อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : สงครามการค้ารอบใหม่

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

“…มันไม่เป็นเหตุเป็นผลเลยที่สหรัฐอเมริกาหยิบการต่อสู้กับประเทศต่างๆ ซึ่งได้เป็นพันธมิตรที่ดีที่สุดและเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงมามากกว่า 70 ปี…”

Rufus Vexa ประธาน the National Foreign Trade Council ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทต่างๆ ที่สนับสนุนกติการะบบเศรษฐกิจโลก

 

ข่าวร้าย


สหภาพยุโรป แคนาดา และเม็กซิโกล้วนได้รับผลกระทบหลังจากทางการสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการทางภาษี อันมีผลให้พันธมิตรของสหรัฐอเมริกาถูกขึ้นภาษีเหล็ก 25% และภาษีอะลูมิเนียม 10% ต่อสหภาพยุโรป แคนาดา และเม็กซิโก โดยทางการสหรัฐอเมริกาอ้างเหตุผลเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในและความมั่นคงของชาติ

นี่เป็นข่าวร้ายสำหรับทุกคน รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย ทั้งนี้ ด้านความมั่นคง การใช้มาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริกากระทบต่อกลุ่มพันธมิตรใน trans-Atlantic Alliance (1) ส่วนในระยะยาว

ทางการสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญหน้าต่อการฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก (World Trade Organization-WTO) ซึ่งมีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศทำหน้าที่นี้ด้วย

ทั้งผู้นำชาติต่างๆ ในสหภาพยุโรป ประธานาธิบดีจัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา ประธานาธิบดีแห่งเม็กซิโกต่างตอบโต้สหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่

ประธานาธิบดีจัสติน ทรูโด แห่งแคนาดาถึงกับ “อึ้ง” กับเหตุผลด้านความมั่นคงที่ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอ้าง

ทั้งๆ ที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาเคยสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาทั้งในสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามอัฟกานิสถานและสงครามที่อื่นๆ (2)

สหภาพยุโรปเตรียมเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าอเมริกันหลักๆ เช่น เหล้าเบอร์เบิน (Bourbon) รถจักรยานยนต์ฮาร์เล่ย์-เดวิดสัน และกางเกงยีนส์ มูลค่า 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ3

 

ข่าวร้ายที่ไม่ใหม่สำหรับไทย

การกดดันทางการค้าจนถึงขั้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย โดยเฉพาะการกดดันให้ไทยนำเข้าสินค้าสหรัฐไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับไทย การอ้างสิทธิพิเศษทางการค้า (Generalized system preferences-GSP) จากทางการสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อรองแลกเปลี่ยนการนำสินค้าอเมริกันเข้าไทยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐ (United States Trade Representative-USTR) อ้างว่าได้รับคำร้องจากสภาผู้ผลิตสุกรแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาที่ขอให้พิจารณาทบทวนการตัดสิทธิ GSP ไทย

เนื่องจากไทยไม่เข้าข่ายคุณสมบัติประเทศผู้ได้รับสิทธิการเปิดตลาดสินค้าให้แก่สหรัฐอเมริกาอย่างเป็นธรรมและสมเหตุสมผล

 

ผล

จากแรงกดดันอันนี้ ผลกระทบไม่ได้จำกัดวงแค่คนเลี้ยงหมู นครปฐม ราชบุรี หรือกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั้งเกษตรกรฟาร์มเล็ก ฟาร์มใหญ่กว่า 1.95 แสนราย ที่เลี้ยงหมูมาขายและส่งออก 20 ล้านตัวต่อปีเท่านั้น

แต่ยังกระเทือนไปถึงธุรกิจอาหารสัตว์และพืชผลทางการเกษตรของไทยที่เป็นห่วงโซ่อาหารด้วย (4)

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับเรื่องเนื้อสุกร เดือนกันยายน 2560 นายวิลเบอร์ รอสส์ (Wilbur Ross) รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐอเมริกาเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเจรจาเปิดตลาดเนื้อสุกร แลกกับการปรับอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยให้ดีขึ้น และปลดธงแดงด้านการบินให้ทางการไทย

นี่แสดงให้เห็นว่า ทางการสหรัฐปกป้องเกษตรกรในประเทศเขาอย่างเต็มที่ จึงยกเอา GSP มาขู่ไทยเพื่อแลกกับการให้ไทยยอมนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐ แต่ทางการสหรัฐกลับไม่ยอมให้เนื้อหมูและเนื้อไก่ของไทยเข้าไปทำตลาดของประเทศเขาได้

เดือนถัดมา กลิน เดวิส เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำไทยเดินทางเข้าพบรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์อีก ตอนนั้นรองฯ สมคิดเปิดเผยว่าสหรัฐอเมริกาขอให้ทางการไทยเร่งพิจารณานำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ แต่ได้ยืนยันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพบว่าเนื้อหมูของสหรัฐมีสารเร่งเนื้อแดง ทำให้มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายของไทย

จนทำให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อศึกษาเรื่องการนำหมูเข้าจากสหรัฐ (5)

ช่างเป็นเรื่องตลกร้ายจริงๆ เพื่อนชาวอังกฤษเพิ่งมาคุยกับผมว่าเขาได้ไปชมนิทรรศการฉลอง 200 ปีไทย-สหรัฐอเมริกามา ผมจึงอธิบายการอ้าง GSP แลกกับการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐเข้าไทยให้เขาฟัง

นี่หรือคือสิ่งที่เขาทำกับมหามิตรของเขานานกว่า 200 ปี คือไทย

นี่คือมหามิตรของไทย

——————————————————————————————————–

(1) Andrew Mayeda and Jenny Leonard, “Trump”s Tariff Assault Risks Side wiping His Strongest Allies” Bloomberg 1 June 2018

(2) สหภาพยุโรปจ่อเรียกเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐ 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ, MGR Online 2 มิถุนายน 2561

(3) เพิ่งอ้าง

(4) คุณนายเผือก “เรื่อง(ไม่หมู!) มะริกันอันตราย” ฐานเศรษฐกิจ 3-6 มิถุนายน 2561.

(5) เพิ่งอ้าง