ชีวิตคนพิการในเมืองกรุง : ปัญหาและแนวโน้มที่ดี

คุณเคยโบกรถแท็กซี่แล้วถูกปฏิเสธไหม?

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามทั้งส่งรถ เติมแก๊ส รถติด คุณคงจะรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจกับการเป็นคนที่ถูกปฏิเสธและไม่เป็นที่ยอมรับใช่ไหม?

แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเศษเสี้ยวหนึ่งที่ “คนพิการ” ต้องพบเจอเมื่อใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมของ “คนปกติ”

คนพิการ หมายถึงบุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางร่างกาย ทางสติปัญญา หรือทางจิตใจ

แต่ใช่ว่าพวกเขาจะไม่สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมหรือไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมเฉกเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ระบุถึง “สิทธิคนพิการ” ไว้ดังนี้

1) การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

2) การศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติหรือแผนการศึกษาแห่งชาติตามความเหมาะสม

3) การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ การให้บริการที่มีมาตรฐาน การคุ้มครองแรงงาน มาตรการเพื่อการมีงานทํา

4) การยอมรับและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป

5) การช่วยเหลือให้เข้าถึงนโยบาย แผนงาน โครงการ กิจกรรม การพัฒนาและบริการอันเป็นสาธารณะ ผลิตภัณฑ์ที่มีความจําเป็นต่อการดํารงชีวิต

6) ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและเทคโนโลยีสิ่งอํานวยความสะดวกเพื่อการสื่อสารสําหรับคนพิการทุกประเภท

7) บริการล่ามภาษามือตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด

8) การจัดสวัสดิการเบี้ยความพิการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนดในระเบียบ

9) การจัดสวัสดิการเบี้ยความพิการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีกรที่คณะกรรมการกำหนดในระเบียบ

10) การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การมีผู้ช่วยคนพิการ หรือการจัดให้มีสวัสดิการอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนดในระเบียบผู้ช่วยคนพิการ

นอกจากสิทธิเบื้องต้นที่คนพิการพึงได้รับตามที่ระบุไว้ข้างต้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของคนพิการ จึงมีกฎกระทรวงที่กำหนดให้อาคารสถานที่และบริการขนส่งสาธารณะ ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพและคนชรา

เช่น ทางลาดและลิฟต์ บันไดพร้อมราวจับ ที่จอดรถ ทางเดิน ประตู ห้องน้ำ ห้องพักสำหรับคนพิการ พื้นผิวสัมผัสสำหรับคนพิการทางการมองเห็น และสัญลักษณ์รูปคนพิการ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านน่าจะมีประสบการณ์ขับรถวนหาที่จอดภายในห้างสรรพสินค้าต่างๆ แต่แล้วสายตาก็ไปสะดุดกับช่องจอดรถสำหรับคนพิการ ซึ่งผู้ที่นำรถมาจอดในช่องดังกล่าวมักไม่ใช่คนพิการอยู่เสมอ หากเป็นคนปกติร่างกายครบ 32 ซึ่งไม่สามารถหาที่จอดรถในช่องปกติได้

ไม่ใช่แค่เรื่องที่จอดรถเท่านั้น สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการหรือคนชราในบ้านเรายังไม่เพียงพอ และที่มีอยู่ก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าสมบูรณ์เต็มประสิทธิภาพ 100 เปอร์เซ็นต์

เช่น ทางลาดสำหรับรถเข็นคนพิการในอาคารบางแห่ง ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อให้ “มี” ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

ความเหลื่อมล้ำทางสังคม กรณีคนพิการ เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยของเรามาเนิ่นนาน นับวันปัญหานี้จะยิ่งขยายตัวมากขึ้น อาจเพราะการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด การไม่ให้ความสำคัญกับคนพิการและผู้สูงอายุมากเท่าที่ควร หรือคนไทยยังขาดจิตสำนึกในเรื่องความเท่าเทียมกันทางสังคม

ผู้เขียนขอแบ่งปันประสบการณ์และสิ่งที่ได้เห็นเมื่อครั้งเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ใช่เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบ เพียงแต่ต้องการยกตัวอย่างของเพื่อนบ้านที่อยู่ไม่ไกลจากไทยมากนักคือ “ไต้หวัน”

พูดได้ว่าไต้หวันเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจะไม่พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษา แต่จะโฟกัสที่เรื่องคุณภาพชีวิตของคนในสังคม

ไต้หวันมีสิ่งอำนวยสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ โดยเฉพาะที่นั่งพิเศษ (Priority Seat) ในขบวนรถไฟฟ้าที่จัดสรรอย่างเป็นระเบียบมีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการ และคนปกติในสังคมต่างให้ความเคารพต่อสิทธิของคนพิการและผู้สูงอายุ

เห็นได้จากสภาพการณ์ในขบวนรถไฟ ที่แม้ผู้โดยสารจะมีจำนวนเยอะเพียงใด แต่ก็ไม่มีคนปกติไป “เนียน” ใช้ที่นั่งพิเศษเหล่านั้นเลยสักรายเดียว

ถึงกระนั้นใช่ว่าหน่วยงานภาครัฐของไทยจะนิ่งเฉย ไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิคนพิการ เพราะกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้ออกมาตรการและกระตุ้นให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเปิดโอกาสรับคนพิการเข้าไปทำงานภายในองค์กร เพื่อส่งเสริมสิทธิความเท่าเทียม

ในปีนี้ ตั้งเป้าให้มีการจ้างงานคนพิการในภาครัฐจำนวน 6,200 คน โดยระบุให้มีการจ้างงานผู้พิการ 1 คนต่อลูกจ้างทั่วไป 100 คน อีกทั้งยังจูงใจด้วยการยกเว้นภาษี 100% ของรายจ่ายในการจ้างและจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ รวมทั้งการหักลดหย่อนภาษี 3 เท่า แก่บริษัทเอกชนที่จ้างคนพิการในบริษัทมากกว่า 60%

อีกทั้งยังมีโครงการพัฒนาศักยภาพนักร้องนักดนตรีตาบอดในที่สาธารณะ “จากถนนสู่ดวงดาว” หรือ “S2S” ที่ในปีนี้จะต่อยอดเป็น “S2S Plus”

การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการระดับประเทศและอาเซียน เพื่อเป็นต้นแบบศูนย์กลางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับคนพิการของไทย

และการจัดตั้งจุดให้บริการคนพิการกรุงเทพฯ 4 มุมเมือง ซึ่งดำเนินงานในลักษณะศูนย์บริการใกล้ตัว ใกล้ใจสำหรับคนพิการ

ท้ายที่สุดหากเราอยากให้สิทธิคนพิการเท่าเทียมกับคนทั่วไป สิ่งสำคัญคือการสร้างจิตสำนึกให้กับคนในสังคม สอนให้รู้จักเคารพสิทธิและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะทำ แต่หากเราตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้และเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน

การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ในท้ายที่สุด