หนุ่มเมืองจันท์ : Feel the Force. 

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

เคยได้ยินชื่อ”มาซาโยชิ ซัน”ไหมครับ

ถ้าไม่เคยได้ยิน

ถามใหม่อีกครั้ง

รู้จัก”อาลีบาบา”ไหมครับ

ถ้ารู้จัก. ถามต่อ…

“รู้ไหมว่าใครคือถือหุ้นใหญ่ของอาลีบาบา”

ผมเชื่อว่าไม่ต่ำกว่า 80%จะตอบว่า”แจ็ค หม่า”

ผิดครับ

คนถือหุ้นใหญ่ที่สุดของ”อาลีบาบา”คือ”มาซาโยชิ ซัน” เจ้าของซอฟท์แบงก์ ของญี่ปุ่น

“ซอฟท์แบงก์”ถือหุ้นใน”อาลีบาบา” 30%

“แจ็ค หม่า”ถือหุ้นแค่ 7%

“มาซาโยชิ ซัน”เป็นนักลงทุนระยะยาวครับ.

SoftBank Group Corp Chairman and CEO Masayoshi Son 
/ AFP PHOTO / Kazuhiro NOGI

คล้ายๆ”วอร์เรน. บัฟเฟตต์”.

ไม่สนใจที่จะเข้ามาบริหารงานเอง. แต่ลงทุนเพราะเห็นว่าบริษัทนี้มีอนาคตให้ผลตอบแทนสูง

“ซัน”เป็นคนเกาหลีที่เติบโตในญี่ปุ่น

ประวัติชีวิตของเขาตอนเด็กต้องสู้ชีวิต. ยากจนและโดนรังแกจากเพื่อนๆชาวญี่ปุ่น

แต่เขาเป็นคนมีหัวการค้า. ชอบทำธุรกิจ

วันนี้เขาเป็นนักลงทุนด้านธุรกิจเทคโนโลยี่.

ชอบเสี่ยง

มีคนเคยถาม”มาซาโยชิ ซัน”ถึงการตัดสินใจเลือกลงทุนในบริษัทต่างๆ

คำตอบของเขาคมมาก

เขาบอกว่า”โยดา”ในหนัง”สตาร์วอส์”บอกว่าให้ Feel the Force

“โยดา”พูดประโยคนี้ตอนที่สอนวิชาให้”ลุค”

สอนการใช้พลังให้ก้อนหินลอยขึ้นโดยไม่ใช้มือ

พอสำเร็จก็ให้ยกระดับมาเป็นการกู้ยานที่จมน้ำ

“ลุค”บอกว่าทำไม่ได้

“You must feel the Force around you…”

ครับ. เขาสอนให้รู้สึกถึงพลังที่อยู่รอบๆตัวเรา

คำตอบเต็มๆของ”มาซาโยชิ ซัน”คือ “โยดาให้ Feel the Force, I don’t think, I feel it.”

เป็นหลักในการตัดสินใจลงทุนของ”ซัน”ครับ

ใช้”ความรู้สึก”เป็นตัวนำ

“เหตุผล”หรือ”ความคิด”เป็นเรื่องรอง

การลงทุนใน”อาลีบาบา”คือ ตัวอย่างที่ดีที่สุด

เขาลงทุนเพราะรู้สึกดีกับ”แจ็ค หม่า”

ตอนที่”แจ็ค หม่า”เริ่มต้น”อาลีบาบา”

เขาต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย

ระดมทุนก้อนใหญ่ก้อนแรกจาก”ยาฮู”

พักหนึ่งก็หมด

ต้องระดมทุนก้อนใหม่

“แจ็ค หม่า”มาพบกับ”ซัน”ซึ่งเป็นนักลงทุนใหญ่ที่ได้ชื่อว่าชอบลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี่

ตอนนั้นขนาดธุรกิจของ”อาลีบาบา”ไม่ถึง 1% ในวันนี้

ยังเป็นธุรกิจแบบ B2B

“ลูกค้า”ยังเป็นบริษัทต่างๆ

ไม่ใช่ B2C

ขายของให้”ผู้บริโภค”เหมือนทุกวันนี้

ตอนที่มาเจอ”ซัน”. “แจ็ก หม่า”ไม่มีแผนธุรกิจมาให้ดู

ไม่มีพรีเซ็นเตชั่นอะไรเลย

แต่พอคุยได้ 5 นาที

“ผมสัมผัสได้ถึงพลังอะไรบางอย่างที่บอกได้เลยว่าเขาเอาจริงเอาจังกับอาลีบาบามาก”

สำหรับ”มาซาโยชิ ซัน”. เรื่องแผนธุรกิจไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุด

เพราะคนที่ผ่านธุรกิจมามากมายรู้ดีว่าแผนธุรกิจที่คิดในวันนี้จะต้องพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนต่อไปเรื่อยๆ

อย่ายึดมั่นถือมั่น

“แผน”เปลี่ยนได้

“ความมุ่งมั่น”ของ”คน”จึงสำคัญกว่า

“5 นาทีแรกมีความหมายอย่างยิ่ง. เพราะจะบอกได้เลยว่าเจ้าของธุรกิจนี้พร้อมจะปรับตัวแค่ไหน เพราะธุรกิจต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง”

เขาสรุปว่าคนแบบนี้คือคนที่เขาจะลงทุนด้วย

ดู”คน”มากกว่า”โครงการ”

“หมู”ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ เจ้าของ”อุ้คบี”ก็เช่นกัน

“อุ้คบี”ถือเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมากของเมืองไทย

“อุ้คบี”เป็นคำผวนจากคำว่า”อีบุ้ค”

เริ่มต้นจากการขายอีบุ้คของนิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างๆ

ก่อนที่จะแปลงกายเป็น”แพล็ตฟอร์ม”สัญชาติไทย

“หมู”เป็นเด็กหนุ่มอนาคตไกล

จับตามองไว้ดีๆ

เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกองทุน 500 Tuk Tuks

กองทุนนี้จะเลือกลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ

ถามถึง”วิธีคิด”ในการตัดสินใจว่าจะลงทุนในบริษัทใด

“หมู”บอกว่าเขาจะตั้งคำถาม 2 คำถามในใจ

คำถามแรก คือ ถ้าเราทำแบบเดียวกับเขา. เราจะสู้เขาได้ไหม

เป็นคำถามในเชิงเปรียบเทียบ

เพราะ”อุ้คบี”มีเงินและโปรแกรมเมอร์เก่งๆ

“หมู”ไม่ได้คิดจะขโมยความคิดของสตาร์ทอัพ

แต่เขาคิดแบบสมมุติ.

ถ้าแข่งกัน เขาสู้ได้ไหม

ถ้าสู้ได้ ก็แสดงว่าคนอื่นสามารถเข้ามาในสนามนี้ได้เช่นกัน

แบบนี้ไม่เอา

แต่ถ้าสู้ไม่ได้. แสดงว่าโครงการนี้น่าลงทุน

จากนั้นก็มาถึงคำถามที่สอง

เป็นวิธีคิดแบบ”โยดา”

…Feel the Force

เขาถามว่าถ้าตอนที่เขาอายุ 25 ปี

“ผมจะยอมเป็นลูกน้องคนนี้หรือไม่”

ถ้า”ความรู้สึก”ของ”หมู”ไม่ยอมรับนักลงทุนคนนี้

เขาจะไม่ลงทุน

แต่ถ้าเจ้าของบริษัทนี้เป็นคนเก่ง นิสัยดี น่าทำงานด้วย

“หมู”จะลงทุน

เพราะแสดงว่าคนๆนี้มีพลังดึงดูด”คนเก่ง”ให้มาทำงานด้วยได้

อย่าลืมว่า”ธุรกิจ”ไม่สามารถเติบโตได้จากคนเพียงคนเดียว

ต้องมีคนทำงานเก่งๆมาร่วมด้วย

ถ้าเจ้าของบริษัทมีบุคลิกที่ดึงดูด”คนเก่ง”

บริษัทนี้มีอนาคต

เพราะถ้าโครงการดี แต่”คนเก่ง”ไม่อยากทำงานด้วย

บริษัทนั้นไปไม่รอด

ครับ ไม่ว่าธุรกิจหรืองานอะไร

ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก

สุดท้ายก็จบที่”คน”