กรองกระแส /พัฒนาการ การเมือง ของกลุ่มคนอยาก ‘เลือกตั้ง’ ปริมาณ สู่ คุณภาพ

กรองกระแส

 

พัฒนาการ การเมือง

ของกลุ่มคนอยาก ‘เลือกตั้ง’

ปริมาณ สู่ คุณภาพ

 

เหมือนกับว่า ทุกมาตรการเข้มข้นที่ออกมาจาก คสช. และรัฐบาลจะสะท้อนให้เห็นรูปธรรมของการรุกต่อทุกความพยายามในการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง”

เห็นได้จาก “คสช.” เป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษ

เห็นได้จาก “ตำรวจ” ได้ปฏิบัติการตามคำสั่งจาก คสช. และคำสั่งจากรัฐบาลภายใต้เป้าหมายจะไม่ยอมให้ขบวน “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อย่างเด็ดขาด แม้จะพลิกแพลงด้วยกลยุทธ์อย่างไรก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

ในที่สุด แกนนำจำนวนหนึ่งจึงยอมสลายตัว และแกนนำจำนวนหนึ่งก็ถูกจับกุมด้วยความผิดที่ขัดขืนต่อคำสั่งของ คสช.

เด่นชัดอย่างยิ่งว่า การต่อสู้ครั้งนี้ คสช. และรัฐบาลเป็นฝ่ายรุก

เด่นชัดอย่างยิ่งว่า การต่อสู้ครั้งนี้  “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” อยู่ในลักษณะเป็นฝ่ายถูกรุก กระทั่งอยู่ในสถานะตั้งรับเพราะไม่เพียงแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่สามารถเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล หากแต่ถูกบีบกระทั่งต้องยินยอมสลายการชุมนุม และที่สุดก็ถูกจับกุมจำนวนประมาณ 10-15 คนในเบื้องต้น

คำถามก็คือ คสช. และรัฐบาลเป็นฝ่ายรุกจริงหรือ คำถามก็คือ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เป็นฝ่ายตั้งรับและอยู่ในลักษณะถูกกระทำจริงหรือ

 

มองในเชิงการทหาร

มองในเชิงการเมือง

 

ในทางการทหาร “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในทางเป็นจริง เพราะไม่เพียงแต่ไม่อาจบรรลุตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

หากยังถูกสกัด ขัดขวาง และลงเอยด้วยการถูกจับกุม ดำเนินคดี

มองผ่านพื้นที่ในเชิงกายภาพ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” อยู่ในสภาพถูกยึดครอง กระทั่งอาจเรียกได้ว่าตกเป็นเชลย จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด ในกำมือของ คสช. และรัฐบาล

ขณะเดียวกันหากมองในทางการเมือง “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” พ่ายแพ้จริงหรือ

หากมองอย่างเห็นพัฒนาการ จากการเคลื่อนไหวครั้งแรก ณ พื้นที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 27 มกราคม กระทั่งมาถึงความพยายามที่จะขับเคลื่อนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในตอนเช้าของวันที่ 22 พฤษภาคม

ในทางกายภาพ ในทางปริมาณ อาจไม่มากนัก แต่ในทางความคิดและในทางการเมืองได้กลายเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งอย่างเด่นชัด

โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วาระ 4 ปีของรัฐประหาร

ปฏิกิริยาต่อการขัดขวางและจับกุมอันมาจากภายในประเทศและประชาคมโลกเห็นได้ชัดว่าใครเป็นฝ่ายรุก ใครเป็นฝ่ายรับ

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งต่างหากที่เป็นฝ่ายรุก คสช. และรัฐบาลต่างหากที่เป็นฝ่ายรับ

 

อนาคตการเมือง

อนาคตการเลือกตั้ง

 

ชัยชนะอันเป็นรูปธรรมอย่างยิ่งก็คือ การได้รับคำยืนยันอย่างเป็นทางการและอย่างเป็นจริงเป็นจังของ คสช. และรัฐบาล

นั่นก็คือ กำหนดการเลือกตั้งที่เดือนกุมภาพันธ์ 2562

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และหัวหน้ารัฐบาล ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้นำทางจิตวิญญาณของ คสช. และของรัฐบาล ล้วนออกมาเน้นย้ำอีกคำรบหนึ่งในระหว่างการแถลงข่าว

แม้จะเลื่อนจากภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 มาเป็นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่นี่คือคำสัญญาประชาคม

เป็น “ปฏิญญาทำเนียบรัฐบาล”

ขณะเดียวกันความปรารถนาของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ก็ได้รับการแปรให้กลายเป็นความปรารถนาร่วมในทางการเมือง คึกคัก หนักแน่นมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ กลายเป็นกระแสที่มั่นใจได้เลยว่าจะเติบใหญ่

ยากเป็นอย่างยิ่งที่ คสช. และรัฐบาลจะบิดพลิ้วออกไปได้อีกอย่างง่ายดาย

 

บทบาท Start Up

หัวเชื้อทางการเมือง

 

บทบาทของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ที่เริ่มขึ้นอย่างเล็กๆ เมื่อวันที่ 27 มกราคม ดำเนินไปในลักษณะอันเป็น Start Up ในทางการเมือง

เป็นการเมืองในยุคใหม่ที่มีประชาคมออนไลน์เป็นสะพานเชื่อม

มองผ่าน “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ในเชิงปริมาณบนท้องถนนอาจไม่มากนัก แต่หากมองผ่านปริมาณบนสายพานแห่งโลกโซเชียลมีเดีย นับวันจะยิ่งเติบใหญ่ ขยายตัว และเด่นชัดยิ่งว่าจะพัฒนาจากปริมาณกลายเป็นคุณภาพใหม่ในทางการเมือง

ทำให้ภาพในทางการเมืองที่ต้องการ “การเลือกตั้ง” กลายเป็นกระแสหลัก และค่อยๆ บดขยี้ฝ่ายที่ต้องการยื้อ ถ่วง หน่วงเวลาในการเลือกตั้งให้กลายเป็นกระแสรอง และตกอยู่ในสถานะตั้งรับและถอยร่นในทางการเมือง

แนวโน้มนี้จะยิ่งเด่นชัด แนวโน้มนี้จะยิ่งเป็นคำตอบ และสำแดงปริมาณและคุณภาพออกมาอย่างไม่อาจปัดปฏิเสธได้ในที่สุด