กรองกระแส / กลยุทธ์ 2 พรรค ต่อยอดอำนาจให้ คสช. พลัง ประสานพลัง

กรองกระแส

 

กลยุทธ์ 2 พรรค

ต่อยอดอำนาจให้ คสช.

พลัง ประสานพลัง

 

เด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่า สิ่งที่เรียกว่า “พรรค คสช.” ในทางเป็นจริงจะมีเพียง 2 พรรคเท่านั้น กล่าวคือ 1 พรรคพลังประชารัฐ และ 1 พรรครวมพลังประชาชาติไทย

แม้จะมีชื่อพรรคประชาชนปฏิรูปตั้งแต่หลังสถานการณ์เดือนสิงหาคม 2559

แม้เมื่อมีการจดแจ้งชื่อจะมีการจัดตั้งพรรคทางเลือกใหม่ พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ ก็ตาม

แต่มีความเป็นไปได้ว่า ไม่ว่าพรรคประชาชนปฏิรูป ไม่ว่าพรรคทางเลือกใหม่ ไม่ว่าพรรคพลังชาติไทย ไม่ว่าพรรคพลังธรรมใหม่ จะถูกจัดให้อยู่ระยะที่ห่างออกไป ขณะที่ความมั่นใจจะอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ กับพรรครวมพลังประชาชาติไทยมากกว่า

นี่คือสถานการณ์ในเดือนมิถุนายน 2561

เพราะว่าพรรคพลังประชารัฐได้รับมอบหมายให้ชูนโยบายประชารัฐ โครงการไทยนิยมยั่งยืนโดยตรง

เพราะว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทยคือเงาสะท้อนของ “กปปส.” กับ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” อันเท่ากับเป็นการรวบรวมความจัดเจนจากก่อนรัฐประหาร 2549 กับความจัดเจนก่อนรัฐประหาร 2557 เข้าด้วยกัน

 

บทบาท การดูด

พรรคพลังประชารัฐ

 

หากไม่มีความมั่นใจ พรรคพลังประชารัฐคงไม่ใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นกองบัญชาการใหญ่ในการดูดและสำแดงพลัง

เห็นได้จากกรณีนายสกลธี ภัททิยกุล

เห็นได้จากกรณีนายสนธยา คุณปลื้ม นายอิทธิพล คุณปลื้ม และตามมาด้วยการอาสาของซุ้มสุโขทัย ซุ้มฉะเชิงเทรา ในการดูดอดีต ส.ส. เข้ามา ตามรายงานล่าสุดเฉพาะที่เป็นบทบาทของซุ้มสุโขทัยก็มีไม่ต่ำกว่า 60

พลังดูดที่พรรคพลังประชารัฐสำแดงออกสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจและเงินทุนมหาศาล

เพราะการดูดย่อมสัมพันธ์กับเงิน สัมพันธ์กับผลประโยชน์

บทบาทด้านหลักของพรรคพลังประชารัฐก็คือ การแปรความสำเร็จจากแนวทางประชารัฐ แนวทางไทยนิยม ให้บังเกิดพลัง บังเกิดความยั่งยืน โดยมีอดีต ส.ส.เป็นตัวขับเคลื่อน ใช้ความจัดเจนจากพรรคสหประชาไทย พรรคสามัคคีธรรมมาเป็นเส้นเลือดสำคัญ

นี่คือการจัดวางอันสร้างความแตกต่างระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย

 

ขึ้นต้น ลำไม้ไผ่

กลายเป็นบ้องกัญชา

 

การผนึกตัวรวมพลังของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เข้ากับนายประสาร มฤคพิทักษ์ นายสุริยะใส กตะศิลา เหมือนกับอาศัยความจัดเจนของพรรคมหาชนเข้ากับพรรคการเมืองใหม่ โดยมีพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยเป็นตัวเชื่อม

ประกาศเจตจำนงเป็นพรรคของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

ขณะเดียวกัน พลันที่พรรครวมพลังประชาชาติไทยประสานเข้ากับอำนาจและบารมีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทำให้เห็นการผนวกตัวรวมพลังจากบทเรียนก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 กับรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 เข้าด้วยกัน

กระนั้นเมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ยอมเล่นบท “เบื้องหลัง” อย่างที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ โดยถึงกับออกมาหลั่งน้ำตาประกาศเป็น “โซ่ข้อกลาง” ให้กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ความพยายามที่จะขับเคลื่อนพรรคการเมืองใหม่เพื่อสร้างจุดขายให้แตกต่างไปจาก “พรรค คสช.” อื่นๆ ก็เริ่มแปรเปลี่ยนและเข้าไปอยู่ในปลักเดียวกันกับพรรคพลังประชารัฐโดยอัตโนมัติ

อำนาจนำภายในพรรคจึงไม่ใช่เป็นของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ หากแต่เป็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มากกว่า

นี่คือสิ่งที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ มิได้คาดหมายมาก่อน

 

การเมือง น้ำเน่า

การเมือง แสนเก่า

 

การเกิดขึ้นของ “พรรค คสช.” ผ่านพรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย จึงเท่ากับเป็นการฟื้นอดีตของพรรคสามัคคีธรรมขึ้นมาเป็นฐานในทางการเมือง สร้างความมั่นใจให้ คสช. ในการสืบทอดอำนาจ

นอกเหนือจากกฎกติกาอันกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

นอกเหนือจากรากฐานทางการเมืองที่สะสมเอาไว้ผ่านกองทัพ ผ่านระบบราชการ นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

จึงเห็นคำประกาศรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อย่างเหนียวแน่นและมั่นคง

จึงเห็นคำขานรับอันมาจาก คสช. ไม่ว่าจะโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้วยความอบอุ่นเป็นอย่างสูงเท่ากับวางน้ำหนักให้กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อีกครั้งหนึ่ง

หลังจากที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ สร้างผลงานในการปูทางและสร้างเงื่อนไขผ่าน กปปส. กระทั่งนำไปสู่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ในที่สุด