ฐากูร บุนปาน : คำว่าเ_ี้ย และ Sex Toy

มีดราม่าเล็กๆ เกิดขึ้นสองเรื่องเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงต้นสัปดาห์นี้

เอากรณีแรกก่อน

เรื่องเริ่มจากมีท่านผู้หวังดีร้องเรียนไปถึง กสทช. ว่า

ละครตลกเรื่องหนึ่งซึ่งอยู่ในระดับที่จัดว่าคนดูได้ทุกเพศทุกวัย

ใช้คำว่า “เหี้ย” เป็นฝูง ยังไม่นับสรรพนามแบบพ่อขุนอีกนับสิบ

รองเลขาธิการ กสทช. ท่านก็ตอบว่า

อันที่จริง ถ้าเหี้ยออกมาเพ่นพ่านไม่มาก ไม่ใช่ประเด็นหลักของเรื่อง ก็ให้ใช้ได้

เท่านั้นละครับ ผู้พิทักษ์คุณธรรมผุดขึ้นเต็มสังคมไทย

ยกประเด็นเรื่องคำว่าเหี้ยควรจะออกจอได้ เหมาะสมหรือไม่ จะทำอันตรายกับเยาวชนหรือไม่ ออกไป

ขอข้ามไปที่สองประเด็นที่เป็นความสนใจส่วนตัว

ประเด็นแรก เหี้ยจะออกจอได้หรือไม่ เอาให้ชัดๆ นะครับ

ถ้าได้ก็ต้องได้ด้วยกันทุกช่องทุกรายการ

ไม่ใช่บางช่อง บางคนใช้ได้ ใช้แล้วผู้คุมกฎทั้งหลายตาปริบๆ เพราะคนใช้ “เส้นใหญ่” อีกฝ่ายหนึ่งแค่คิดจะใช้ก็ผิดแล้ว

สองมาตรฐานที่ทำสังคมไทยไหลลงเหวนี่

วรนุชเสียยิ่งกว่าพูดหรือไม่พูดว่าเหี้ยออกจอทีวีนะครับ

ประเด็นต่อมา ทำไม กสทช. ถึงมีอำนาจจะมากำหนดว่า อะไรพูดได้หรืออะไรพูดไม่ได้ในสังคมนี้

คือทำไม กสทช. ถึงมีอำนาจ “เซ็นเซอร์”

อำนาจหน้าที่ของ กสทช. แค่การบริหารคลื่นความถี่ ไม่ว่าจะโทรคมนาคม-การสื่อสารก็ลำบากหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว

ยังจะมารับงานวางมาตรฐาน “คุณธรรม” ของสังคมไทย (แบบที่หน่วยงานรัฐทั้งหลายชอบทำกันนัก) อีก

ไม่เหนื่อยไปหน่อยหรือ

ควรจะมีการทบทวนหลักการนี้หรือไม่

อันที่จริงสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยชอบให้รัฐเข้ามา “ตีกรอบ” ความคิด การพูดจา

น่าจะไชโยโห่ร้องสนับสนุนหลักการของท่านรองเลขาธิการ กสทช. เสียด้วยซ้ำไป

คือรัฐไม่เข้ามายุ่งกับการแสดงออก หรือคุณธรรมของชาวบ้าน

ดีกว่านั้นคือส่งเสริมให้ชาวบ้านเข้ามาจัดการควบคุมกันเอง

ไม่ว่าจะด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ หรือการมีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบ-กติกา-กฎหมาย ให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

ไม่ใช่งุบงิบริบอำนาจที่เป็นของคนส่วนใหญ่ไปเล่นสนุกกันเองในมือคนส่วนน้อยอย่างที่เป็นอยู่นี้

ยุคของคุณพ่อรู้ดี ไม่ว่า กสทช. หรืออะไรที่มีตัวย่อคล้ายๆ กัน

ควรจะหมดไปหรือยัง?

เรื่องต่อมา ก็ดราม่าไม่แพ้กัน

เมื่อผู้บริหารหน่วยงานด้านวัฒนธรรมหน่วยหนึ่ง ท่านแสดงความเห็นว่าสังคมไทยควรจะทำให้ Sex Toy ถูกกฎหมายหรือไม่ว่า

“วัฒนธรรมไทยยังเป็นเรื่องสงวน ยังต้องปกปิดการที่จะมีอารมณ์ทางเพศ

ถึงแม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ เราก็สามารถยับยั้งชั่งใจได้ ไม่หมกมุ่น

โดยการทำกิจกรรมอื่น เช่น การนั่งสมาธิ เล่นกีฬา”

เท่านั้นเอง โลกโซเชียลก็เดือดเป็นไฟ

ความเห็นส่วนใหญ่จะเอนเอียงไปทางไหนเห็นจะไม่ต้องบอก

ดุเด็ดเผ็ดมันขนาดไหนขอให้ลองไปเปิดเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออื่นๆ ดูเอาเอง

ขออนุญาตข้ามประเด็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไปแบบเดียวกันกับเรื่องข้างต้น

เพราะประเด็นที่สนใจเป็นส่วนตัวยังคงเป็นเรื่องเดียวกัน

คือทัศนคติของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ

ซึ่งยังคงความเป็นคุณพ่อ (คุณแม่) รู้ดีอย่างไม่เสื่อมคลาย

ไม่ว่าจะเป็นระดับไหน

จากลูกชาวบ้านด้วยกัน พอเข้าไปเป็นผู้ถือกฎหมาย มีอำนาจตามกฎหมายอยู่ในมือ

คราวนี้ทัศนคติของท่านคือความถูกต้อง

ทัศนะชาวบ้านไม่ควรแก่การรับฟัง

รัฐที่รู้ตัวทั้งหลายจึงพยายามลดบทบาทตัวเองลง

ให้เล็ก ให้มีอำนาจควบคุมน้อยลง

ในขณะที่รัฐในประเทศด้อยพัฒนาอีกหลายแห่ง นอกจากไม่รู้ตัวแล้ว ยังพยายาม “เบ่ง” หรือขยายหนวดปลาหมึกของตัวเองออกไปยุ่มย่ามยิ่งขึ้น

คล้ายๆ อะไรที่เกิดขึ้นแถวๆ นี้

ขออนุญาตฝากการบ้านพรรคการเมืองทั้งหลายเอาไว้ด้วยอีกข้อหนึ่งครับ

มีใครไหมที่เข้ามาได้อำนาจแล้วพร้อมจะลดอำนาจตัวเอง (หรืออีกนัยหนึ่งคืออำนาจรัฐ) ลง

ถ้ามีรับไปเลยครับ-หนึ่งคะแนน

ฮา