งตระหง่านตรงหน้านักท่องเที่ยวได้เพียงแค่ยกสมาร์ตโฟนขึ้นมาส่องเท่านั้น

หรือจะเป็นเออาร์ที่ใกล้มือยิ่งกว่านั้นอีกก็มีนะคะ ซู่ชิงเพิ่งจะรีวิวไอแพดรุ่นใหม่หน้าจอ 9.7 นิ้ว ที่รองรับปากกา Pencil ของแอปเปิ้ล (ซึ่งสามารถเข้าไปดูคลิปได้ในเพจเฟซบุ๊กของซู่ชิงค่ะ) ความน่าสนใจของรุ่นนี้คือการที่รองรับ Pencil ทำให้เราสามารถขีดๆ เขียนๆ ได้ตามใจชอบ ในราคาไอแพดที่ประหยัดกว่ารุ่นก่อน ขณะที่ชิพที่ใช้ในรุ่นนี้ช่วยให้ใช้งานเทคโนโลยีเออาร์ได้ลื่นไหล

มีแอพพลิเคชั่นจำนวนมากบน App Store ที่ใช้เทคโนโลยีเออาร์มาช่วยในการเรียนรู้ ที่ซู่ชิงลองใช้แล้วชอบก็อย่างเช่น SolarKit ที่ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้เกี่ยวกับระบบสุริยจักรวาลได้ด้วยการยกสุริยจักรวาลทั้งยวงมาวางไว้ตรงหน้า

ใครสนใจเกี่ยวกับศิลปะ แอพพลิเคชั่น Boulevard AR นำภาพเขียนที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดภาพหนึ่ง อย่าง Portrait of Sir Henry Unton มาให้เราส่องผ่านหน้าจอไอแพดชนิดที่ยิ่งเดินเข้าไปใกล้ก็ยิ่งเห็นรายละเอียดชัดเสียยิ่งกว่าไปดูของจริงในแกลเลอรี่เสียอีก แถมมีเสียงบรรยายให้ฟังอยู่เรื่อยๆ ด้วย

และอีกแอพพ์ที่เล่นแล้วสนุกมากคือ Froggipedia ที่จะมาแทนที่การเรียนรู้สรีระกบแบบเดิม

เมื่อใช้แอพพ์นี้ แค่ส่องไอแพดไปบนโต๊ะก็จะได้เห็นกบในระยะประชั้นชิด จำลองการเจริญเติบโตตั้งแต่เป็นลูกอ๊อดไปจนถึงกลายเป็นกบที่โตเต็มวัย เปลี่ยนโหมดเป็นโหมดผ่า ขึงพืดกบลงกับถาด แล้วเราก็ใช้ Pencil แทนมีดผ่าตัด ค่อยๆ ผ่าท้องกบออกช้าๆ แยกอวัยวะภายในออกมาเรียนรู้ทีละอย่างๆ เรียนรู้ได้เหมือนจริงเท่าเดิม (หรืออาจจะมากกว่าเดิมเพราะมีรายละเอียดกำกับให้ทุกขั้นตอน) โดยที่ไม่ต้องสะอิดสะเอียนหรือใจสั่นไปกับการกรีดมีดลงไปบนผิวกบจริงๆ

นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างสองสามแอพพ์เท่านั้นนะคะ แต่จริงๆ แล้วเราสามารถเรียนรู้ได้ไม่จำกัดหมวดหมู่ด้วยการใช้เทคโนโลยีเออาร์

ดีกว่าการนั่งดูวิดีโอหรือภาพนิ่งตรงที่ทุกอย่างถูกสร้างมาเป็นสามมิติให้เราเห็นราวกับมันอยู่ตรงหน้าเราจริงๆ

จะเดินเข้าใกล้ก็ได้ ถอยห่างก็ได้ ให้ความรู้สึกสมจริงกว่าการเรียนแบบสองมิติเยอะ

 

นี่ไงคะ ซู่ชิงก็เลยคิดว่า ถ้าหากโดราเอมอนหยิบแว่นเออาร์ออกมาให้โนบิตะเสียตั้งแต่เอพิโสดแรกๆ ก็น่าจะจบไปนานแล้ว ไม่ว่าจะวิชาไหนๆ โนบิตะก็จะเรียนรู้ได้สมจริงกว่าเพื่อนคนอื่นๆ ในชั้นเรียน หลบหลีกเส้นทางการเดินของไจแอนต์ที่กำลังเดือดปุดๆ พร้อมเขวี้ยงหมัดตั๊นหน้าคนแรกที่เห็น หรือจีบชิซูกะติดตั้งแต่เด็กๆ เพราะมีโดราเอมอนในรูปแบบโลกเสมือนฉายอยู่บนแว่นคอยบอกโนบิตะตลอดเวลาว่าจะต้องสร้างความประทับใจยังไงบ้าง

หรือนี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งตอนจบของการ์ตูนเรื่องนี้ก็ได้นะคะ ว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นไม่ใช่โนบิตะฝันไป แต่โดราเอมอนเป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกสร้างขึ้นให้เป็นโลกเสมือนคู่ขนานไปกับโลกจริงของโนบิตะที่โนบิตะมองเห็นได้ตลอดเวลาผ่านแว่นเออาร์ที่สวมอยู่

จบแบบนี้น่าใจหายน้อยกว่าโดราเอมอนลากลับโลกอนาคตเยอะเลย จริงไหมคะ